สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) โดยกลุ่มงานบริหารทรัพยากรมนุษย์ สำนักอำนวยการ จัดประชุมอนุกรรมการโครงสร้างและพัฒนาบุคลากร ครั้งที่ 2 ประจำปี 2562 และศึกษาดูงานในพื้นที่การดำเนินงานของสถาบัน ณ โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงปางหินฝน อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 16-17 กุมภาพันธ์ 2562 โดยนายนนทิกร กาญจนะจิตรา ประธานอนุกรรมการโครงสร้างและพัฒนาบุคลากร พร้อมคณะอนุกรรมการ ผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้
นางสาวรุจิรา ริมผดี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง ได้แจ้งให้ทราบว่า การจัดประชุมในครั้งนี้เป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อรับทราบข้อมูลการดำเนินงาน ปัญหา อุปสรรค ตลอดจนความคิดเห็นด้านการบริหารจัดการ การบริหารงานบุคคล และการพัฒนาบุคลากร จากผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานของสถาบัน
นายนนทิกร กาญจนะจิตรา ประธานอนุกรรมการฯ ได้ให้คำแนะนำว่า หลักการดำเนินงานของสถาบันนั้นก็คือ ชุมชนบนพื้นที่สูงมีความอยู่ดีมีสุข ด้วยการวิจัยและพัฒนา สืบสาน รักษา ต่อยอดงานโครงการหลวง ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ดังนั้นแผนงานด้านการบริหารทรัพยากรมนุษย์ ต้องดำเนินงานให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของสถาบัน
จากนั้น ประธานอนุกรรมการฯ ได้ติดตามความก้าวหน้าในเรื่องการขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงตามแผนพัฒนาด้านงานวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง ระยะ 10 ปี (พ.ศ. 2561- 2570) และทบทวนกระบวนการทำงานของสถาบันตามแผนพัฒนาด้านการวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง ระยะ 10 ปี (พ.ศ. 2561-2570) อีกทั้งในที่ประชุมยังได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ข้อเสนอแนะระหว่างคณะอนุกรรมการ ผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ของสถาบัน
คณะอนุกรรมการ ผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ได้เข้าเยี่ยมชมโรงคัดบรรจุ ของโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงปางหินฝน และแปลงของเกษตรกรตัวอย่าง นายสุรโชค กูลสวัสดิ์มงคล พร้อมสอบถามถึงการประกอบอาชีพ และการปลูกพืชเพื่อสร้างรายได้ โดยนายอดิเรก อินต๊ะฟองคำ ผู้จัดการโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงกลุ่ม 1 (ลุ่มน้ำปิง-กลอง) และนายมนตรี สมยศ นักวิชาการส่งเสริมและพัฒนา สำนักพัฒนา บรรยายสรุปการดำเนินงานว่า เกษตรกรในพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงปางหินฝนประกอบด้วยชนเผ่าที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ อาทิ เผ่าม้ง กะเหรี่ยง คนเมือง ลั๊วะ และไทยใหญ่ ชุมชนบ้านปางหินฝนเป็นอีกชุนชนหนึ่งที่ได้มีส่วนร่วมในการดำเนินงานอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการดำเนินกิจกรรมการอนุรักษ์ดินและน้ำ การลดการใช้สารเคมี การใช้ที่ดิน ควบคุมการบุกรุกป่า และการปรับการใช้รูปแบบที่ดินตามหลักวิชาการ จะเห็นได้ว่า ผลของอนุรักษ์ดินและน้ำนี้สามารถทำให้พื้นดินเสื่อมโทรม กลับมีต้นไม้ขึ้นปกคลุมมากมาย ดินได้รับการฟื้นฟูให้อุดมสมบูรณ์โดยวิธีการตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นปัจจัยในการผลิตทางการเกษตรที่สําคัญยิ่ง