เยาวชนเกษตรกรรุ่นใหม่

เรื่อง - ภาพ : เปรมวลัยณ์ กุลเจริญเศรษฐ์ นักวิชาการส่งเสริมและพัฒนา สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง

          การเปลี่ยนแปลงในอนาคตทางด้านการเกษตรตั้งแต่ระดับท้องถิ่นจะส่งผลต่อระดับโลกด้วย ดังนั้นชุมชนในระดับท้องถิ่นต้องหันมาสนใจคุณภาพชีวิตของคนในท้องถิ่น สิ่งสำคัญต้องเริ่มสร้างอาชีพให้กับคนในชุมชนเริ่มตั้งแต่เยาวชนเพราะเยาวชนเป็นกำลังสำคัญของท้องถิ่นในการขับเคลื่อนพัฒนาสร้างสรรค์เปลี่ยนแปลงชุมชนท้องถิ่นให้อยู่รอดด้วยภูมิคุ้มกันตามแนวทางพอเพียงได้  ไม่ว่าระบบเศรษฐกิจของโลกจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรก็ตามหากท้องถิ่นมีแหล่งอาหาร มีแหล่งพลังงานที่มาจากธรรมชาติ มีกำลังสำคัญของคนที่อยู่ในท้องถิ่นที่ร่วมมือกันเพื่อให้ดำรงชีวิตอยู่รอดภายใต้การเปลี่ยนแปลงของโลกได้โดยการส่งเสริมอาชีพการเกษตรเยาวชน คนหนุ่มสาว คนรุ่นใหม่นั้น เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาการเกษตรในท้องถิ่นเพราะเยาวชนเป็นวัยที่กำลังเรียนรู้มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายและจิตใจ ที่สามารถเป็นพลังขับเคลื่อนการพัฒนาภาคการเกษตรให้ท้องถิ่นและประเทศชาติในอนาคต หากได้รับการส่งเสริมการสนับสนุนปลูกฝังจิตสำนึกที่ดีต่อการทำอาชีพเกษตรกรรมโดยการสร้างภูมิคุ้มกัน สร้างแหล่งอาหาร แหล่งพลังงานสำคัญในชีวิตโดยเฉพาะการสร้างทัศนคติให้เยาวชนรักบ้านเกิด รักท้องถิ่นของตนเอง

          การส่งเสริมการเกษตรสำหรับเยาวชน เป็นการสร้างฐานคิดทัศนคติแนวทางด้านการประกอบอาชีพการเกษตรให้แก่เยาวชนเพื่ออยู่พัฒนาท้องถิ่น โดยการส่งเสริมเยาวชนให้หันมาสนใจและมีแนวโน้มที่จะทำอาชีพเกษตรกรรมเพื่อสืบทอดภูมิปัญญา เจตนารมณ์ สร้างความมั่นคงทางอาหาร สร้างชุมชนให้เข้มแข็งจึงมีความจำเป็นและความสำคัญเนื่องจากเยาวชนเป็นอนาคตของชาติการมีชุมชนเข้มแข็งมีอาชีพมั่นคงรักษาไว้ซึ่งวัฒนธรรมสืบทอดภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ การส่งเสริมให้เยาวชนรุ่นใหม่มีโอกาสในการเข้าถึงแหล่งข้อมูลองค์ความรู้ที่จะสามารถพัฒนาอาชีพ มีความเข้าใจในการทำการเกษตรอย่างถูกวิธี เรียนรู้และปฏิบัติตามแนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สามารถหนุนเสริมให้เยาวชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีเชื่อมโยงสู่ชุมชนเกิดเป็นชุมชนเข้มแข็งพึ่งพาตนเองได้ อีกทั้งยังเป็นการปลูกจิตสำนึก ให้คนรุ่นใหม่มีแรงบันดาลใจในการทำเกษตรกรรม มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจในชุมชนและสังคม ส่งผลถึงความมั่นคงของประเทศชาติ สอดคล้องกับแนวนโยบายของรัฐบาลและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

          โครงการพัฒนาศักยภาพยาวชนบนพื้นที่สูง โดย สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) เป็นอีกโครงการหนึ่งที่มีแนวทางการพัฒนาเยาวชนเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2559 โดยเน้นปลูกฝังและสร้างเสริมเกษตรกรรุ่นใหม่เพื่อทดแทนเกษตรกรที่ลดจำนวนลง ขาดการต่อยอดอาชีพทางการเกษตรซึ่งเป็นอาชีพหลักของประเทศ ลดปัญหาขาดแคลนแรงงานในชุมชน สร้างเสริมให้เยาวชนเห็นคุณค่าของงานเกษตร สร้างกลุ่มเกษตรกรที่มีคุณภาพ มีความรู้ มีความเป็นผู้นำ เพื่อพัฒนางานเกษตรในชุมชน การอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่านำไปสู่ความยั่งยืน

 

กิจกรรม สวพส. เพิ่มเติม