โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงโป่งคำ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) พร้อมเจ้าหน้าที่จากสำนักวิจัย ได้จัดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชน เรื่อง การปลูกหวายบนพื้นที่สูง ณ ตำบลดู่พงษ์ อำเภอสันติสุข จังหวัดน่าน โดยได้รับเกียรติจากนางสาวรุจิรา ริมผดี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง กล่าวต้อนรับ และนายปรัชญา เสริฐลือชา นายอำเภอสันติสุข จังหวัดน่าน เป็นประธานในพิธีเปิดงาน ซึ่งงานดังกล่าวได้จัดขึ้น ณ แปลงปลูกหวายของนายโอด โขงทอง เกษตรกรในพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงโป่งคำ โดยมีวัตถุประสงค์ คือ
(1) เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีการปลูกหวายบนพื้นที่สูงให้กับเกษตรกร เจ้าหน้าที่ และผู้ที่สนใจ
(2) เพื่อให้เกิดการต่อยอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีการปลูกหวายบนพื้นที่สูง โดยผู้เข้าร่วมกิจกรรมสามารถนำองค์ความรู้และเทคโนโลยีดังกล่าวไปประยุกต์ใช้ในการปลูกหวายในพื้นที่ของตนเองและในป่าธรรมชาติได้อย่างเหมาะสมและเกิดความยั่งยืน
(3) เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเพิ่มพูนทักษะร่วมกันระหว่างนักวิจัย เจ้าหน้าที่ส่งเสริม เกษตรกร และผู้เข้าร่วมกิจกรรม และ
(4) เพื่อสนับสนุนการเชื่อมโยงองค์ความรู้จากผลงานวิจัยไปสู่งานส่งเสริมพัฒนา และการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในวงกว้างมากขึ้น
การจัดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีการปลูกหวายบนพื้นที่สูงสู่ชุมชนในครั้งนี้ ประกอบด้วยฐานเรียนรู้จากผลงานวิจัยและงานพัฒนา จำนวน 5 ฐาน ประกอบด้วย
1) ฐานการเรียนรู้ ความสำคัญของหวายบนพื้นที่สูง
2) ฐานการเรียนรู้ ชนิดพันธุ์หวายบนพื้นที่งและลักษณะการใช้ประโยชน์
3) ฐานการเรียนรู้ การขยายพันธุ์และการย้ายชำกล้าหวาย
4) ฐานการเรียนรู้ การปลูกหวาย การดูแลรักษา และการเก็บเกี่ยวหวาย
5) ฐานการเรียนรู้ การแปรรูปหวาย
นอกจากนี้ยังมีการเสวนา ในหัวข้อ “ช่องทางการตลาดหวาย โอกาสและแนวทางการปลูกและใช้ประโยชน์หวายบนพื้นที่สูง” รวมถึงการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกับเกษตรกร โดยมีหน่วยงานเข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 20 คน จาก 6 หน่วยงาน ได้แก่ ส่วนโครงการพระราชดำริและกิจการพิเศษ สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 3 สาขาแพร่ กรมป่าไม้ ส่วนประสานงานโครงการพระราชดำริและกิจการพิเศษ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 (แพร่) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เกษตรอำเภอสันติสุข โรงพยาบาลสันติสุข องค์การบริหารส่วนตำบลดู่พงษ์ องค์การบริหารส่วนตำบลพงษ์ รวมถึงเจ้าหน้าที่ของสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง 56 คน และ เกษตรกรจากโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงลุ่มน้ำน่าน จำนวน 95 คน จาก 11 ศูนย์ ได้แก่ ศูนย์พัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงโป่งคำ ปางยาง ขุนสถาน แม่จริม น้ำเคิม น้ำแป่ง วังไผ่ ถ้ำเวียงแก น้ำแขว่ง และบ่อเกลือ
จากการจัดกิจกรรมในครั้งนี้เกษตรกรมีความสนใจที่จะปลูกหวายในพื้นที่ของตนเองกันมาก เพื่อนำหน่อหวายไปขาย และนำไปแปรรูป เป็นหวายอบแห้ง และหวายในน้ำเกลือ โดยเกษตรกรมีความต้องการกล้าหวายสูงถึง 21,500 ต้น ซึ่งชนิดหวายที่เกษตรมีความต้องการมากที่สุด ได้แก่ หวายหนามขาว รองลงมา หวายฝาด หวายหนามล้อม และหวายน้ำผึ้ง ตามลำดับ