สวพส.แนะเกษตรกรบนพื้นที่สูงจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ

วันคุ้มครองโลก 22 เมษายน สวพส. แนะเกษตรกรบนพื้นที่สูงจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ

          ปัจจุบันโลกเราต้องเผชิญกับปัญหาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเป็นพิษอย่างรวดเร็ว จนแทบไม่ทันได้เตรียมตัวป้องกัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาน้ำเสีย อากาศเป็นพิษทั้งควันพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมและการเผาป่าหรือพื้นที่เกษตรกรรม รวมไปถึงการบุกรุกพื้นที่ป่าต้นน้ำลำธารเพื่อประโยชน์ส่วนตัว ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นล้วนก่อให้เกิดปัญหาใหญ่ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นั่นก็คือ การเกิดปรากฎการณ์เรือนกระจก (Greenhouse Effecet) ทำให้โลกร้อนจนส่งผลในการดำเนินชีวิตในหลายๆ ด้าน

          วันที่ 22 เมษายน ของทุกปี ถูกจัดให้เป็น "วันเอิร์ธ เดย์" (Earth Day) หรือ "วันคุ้มครองโลก" ซึ่งถือเป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งของบรรดานักอนุรักษ์ธรรมชาติทั่วโลก สำหรับในประเทศไทยแล้วในปี 2563 นี้นับเวลาได้ 50 ปีแล้วที่ประเทศไทยได้กำหนดให้มี วันคุ้มครองโลก ในประเทศไทยเริ่มมีการพูดถึงวันคุ้มครองโลกเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2533 ถือเป็นการเริ่มต้นของสังคมไทยยุคเพื่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะหลังจาก "สืบ นาคะเสถียร" หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง กระทำอัตวินิบาตกรรมและเมื่ออาจารย์และนักศึกษาร่วมกัน 16 สถาบันได้จัดงานวันคุ้มครองโลกขึ้นเพื่อรณรงค์ให้คนไทยเห็นความสำคัญของป่าอนุรักษ์ และตระหนักถึงวิกฤติการทำลายสัตว์ป่าและป่าไม้ของประเทศไทย รวมทั้งการสร้างสำนึกในอันที่จะรักษาโลกไว้ทั้งบุคคล ชุมชนและประเทศชาติ

          เนื่องในวันคุ้มครองโลก หรือ Earth Day สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ได้ศึกษาแนวทางการจัดระบบการผลิตทางการเกษตรให้ปลอดวัสดุเหลือใช้ หรือ Zero waste agriculture ซึ่งเป็น 1 ในโครงการดีๆ เพื่อพัฒนาศักยภาพ เกษตรกรบนพื้นที่สูงให้มีระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรมและครบวงจร

          Zero waste agriculture คือ ระบบการผลิตทางการเกษตรให้ปลอดวัสดุเหลือใช้ นับว่าเป็นแนวทางใหม่ที่ได้รับความนิยมในสภาวะปัจจุบันที่มีการเติบโตของประชากรอย่างต่อเนื่องในปริมาณมาก ทำให้อัตราการบริโภคมีจำนวนมากขึ้นตามไปด้วย แน่นอนว่าผลิตผลทางการเกษตรนั้นจัดว่ามีความต้องการอย่างมากในทุกภาคส่วนทั่วโลก เพราะสิ่งของเพื่อการบริโภคต่างๆล้วนมีพื้นฐานจากการผลิตภาคการเกษตรทั้งสิ้น  แนวทางของการที่จะทำให้ผลิตผลทางการเกษตรเพียงพอกับความต้องการที่ไม่จำกัดนี้ มี 2 แนวทางที่ส่วนใหญ่นิยมทำกันคือ

          1. การขยายพื้นที่ผลิตทางการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นการขยายพื้นที่เพาะปลูก ทำปศุสัตว์ ฯลฯ

          2. การเพิ่มผลผลิตต่อพื้นที่ให้สูงขึ้น

          ซึ่งทั้ง 2 แนวทางนี้ล้วนก่อให้เกิดผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

          ในปัจจุบันสถานการณ์การตื่นตัวของขบวนการอนุรักษ์ธรรมชาติมีมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง สำหรับในประเทศไทยแล้ว แนวคิดเรื่อง Zero waste agriculture เป็นกระแสที่กำลังมาแรงในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งนโยบายด้านการเกษตรของประเทศไทยยังคงเป็นไปตามตามกระแสของโลกคือ เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) รวมไปถึงเกษตรเพื่อพลังงาน (Green Energy) เกษตรเพื่อสิ่งแวดล้อม (Green Environment) และเกษตรเพื่อการท่องเที่ยว (Green Tourism) ซึ่งก็มีองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนมุ่งไปสู่นโยบายของชาติที่กำหนดไว้

          สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง(องค์การมหาชน) เป็นอีกองค์กรหนึ่งที่มุ่งที่จะวิจัยและพัฒนางานด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อพี่น้องประชาชนบนพื้นที่สูง ได้นำเอารูปแบบในลักษณะของการจัดการด้านขยะให้เป็นศูนย์มาใช้บนพื้นที่สูงหลายแห่งทั่วประเทศ โดยดำเนินงานในลักษณะของการวิจัยเพื่อพัฒนา (Research for Development) ไปสู่ชุมชนบนพื้นที่สูงผ่านรูปแบบการบริหารจัดการในพื้นที่ที่เรียกว่าโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง มีจำนวน 33 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่สูงของประเทศไทย ซึ่งในครั้งนี้จะขอยกตัวอย่างพื้นที่ที่เริ่มดำเนินการตามแนวคิด Zero waste agriculture อย่างเป็นรูปธรรมดังนี้

กรณีตัวอย่าง จุดเริ่มต้นของ Zero waste agriculture ในพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง

          1. รูปแบบการจัดการขยะมีพิษในรูปแบบสหกรณ์ ในพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงลุ่มน้ำปิงบ้านป่ากล้วย อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นพื้นที่ที่มีชาวเขาเผ่าม้งอาศัยอยู่มากกว่า 50 หลังคาเรือน มีอาชีพการทำการเกษตร ด้วยการเพาะปลูกกะหล่ำเป็นหลัก ซึ่งในการเพาะปลูกนั้นย่อมต้องมีการใช้ปัจจัยการผลิตทางการเกษตร จำพวกสารเคมีกำจัดศัตรูพืช เป็นจำนวนมาก แต่ชาวบ้านที่นี่มีวิธีการจัดการขยะที่น่าสนใจคือการเอาขวดบรรจุสารเคมีที่แต่ละครัวเรือนใช้มาแลกสิ่งของพวกข้าวสารหรืออาหาร หรือ เงินสดกับทางสหกรณ์การเกษตรที่มีอยู่ในหมู่บ้าน ซึ่งในสหกรณ์นี้จะมีชาวบ้านในพื้นที่เป็นเจ้าหน้าที่ของสหกรณ์คอยให้คำแนะนำการใช้ และการปฏิบัติตัวเมื่อใช้สารเคมีทางการเกษตร รวมทั้งแนะนำทางเลือกอื่นทดแทนการใช้สารเคมี ซึ่งขวดที่รวบรวมได้ก็จะมีการรวบรวมเพื่อกำจัดทำลายต่อไป เป็นการลดการกระจายของขวดบรรจุสารเคมีที่เรี่ยราดตามดอย และเป็นการประเมินสถานการณ์การใช้สารเคมีในพื้นที่ เพื่อที่ทางเจ้าหน้าที่สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) สามารถวางแผนการดำเนินการรณรงค์และส่งเสริมการใช้และการผลิตสารอินทรีย์ทดแทนการใช้สารเคมีในระยะต่อไป

          2. รูปแบบการกำจัดขยะอินทรีย์รวมทั้งของเสียโดยการแปรสภาพขยะเป็นปุ๋ยหมักคุณภาพดีและก๊าชชีวมวล ในพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงลุ่มน้ำปิงบ้านห้วยเป้า อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการทำการเพาะปลูกพืชผักขายส่งพ่อค้าคนกลางและส่งโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ โดยการเพาะปลูกจะเป็นไปในลักษณะแบบมีพันธสัญญา (Contract Farming) ทำให้มีปริมาณการใช้สารเคมีในการเพาะปลูกพืชเป็นจำนวนมาก รวมทั้งเศษพืชที่เหลือจากการตัดแต่งผลผลิตที่มีเป็นจำนวนมาก และในพื้นที่บ้านห้วยเป้าชาวบ้านนิยมเลี้ยงสุกร เพื่อเป็นอาหารและส่งขายให้พ่อค้าคนกลาง ทำให้มีมูลสุกรเป็นจำนวนมาก

          จากปริมาณเศษพืชผัก และมูลสุกรที่มีจำนวนมากทางสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง(องค์การมหาชน) ได้ทดสอบและสาธิตการนำของเสียเหล่านี้มาหมุนเวียนใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยเศษพืชผักได้นำมาเป็นอาหารไส้เดือนดินสายพันธุ์สีแดงที่สามารถกำจัดขยะอินทรีย์และได้ปุ๋ยอินทรีย์ที่มีคุณภาพสูงใช้ในการปลูกผักในฤดูกาลเพาะปลูกถัดไป หรือ แม้แต่มูลสุกรที่มีปริมาณมากก็นำมาใช้เป็นแก๊สชีวภาพ (Biomass) สำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิงในการปรุงอาหารในครัวเรือน

จากหลักการสู่การปฏิบัติจริง Zero waste สู่ชุมชนบนพื้นที่สูง

          นายสวัสดิ์ การะหงส์ เกษตรกรในพื้นที่บ้านห้วยเป้า โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงห้วยเป้า อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เล่าว่า ตนเองได้ผันตัวจากนักการเมืองท้องถิ่นมาใช้ชีวิตแบบเรียบง่ายในหมู่บ้านห้วยเป้า เขตพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงลุ่มน้ำปิงห้วยเป้า ที่มีระบบการเกษตรที่เน้นใส่ใจสิ่งแวดล้อม ใส่ใจกับผลผลิตพืชที่ออกสู่ตลาด โดยการใช้สารอินทรีย์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นั่นก็คือ “การใช้ไส้เดือนดินในการกำจัดขยะอินทรีย์และผลิตปุ๋ยอินทรีย์” เป็นการจัดการขยะอินทรีย์ที่ลงทุนน้อยแต่ได้ผลลัพธ์ที่สูงมาก จึงเริ่มเลี้ยงไส้เดือนดินตั้งแต่มาตั้งแต่เดือนมกราคม 2556 โดยได้รับการสนับสนุนองค์ความรู้และพันธุ์ไส้เดือนดินจากนักวิชาการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง โดยทำการเลี้ยงไส้เดือนดินในบ่อขนาด 3 ตารางเมตร ใช้พันธุ์ไส้เดือนดินเริ่มต้นจำนวน 3 กิโลกรัม ปัจจุบันนี้ได้ขยายบ่อเพิ่มขึ้นอีกจำนวน 3 ตารางเมตร สามารถกำจัดขยะอินทรีย์ที่เหลือจากการเกษตรได้ถึง สัปดาห์ละ 12 กิโลกรัม นอกจากจะสามารถกำจัดขยะอินทรีย์แบบไม่ต้องใช้แรงตัวเองแล้วยังเกิดผลพลอยได้อีก ได้แก่ น้ำหมักมูลไส้เดือนดินและมูลไส้เดือนดิน ที่เกิดจากกระบวนการจัดการขยะอินทรีย์ของเจ้าไส้เดือนดินตัวน้อยนั่นเอง

 

          ไม่เพียงแต่การนำเอาเทคโนโลยีการเลี้ยงไส้เดือนดินเพื่อกำจัดขยะอิทรีย์เท่านั้น นายสวัสดิ์ยังได้ศึกษาและทดลองนำเอาหนอนแมลงวันลาย(BSF:Black Soldier Fly)มาใช้ในการย่อยสลายขยะอินทรีย์และได้ปุ๋ยหมักอินทรีย์เพื่อใช้ในการปรับปรุงบำรุงดินต่อไป

          เมื่อมีสารอินทรีย์ที่ผลิตได้จึงได้นำไปใช้ในการเพิ่มผลผลิตพืชที่ปลูก โดยเฉพาะเสาวรสหวาน และไม้ผลอื่นๆ ที่ปลูกไว้หลายไร่ ในสวนใกล้บ้าน เป็นการลดต้นทุนการผลิต ปลอดภัย สบายใจได้หายห่วง ซึ่งน้ำหมักมูลไส้เดือนดินมีคุณสมบัติช่วยเร่งการออกดอกให้แก่พืช ทนทานต่อโรคพืช-แมลงได้เป็นอย่างดี เปรียบเสมือนฮอร์โมนที่ช่วยกระตุ้นให้พืชตอบสนองต่อธาตุอาหารพืชที่เป็นประโยชน์ได้อย่างเหมาะสม เพิ่มอินทรียวัตถุให้แก่ดิน และควบคุมปริมาณไส้เดือนฝอยในดิน การจัดการขยะอินทรีย์โดยใช้ไส้เดือนดินในแบบฉบับที่ลุงสวัสดิ์ ได้ทำอยู่นั้นจึงถือได้ว่าเป็นกระบวนการจัดการสิ่งแวดล้อมที่เป็นประโยชน์ต่อในชุมชน หรือเราอาจจะเรียกได้ว่า “Zero waste ชุมชนบนพื้นที่สูง” และเมื่อมีความรู้และทดลองจนชำนาญ จึงได้อาสาถ่ายทอดวิชาความรู้ต่างๆไปสู่พี่น้องเกษตรกรรายอื่นๆในชุมชนและขยายไปทั่วประเทศต่อไป

          จากกรณีตัวอย่างข้างต้นจะเห็นได้ว่าสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง(องค์การมหาชน) ได้มุ่งที่จะจัดการในเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรมและครบวงจร ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดในเรื่อง Zero waste agriculture ที่เน้นกระบวนการจัดการขยะของเสีย (Zero waste Management) ให้เหลือน้อยที่สุด จากจุดเริ่มต้นดังกล่าว ปัจจุบันได้ขยายผลครอบคลุมไปชุมชนใกล้เคียง โดยวิทยากรเกษตรกร สอนเกษตรกรด้วยกันเอง เน้นการเรียนรู้ฝึกปฏิบัติด้วยตนเอง (Learning by doing) และจากจุดเริ่มต้นเล็กๆนี้จะกระจายไปสู่จุดอื่นๆอีกนับร้อยนับพันจุด ต่อไป..เพื่อสร้างชุมชนสีเขียว เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดี ในประเทศที่อบอุ่นด้วยบารมีของในหลวงที่รักยิ่งของเราชาวไทยทุกคน

เขียน / เรียบเรียงเรื่องโดย:

นายภาคภูมิ ดาราพงษ์ นักวิชาการ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง

กิจกรรม สวพส. เพิ่มเติม