"โครงการหลวงโมเดล" ตัวอย่างความสำเร็จจากพื้นที่สูง
ต่างชาติพร้อมนำไปต่อยอด สร้างสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
มูลนิธิโครงการหลวง และ สถาบันวิจัยพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) เผยความสำเร็จการประชุมวิชาการนานาชาติด้านการพัฒนาเกษตรที่สูงอย่างยั่งยืน ตามพระราชปณิธาน การสืบสาน รักษา และต่อยอดงานโครงการหลวง ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 22 – 24 ธันวาคม 2562 พร้อมกับงานโครงการหลวง 2562 เฉลิมฉลองครบ 50 ปี โดยการประชุมนานาชาติฯ ในครั้งนี้เป็นการนำเสนอผลความสำเร็จด้านการพัฒนาทางเลือกบนพื้นที่สูงอย่างยั่งยืนของโครงการหลวง หรือ ROYAL PROJECT MODEL ซึ่งเป็นผลสำเร็จที่เกิดจากประสบการณ์ทำงานตลอดระยะเวลา 50 ปี ตามพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อแก้ปัญหาความยากจน การปลูกพืชเสพติด การทำเกษตรแบบเลื่อนลอย และการทำลายป่าต้นน้ำลำธาร แนวพระราชดำริในการดำเนินงานอย่างเข้าใจ เข้าถึง ทำให้บรรลุผลสำเร็จสูงสุดในการพัฒนาพื้นที่สูงสู่ความยั่งยืน ครอบคลุมในทุกๆ มิติ
โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 600 คน ซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในด้านต่างๆ จาก 17 ประเทศทั่วโลก และได้มีการได้ลงพื้นที่ศึกษาดูงานเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2562 ใน 3 เส้นทาง คือ
1. ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงตีนตก และศูนย์พัฒนาโครงการหลวงป่าเมี่ยง เป็นพื้นที่ที่มุ่งพัฒนาการปลูกพืช เพื่อหาพันธุ์ดีที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชชนิดต่างๆ ได้คุณภาพตามมาตรฐานที่ดี ภายใต้ระบบมาตรฐานการเพาะปลูกที่ดี (GAP) เพื่อส่งเสริมส่งแวดล้อม
2. ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่แฮ มุ่งพัฒนาและส่งเสริมอาชีพให้เกษตรกรในการเพาะปลูกพืชผักภายใต้ระบบมาตรฐานอาหารปลอดภัย (GAP) โดยสามารถรายได้ที่มั่นคงและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นแก่เกษตรกร
3. โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงปางแดงใน สวพส.ได้เข้าไปดำเนินงานพัฒนาการเกษตร เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยหมู่บ้านปางแดงในได้พัฒนาด้านการเกษตร และพัฒนาศูนย์เรียนรู้ด้านการเกษตรแบบผสมผสานขึ้นภายในหมู่บ้าน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ที่จะอยู่ได้อย่างดี ส่งเสริมให้เกิดการพึ่งตนเอง กลายเป็นชุมชนที่มีความเข้มแข้งอย่างยั่งยืน
จากการลงพื้นที่ทั้ง 3 เส้นทาง ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและรับฟังข้อเสนอแนะจากผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ในด้านการพัฒนาทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งเป็นการเผยแพร่รูปแบบโครงการหลวงโมเดล หรือ ROYAL PROJECT MODEL สู่ระดับสากล เป็นแบบอย่างที่มีประโยชน์กับพื้นที่สูงในประเทศต่าง ๆ ที่สามารถต่อยอดและนำไปเป็นแบบอย่างแก่พื้นที่สูงอื่นๆ ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะนำพาประชากรโลกสู่การพึ่งพาตนเองและอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน