สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ชวนเปิดประสบการณ์ ตามรอยศาสตร์พระราชา ชิมกาแฟ แลดูสวน อุทยานหลวงราชพฤกษ์ เรียนรู้หลักการดำเนินงานตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ภายใต้ศาสตร์พระราชา ในอุทยานหลวงราชพฤกษ์ และสัมผัสกับเสน่ห์อันล้ำลึกของกาแฟอราบิก้าบนพื้นที่สูงที่สามารถช่วยลดความเสี่ยงจากการเกิดมลพิษทางหมอกควัน ในวันที่ 24 พฤษภาคม 2562 ณ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
นายวิรัตน์ ปราบทุกข์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง กล่าวว่า การจัดกิจกรรม ตามรอยศาสตร์พระราชา ชิมกาแฟ แลดูสวน อุทยานหลวงราชพฤกษ์ ในครั้งนี้ เป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ภารกิจและการดำเนินงานของสถาบันให้เป็นที่รู้จักกว้างขวางมากยิ่งขึ้น และเป็นการเผยแพร่ผลสำเร็จของเกษตรกรบนพื้นที่สูงจากการร่วมบูรณาการระหว่างสถาบันและหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะการปลูกกาแฟอราบิก้าบนพื้นที่สูงเพื่อลดความเสี่ยงจากการเกิดมลพิษทางหมอกควัน สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ได้ดำเนินการศึกษาวิจัยและพัฒนากาแฟอราบิก้า โดยการขยายผลสำเร็จด้านวิชาการของโครงการหลวง มีการส่งเสริมกาแฟอราบิก้าไปสู่ชุมชนบนพื้นที่สูง เพื่อให้เกิดรายได้ทางการเกษตรที่ยั่งยืนสำหรับเกษตรกรบน พื้นที่สูง
นางอาณดา นิรันตรายกุล ผู้อำนวยการอุทยานหลวงราชพฤกษ์ กล่าวว่า อุทยานหลวงราชพฤกษ์ เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่ ที่ได้รวบรวมความรู้ด้านพืชสวน ความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติและการเกษตรที่สำคัญของประเทศ รวมทั้งยังเป็นแหล่งความรู้ที่สำคัญในการเผยแพร่พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการสืบสาน รักษา ต่อยอดงานโครงการหลวง ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เชื่อมโยงการดำเนินงานส่งเสริมของสถาบันจากชุมชนบนพื้นที่สูงสู่อุทยานหลวงราชพฤกษ์ โดยอุทยานหลวงราชพฤกษ์ได้เปิดบริการร้านกาแฟและเครื่องดื่ม “HRDI CAFE” สำหรับนักท่องเที่ยว โดยนำเมล็ดพันธ์กาแฟจาก 5 พื้นที่ที่สถาบันได้ดำเนินงานส่งเสริม ได้แก่
- โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงวาวี (กาแฟดอยช้าง)
- โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงบ่อเกลือ (กาแฟบ่อเกลือ (ห้วยโทน)
- โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงแม่สลอง (กาแฟดอยลาง)
- โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงแม่สลอง (กาแฟดอยแม่สลอง)
- โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงปางมะโอ (กาแฟดอยปางมะโอ)
ดร.สิทธิเดช ร้อยกรอง นักวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง ให้ข้อมูลว่า การตัดไม้ทำลายป่าตามด้วยการเผาเศษวัชพืช ต้นไม้ รวมทั้งเศษพืชจากการทำการเกษตรต่างๆ ล้วนเป็นกิจกรรมและสาเหตุเพื่อทำการเกษตรของเกษตรกรบนพื้นที่สูง ทั้งนี้มีปัจจัยต่างๆ ที่เป็นเหตุให้เกษตรกรต้องทำเช่นนั้น อาทิ การขาดความรู้ในการทำการเกษตรที่ถูกต้อง การทำการเกษตรวีถีแบบเดิมๆ ทำให้พื้นที่ป่าไม้ทยอยลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติอย่างหลีกลี่ยงไม่ได้และนำไปสู่การประสบปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ เช่น ปัญหาหมอกควันที่คนในพื้นที่ภาคเหนือต้องประสบเป็นประจำทุกปี ซึ่งสาเหตุหลักๆ คงหนีไม่พ้นการเผาป่าไม้ การเผาเศษวัสดุจากการเกษตร โดยเฉพาะการทำไร่เลื่อนลอยเป็นพื้นที่บริเวณกว้าง ซึ่งเห็นได้ว่าไม่สามารถแก้ไขปัญหาและตอบสนองต่อความต้องการของเกษตรกรได้อย่างแท้จริง ปัจจุบัน หน่วยงานต่างๆ ได้พยายามส่งเสริมให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำการเกษตรมาเป็นแบบผสมผสานให้มากยิ่งขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงต่อความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากความผันผวนของราคาผลผลิต และเน้นให้เกษตรกรสามารถทำการเกษตรที่มีรายได้ และช่วยรักษาป่า ซึ่งมีพืชเศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่งที่สามารถสร้างรายได้ สร้างอาชีพ และที่สำคัญนั้นสามารถปลูกร่วมกับพื้นที่ป่าหรือไม้ยืนต้นได้ นั่นคือ “กาแฟอราบิก้า” สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) จึงได้ดำเนินการศึกษาวิจัยและพัฒนากาแฟอราบิก้า โดยการขยายผลสำเร็จด้านวิชาการของโครงการหลวง มีการส่งเสริมกาแฟอราบิก้าไปสู่ชุมชนบนพื้นที่สูง นำองค์ความรู้ในการปลูกกาแฟภายใต้ร่มเงาต้นไม้ ในการลดปัญหาเรื่องพื้นที่ปลูก เพราะเกษตรกรสามารถปลูกในพื้นที่ป่าทำกินหรือร่วมกับไม้ผลยืนต้น เช่น บ๊วย ท้อ มะคาเดเมียนัท และอะโวกาโด จึงเป็นการลดปัญหาการบุกรุกแผ้วถางพื้นที่ป่า ลดปัญหาการเผาอันเป็นสาเหตุหลักของปัญหาหมอกควัน และเกษตรกรยังมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการปลูกกาแฟแซมสวนไม้ผล จึงนำไปสู่การประกอบอาชีพเกษตรร่วมกับการอนุรักษ์ผืนป่าได้อย่างยั่งยืน
สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูงกับงานวิจัยและการพัฒนากาแฟอราบิก้า
สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. จัดตั้งขึ้นเนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายที่จะสนับสนุนงานโครงการหลวงและขยายผลงานโครงการหลวงในการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมและสิ่งแวดล้อมบนที่สูงของประเทศไทยให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างยั่งยืน
การดำเนินงานส่งเสริมการปลูกกาแฟในพื้นที่ดำเนินงานทั้งหมด 26 แห่ง เป็นพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง จำนวน 17 แห่ง และโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงเพื่อแก้ปัญหาพื้นที่ปลูกฝิ่นอย่างยั่งยืน 9 แห่ง มีพื้นที่ที่ดำเนินงานใน 5 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน น่าน และตาก มีเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟที่ได้รับการส่งเสริมจากสถาบัน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 จนถึงปัจจุบัน จำนวน 2,423 ราย พื้นที่ส่งเสริมปลูก จำนวน 7,966.09 ไร่ ผลผลิตกาแฟกะลา ประมาณ 260 ตันต่อปี เกษตรกรมีรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตกาแฟกะลาผ่านมูลนิธิโครงการหลวงและตลาดอื่นๆ ในปีการผลิต 2559/60 จำนวน 29,826,067 บาท
ด้านงานวิจัย
กาแฟอราบิก้าซึ่งเป็นพืชที่นำมาศึกษาวิจัย เพื่อพัฒนากาแฟอราบิก้าให้มีผลผลิตและคุณภาพดีเยี่ยม มีงานวิจัย เช่น การตัดแต่งเพื่อเพิ่มผลผลิตกาแฟ การปลูกกาแฟภายใต้ร่มเงาไม้ การประเมินและเฝ้าระวังการระบาดของโรคและแมลงศัตรูกาแฟอราบิก้าบนพื้นที่สูง รวมไปถึงการศึกษาและคัดเลือกสายพันธุ์กาแฟอราบิก้าคุณภาพดีเยี่ยมของโครงการหลวง ฯลฯ
ด้านงานพัฒนา
ได้นำองค์ความรู้และเทคโนโลยีการผลิตกาแฟอราบิก้าจากโครงการหลวงไปขยายและถ่ายทอดให้กับเกษตรกรบนพื้นที่สูงมีการฝึกอบรมเกษตรกร การศึกษาดูงานของเกษตรกร การพัฒนาแปลงสาธิตและแปลงตัวอย่างกาแฟอราบิก้า การพัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้กาแฟอราบิก้า การจัดทำสื่อการเรียนรู้ การเชื่อมโยงด้านการตลาดระหว่างกลุ่มเกษตรกร และการพัฒนาระบบประเมินคุณภาพและมาตรฐานกาแฟของโครงการหลวง