เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2562 นางมิ่งขวัญ วิชยารังสฤษดิ์ ประธานกรรมการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง พร้อมคณะ ประกอบด้วย คุณจันทนี ธนรักษ์ นายชวลิต ชูขจร นางสาววิบูลลักษณ์ ร่วมรักษ์ และนางสาวลดาวัลย์ คำภา ได้เข้าเยี่ยมชมการปฏิบัติงานโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงป่ากล้วย อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีนางสาวรุจิรา ริมผดี ผู้อำนวยการสถาบัน และคณะผู้บริหารสถาบัน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่และผู้นำเกษตรกรในพื้นที่ให้การต้อนรับ
โดยนายวิรัตน์ ปราบทุกข์ รองผู้อำนวยการสถาบัน ด้านการพัฒนา ได้บรรยายสรุปผลการดำเนินงานโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงป่ากล้วย ซึ่งบ้านป่ากล้วยเป็นชุมชนชาวไทยภูเขาเผ่าม้ง ที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่บ้านป่ากล้วย ตำบลแม่สอย อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ใน พ.ศ.2517 โดยปลูกกะหล่ำปลีเป็นอาชีพหลัก และมีการใช้สารเคมีมาก ส่งผลกระทบต่อคุณภาพน้ำในลำน้ำแม่สอย ทำให้เกิดการต่อต้านจากชุมชนในพื้นที่ราบ ทางชุมชนจึงขอรับการสนับสนุนความรู้ด้านการปลูกพืชที่เหมาะสมบนพื้นที่สูงจากศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยส้มป่อยที่ตั้งอยู่ใกล้เคียง มูลนิธิโครงการหลวงได้มอบหมายให้สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูงดำเนินงานพัฒนาภายใต้ชื่อ “โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงป่ากล้วย” ในปี พ.ศ. 2550 ปัญหาสำคัญของชุมชนเมื่อเริ่มดำเนินงาน คือ ใช้สารเคมีทางการเกษตรมาก ขาดทางเลือกในการประกอบอาชีพ มีการชะล้างพังทลายและความอุดมสมบูรณ์ของดินต่ำ และมีเส้นทางคมนาคมขนส่งที่ยากลำบาก
สถาบันจึงได้ร่วมกับชุมชนวางแผนและกำหนดแนวทางการพัฒนาและการแก้ไขปัญหาของชุมชนอย่างมีส่วนร่วม ดังนี้ (1) พัฒนาการผลิตพืชเดิมไปสู่มาตรฐานอาหารปลอดภัย และการจัดการด้านการตลาด (2) การศึกษาวิจัยเพื่อหาพืชและสัตว์ชนิดใหม่ๆที่เหมาะสมกับพื้นที่และมีโอกาสทางการตลาด รวมทั้งวิธีการเพาะปลูกที่เป็นมิตรต่อส่งแวดล้อม (3) เพิ่มทางเลือกในการประกอบอาชีพ โดยส่งเสริมการพืชและสัตว์ชนิดใหม่ๆที่เหมาะสมกับพื้นที่และมีโอกาสทางการตลาด และเป็นมิตรต่อส่งแวดล้อม (4) แยกพื้นที่เกษตรและพื้นที่ป่า ควบคุมการบุกรุกพื้นที่ และปรับระบบการใช้พื้นที่ให้เหมาะสม (5) ลดการใช้สารเคมีด้วยการปรับระบบเกษตรและมาตรฐานอาหารปลอดภัย (6) ส่งเสริมชุมชนในการอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพ (7) การพัฒนาศักยภาพของชุมชนในการขับเคลื่อนการพัฒนา (การศึกษา วิเคราะห์ จัดทำแผน และดำเนินการพัฒนา) ด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
ทั้งนี้ คณะกรรมการสถาบันได้เยี่ยมการปฏิบัติงานและการบริหารจัดการของกลุ่มเตรียมสหกรณ์โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงป่ากล้วย และเยี่ยมชมโรงเรือนการปลูกพริกหวานของเกษตรกรที่ปรับเปลี่ยนมาจากการปลูกกะหล่ำปลี ซึ่งมีการใช้พื้นที่ สารเคมี และปริมาณน้ำที่น้อยกว่าพืชเดิม อีกทั้งยังได้รับผลตอบแทนสูง
โดยคณะกรรมการสถาบันได้มีข้อเสนอแนะว่า ชุมชนควรมีการจัดทำปฏิทินการปลูกพืช โดยให้สอดคล้องกับปริมาณและความต้องการของตลาด และตามแนวทางการตลาดของโครงการหลวง ควรปลูกพืชที่ใช้พื้นที่น้อย ผลผลิตได้ผลตอบแทนสูง รวมทั้งมีการใช้สารเคมีในการผลิตที่น้อย และควรมีการจัดทำบัญชีต้นทุน เพื่อให้ทราบถึงรายรับสุทธิที่ได้จากการทำการเพาะปลูกต่อรอบการผลิต เพื่อนำมาวางแผนการผลิตและการตลาดได้ เป็นต้น