สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ในพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงศรีคีรีรักษ์ ร่วมกับเกษตรกรบนพื้นที่สูง ปลูกป่าต้นน้ำพื้นที่จังหวัดตาก โดยนาย ชุติเดช มีจันทร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดตาก เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วยประชาชนจิตอาสา “เราทาความดี ด้วยหัวใจ”, มูลนิธิโครงการหลวง, กองทัพภาคที่ 3, สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 14, อุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้า, จังหวัดตาก, องค์การบริหารส่วนตำบลเชียงทอง, องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, กรมทรัพยากรน้ำ และสวพส. โดยมีนายเมธี พยอมยงค์ ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการ เป็นผู้แทนสถาบันเข้าร่วมกิจกรรม ณ พื้นที่ป่าอนุรักษ์อุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้า เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2562 บ้านศรีคีรีรักษ์ หมู่ที่ 11 ตำบลเชียงทอง อำเภอวังเจ้า จังหวัดตาก
สวพส. ดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง มีเป้าหมายการดำเนินงานเพื่อให้ชุมชนบนพื้นที่สูงมีคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่ดี โดยใช้องค์ความรู้และกระบวนการเรียนรู้ของโครงการหลวง ผสมผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่นในการพัฒนาชุมชนบนพื้นที่สูง ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและแนวทางโครงการหลวง โดยกระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน
นายเดชธพล กล่อมจอหอ นักวิชาการส่งเสริมและพัฒนา เปิดเผยว่า สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง องค์การมหาชน ร่วมกับคณะกรรมการโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงผาผึ้ง-ศรีคีรีรักษ์ ได้เข้ามาอบรมให้ความรู้แก่ชุมชนในพื้นที่ ในการปรับระบบการเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีแผนที่ดินรายแปลงของหมู่บ้านเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อน และมีมติร่วมกับชุมชนในพื้นที่บ้านศรีคีรีรักษ์ หมู่ที่ 11 ตำบลเชียงทอง อำเภอวังเจ้า เห็นชอบที่จะฟื้นฟูเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับพื้นที่ทำกิน จำนวน 10 ครัวเรือน รวม 100 ไร่ และพื้นที่ปลูกป่าชดเชยโครงการก่อสร้างระบบกระจายน้ำ จำนวน 25 ไร่ โดยการส่งเสริมและสนับสนุนให้ราษฎรปลูกไม้ใช้สอยในพื้นที่ทำกิน และจะพัฒนาให้เป็นแปลงสาธิตและเรียนรู้การปลูกไม้ใช้สอยในพื้นที่ต่อไปในอนาคต คณะกรรมการโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงผาผึ้ง-ศรีคีรีรักษ์ จึงร่วมกับอำเภอวังเจ้า อุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้า หน่วยทหารมณฑลทหารบกที่ 310 และองค์การบริหารส่วนตำบลเชียงทอง จัดกิจกรรมปลูกป่า โดยเน้นการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการปลูกไม้ใช้สอยในพื้นที่ทำกินของเกษตรกรบ้านศรีคีรีรักษ์ตามแนวทางของโครงการป่าชาวบ้าน ในพระราชูปถัมภ์ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มูลนิธิโครงการหลวง และเพิ่มพื้นที่สีเขียวและฟื้นฟูสภาพป่าให้กลับมาเป็นป่าที่สมบูรณ์ และเพื่อปลูกจิตสำนึกให้กับชุมชนบนพื้นที่สูง ทั้ง 2 หมู่บ้าน ให้มีความหวงแหนทรัพยากรป่าไม้และทรัพยากรอื่นๆ อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับชุมชนและลดปัญหาการบุกรุกทำลายป่าไม้เพื่อการเกษตร
จากการทำงานแบบบูรณาการในพื้นที่ โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงศรีคีรีรักษ์ ดำเนินการปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ตามแนวพระราชดำริ โดยการส่งเสริมการปลูกป่าสร้างรายได้ บริเวณพื้นที่แนวกันชนระหว่างป่าไม้และพื้นที่ทำกินของเกษตรกร ทำให้คนสามารถอยู่กับป่าและเป็นผู้ดูแลป่าโดยชุมชนเอง โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับการพัฒนาแหล่งน้ำ พัฒนาประสิทธิภาพการใช้น้ำ และบริหารจัดการน้ำ เพื่อใช้ประโยชน์ในการปรับระบบการเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ควบคู่กับการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำไปสู่การ “คืนพื้นที่ป่า” ให้กับประเทศต่อไป