สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ได้พัฒนาศักยภาพชุมชนบนพื้นที่สูงเพื่อพัฒนาต่อยอดชุมชน ในการส่งเสริมไปสู่ชุมชนต้นแบบเป็นแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญา นวัตกรรม องค์ความรู้ต่างๆ ทั้งด้านการเกษตร สังคมและวัฒนธรรม รวมถึงด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืน โดยจัดกิจกรรม FAM TRIP ทดสอบและแนะนำศูนย์เรียนรู้ชุมชนต้นแบบบนพื้นที่สูงแก่สื่อมวลชน ระหว่างวันที่ 20 - 21 กรกฎาคม 2562 ณ บ้านปางค่าใต้ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงปังค่า อำเภอปง จังหวัดพะเยา
“พะเยา” เป็นจังหวัดเล็กๆ ที่มีความงดงามของธรรมชาติซุกซ่อนอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็น น้ำตกร้อนภูซาง, ฝั่งต้า, ยอดดอยภูลังกา และกว๊านพะเยา แต่นอกจากสถานที่ท่องเที่ยวอันงดงามแล้ว ที่นี่ยังเป็นที่ตั้งของ “ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงปังค่า” อีกด้วย
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงปังค่า เริ่มดำเนินงานเมื่อ พ.ศ. 2530 ในเขตหมู่บ้านปางค่า บ้านสิบสองพัฒนา ต.ผาช้างน้อย อ.ปง เพื่อส่งเสริมอาชีพให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นและป้องกันปัญหาการบุกรุก ทำลายป่า ตลอดจนส่งเสริมคุณภาพชีวิตของราษฎรให้ดีขึ้น พื้นที่เป็นภูเขาและเนินเขา ที่ความสูงจากระดับน้ำทะเล 500-1,300 เมตร ครอบคลุมพื้นที่รับผิดชอบ 35,026 ไร่ มีหมู่บ้านให้รับผิดชอบจำนวน 3 หมู่บ้าน คือ หมู่บ้านสิบสองพัฒนา บ้างปางค่าใต้ และ บ้านปางค่าเหนือ บริเวณศูนย์ มีอุณหภูมิเฉลี่ย 25.8 องศาเซลเซียส ประชากรประกอบด้วยชนเผ่าม้ง และเผ่าเย้า ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงปังค่า ได้จัดทำแปลงสาธิต เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าเยี่ยมชมกิจกรรมภายในศูนย์ฯ ประกอบด้วยชมแปลงสาธิตพืชผัก ไม้ดอก ไม้ผล
อาจารย์สิรินทร์ รัตนจันทร์ ประธานกลุ่มศูนย์เรียนรู้ชุมชนบ้านปางค่าใต้ กล่าวว่า บ้านปางค่าใต้ เป็นวิถีชีวิตของชาวเขาเผ่าเมี่ยน (เย้า) ยังคงยึดถือการเกษตรเป็นหลัก โดยทางศูนย์พัฒนาโครงการหลวงปังค่า และสวพส. ได้เข้ามาถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับกลุ่มชาวบ้าน ในการปลูกพืชผัก ผลไม้นานาชนิด และส่งเสริมเกษตรกรในการเพาะปลูกพืชผักภายใต้ระบบมาตรฐานอาหารปลอดภัย ผลผลิตหลัก ได้แก่ พริกหวาน มะเขือเทศ คะน้าฮ่องกง แตงกวาญี่ปุ่น องุ่น อาโวคาโด เสาวรส เคพกูสเบอร์รี และเมล่อนญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผลไม้ที่สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร โดยได้เริ่มส่งเสริมการปลูกเมล่อนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 เป็นต้นมา โดยปลูกภายใต้โรงเรือนในระบบที่ใช้วัสดุปลูกแทนดิน (Substrate Culture System) ทำให้ผลผลิตมีคุณภาพสูง ให้ผลผลิตระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ ถึง เดือนตุลาคม ปัจจุบันมีเกษตรกรที่ปลูกเมล่อนญี่ปุ่น จำนวน 33 ราย สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรต่อรายต่อโรงเรือนประมาณ 30,000-40,000 บาท
บ้านปังค่าใต้มีมาตรการของการดูแลพื้นที่ป่าของชาวบ้านให้คนอยู่ร่วมกับป่าได้แบบยั่งยืน ไม่มีการบุกรุกพื้นที่ป่า แต่พร้อมใจกันอนุรักษ์ป่า และทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ด้วย โดยได้น้อมนำแนวพระราชดำริป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง การอนุรักษ์ดินและน้ำด้วยการปลูกหญ้าแฝก รณรงค์การลดการใช้สารเคมี และการเฝ้าระวังการปนเปื้อนมลพิษในสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเสริมสร้างความเข้มแข็งของคนและชุมชน ด้วยโครงการหมู่บ้านสะอาด หมู่บ้านปลอดยาเสพติด การอบรมยุวเกษตร ส่งเสริมการอนุรักษ์งานหัตถกรรมชนเผ่าเมี่ยน ที่มีความโดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์ ตลอดจนเป็นศูนย์การเรียนรู้การเกษตรที่สูงแก่นักเรียน นักศึกษา เกษตรกร และผู้สนใจทั่วไปอีกด้วย
บ้านปังค่าใต้ เป็นหมู่บ้านที่อยู่ร่วมกันอย่างเอื้ออาทรภายใต้พระบรมโพธิสมภารบนผืนแผ่นดินไทยทำให้ชาวบ้านที่นี่ต่างหวงแหนบ้านเกิด และร่วมกันดูแลจนกลายเป็นแหล่งทำมาหากิน และแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศไทย ที่เป็นดั่งของขวัญจากผืนแผ่นดินของผู้คนที่นี่และผู้ที่ได้มาเยือน
#วิสัยทัศน์ สวพส. :
ชุมชนบนพื้นที่สูงมีความอยู่ดีมีสุข ด้วยการวิจัยและพัฒนา สืบสาน รักษา ต่อยอดงานโครงการหลวง ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
แหล่งที่มา : ขอบคุณภาพจากเพจนักเล็งหลังเลนส์ https://www.facebook.com/AnOn.AstroFoto/photos/pcb.1768550019936513/1768516533273195/?type=3&theater