วันที่ 24 ธันวาคม 2562 ศ.ดร. พงษ์ศักดิ์ อังกสิทธิ์ กรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง เป็นผู้แทนในฝ่ายของมูลนิธิโครงการหลวง และ นายวิรัตน์ ปราบทุกข์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง ลงนามบันทึกความร่วมมือทางวิชาการงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำร่วมกับ มหาวิทยาลัยมหิดล และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ด้านการเกษตรกวางตุ้ง สาธารณรัฐประชาชนจีน
การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในปัจจุบัน โดยเฉพาะภาวะโลกร้อนและภัยพิบัติทางธรรมชาติได้ส่งผลกระทบต่อ คน พืช และสัตว์ สาเหตุสำคัญเกิดจากการสะสมของก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศจึงทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้น ด้วยเหตุนี้ทุกประเทศทั่วโลกจึงต้องร่วมมือกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนลำดับที่ 13
มูลนิธิโครงการหลวง และ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) มีภารกิจสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของชาวเขาทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยยึดหลักการพัฒนาแบบองค์รวมบนฐานความรู้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สร้างความเข้มแข็งของชุมชนรวมทั้งการบูรณาการระหว่างหน่วยงาน
ปี พ.ศ.2560 ผู้แทนจากมูลนิธิโครงการหลวง สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) และ มหาวิทยาลัยมหิดล เดินทางไปศึกษาดูงานการวิจัยและพัฒนาการ การทำเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหรือเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ณ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ด้านการเกษตรกวางตุ้งสาธารณรัฐประชาชนจีน (GDAAS) ซึ่งประกอบด้วย ระบบการปลูกพืชหมุนเวียนและใช้ปุ๋ยมูลสัตว์เพื่อฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดินแดง การประเมินความเสี่ยงของการใช้ปุ๋ยไนโตรเจนและฟอสฟอรัสในแปลงปลูกพืชที่ปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีการผลิตปุ๋ยชีวภาพคุณภาพสูงจากผลงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ การทำเกษตรแบบอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อการท่องเที่ยว รวมทั้งเทคโนโลยีการลดของเสีย การประหยัดน้ำและประหยัดพลังงานในธุรกิจการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแบบครบวงจร จากการประชุมร่วมกันจึงได้เกิดการลงนามในบันทึกความร่วมมือทางวิชาการด้านวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2560
ในปี พ.ศ. 2562 คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิโครงการหลวง สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) และ มหาวิทยาลัยมหิดล เดินทางไปประชุมเพื่อนำเสนอผลงานวิจัยและศึกษาดูงานการถ่ายทอดผลงานวิจัยของ GDAAS ให้กับผู้ประกอบการในจีน จึงนับได้ว่าความร่วมมือในระยะที่ผ่านมานั้น มีความต่อเนื่องและเป็นประโยชน์ สามารถนำความรู้เหล่านี้ไปปรับปรุงงาน และดำเนินการต่อยอดความร่วมมือในระยะต่อไป โดยมีประเด็นเพิ่มเติม คือ การรีไซเคิลและการใช้ประโยชน์จากของเสียทางการเกษตร ปุ๋ยละลายน้ำและเทคโนโลยีการให้ปุ๋ยในระบบน้ำ การฟื้นฟูดินและการปรับปรุงดิน การปรับปรุงคุณภาพสินค้าเกษตร นอกจากนี้ยังปรับวิธีดำเนินงานเป็นลักษณะการทำงานวิจัยร่วมกัน การฝึกอบรมระยะสั้น การสัมมนาวิชาการระหว่างหน่วยงานและการรับนักวิจัยระดับปริญญาเอกเข้าศึกษาต่อที่ GDAAS อีกด้วย