นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะ กปส. ครั้งที่ 1/2563

นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการประสานงาน

และสนับสนุนงานโครงการหลวง (กปส.) ครั้งที่ 1/2563

 

 

 

 

         วันที่ 15 กรกฎาคม 2563 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการประสานงานและสนับสนุนงานโครงการหลวง (กปส.) ครั้งที่ 1/2563 ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพมหานคร  เพื่อรับทราบผลการดำเนินงานของส่วนราชการต่าง ๆ ที่สนับสนุนงานโครงการหลวง รวมทั้งพิจารณาแผนงานสนับสนุนโครงการหลวง โดยมี นายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี ประธานกรรมการมูลนิธิโครงการหลวง  พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง นายอำพน กิตติอำพน องคมนตรีที่ปรึกษาพิเศษ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง นางมิ่งขวัญ วิชยารังสฤษดิ์ ประธานกรรมการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง นายวิรัตน์ ปราบทุกข์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง กรรมการและเลขานุการ เข้าร่วมประชุม

        โครงการหลวงและสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ได้รับการรับรองทะเบียนพันธุ์พืชใหม่กับกรมวิชาการเกษตรแล้ว จำนวน 15 พันธุ์ อาทิ ไม้ดอกประกายดาว ควินัว  เนคทารีน และพีช และกำลังดำเนินการขอขึ้นทะเบียนพันธุ์ไม้ดอกมาลีรัตน์ วงศ์ขิง รวมทั้ง ฟักทองญี่ปุ่น คะน้าฮ่องกง และมะเขือเทศผลเล็ก ผลงานวิจัยที่นำไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวจากสารสกัดถั่งเช่า โยเกิร์ตนมกระบือ และผลิตภัณฑ์ใหม่ล่าสุดในขณะนี้ คือ กาแฟอราบิกาเฉพาะถิ่น กาแฟแคบซูลซิงเกิลออริจิน น้ำมันลินินสกัดเย็น ผลิตภัณฑ์ควินัว กรอบ ควินัว บาร์ และขนมปังควินัว ผสม  สตรอว์เบอร์รี

 

 

 

        นอกจากนี้ เกษตรกรในพื้นที่โครงการหลวง 13,645 ครัวเรือน ได้รับการส่งเสริมให้ปลูกพืชเขตหนาวและกึ่งหนาว 381 ชนิด ซึ่งผ่านการรับรองมาตรฐานอาหารปลอดภัย จำหน่ายภายใต้ตรา “โครงการหลวง” ในปีงบประมาณ พ.ศ.2562 มีมูลค่ารวมถึง 1,328 ล้านบาท สำหรับสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. ซึ่งเป็นองค์กรที่รัฐบาลตั้งขึ้นเพื่อประสานงานและสนับสนุนกับหน่วยงานบูรณาการ ในการปฏิบัติงานในพื้นที่โครงการหลวง ในปีงบประมาณ 2562-2563 มีหน่วยงานร่วมบูรณาการ ในพื้นที่โครงการหลวง จำนวน 24 หน่วยงาน และในพื้นที่พัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง จำนวน 20 หน่วยงาน  นอกจากนี้ มูลนิธิโครงการหลวงและ สวพส. ยังดำเนินความร่วมมือทางวิชาการกับประเทศต่าง ๆ   ได้แก่ ภูฏาน  เมียนมา และ สปป.ลาว เข้าร่วมการประชุมกับองค์การ FAO ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน  และการประชุมคณะกรรมาธิการยาเสพติดสมัยที่ 62  ณ กรุงเวียนนา สาธารณรัฐออสเตรีย เพื่อเผยแพร่ผลงานสู่นานาชาติ

 

 

        จากนั้น นายกรัฐมนตรีได้พิจารณาอนุมัติงบประมาณสนับสนุนการสร้างศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวง ณ ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งจะจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นศูนย์รวมการปฏิบัติงานวิจัยและพัฒนาการเกษตรที่สูง เกิดประโยชน์โดยรวมแก่ประเทศ และรับทราบผลการดำเนินงานแก้ไขปัญหาการใช้พื้นที่สูงตามแนวทางของโครงการหลวง โดยขณะนี้กรมป่าไม้ได้รับการอนุมัติขอบเขตการใช้พื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติตามมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 เนื้อที่รวม 2,508,958 ไร่ 1 งาน 27 ตารางวา เพื่อให้หน่วยงานต่าง ๆ สามารถเข้าปฏิบัติงานในขอบเขตพื้นที่อย่างคล่องตัว และเตรียมดำเนินการขอใช้ประโยชน์พื้นที่ตั้งศูนย์/สถานีฯ และพื้นที่เกษตร รวมทั้งพื้นที่ที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ตามลำดับ  สำหรับการแก้ปัญหาในพื้นที่นำร่อง คือ สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง  ได้ดำเนินการฟื้นฟูพื้นที่กลับคืนสู่ธรรมชาติ โดยการมีส่วนร่วมของหน่วยงานภาครัฐ และประชาชนในพื้นที่ เป็นแบบอย่างในการดำเนินการต่อไปบนพื้นที่สูงอื่นในจังหวัดเชียงใหม่ และตาก รวมทั้งต่อยอดไปในพื้นที่สูงของจังหวัดเชียงราย ลำพูน พะเยา และแม่ฮ่องสอน จากนั้นนายกรัฐมนตรียังได้รับฟังผลการประชุมวิชาการนานาชาติด้านการพัฒนาเกษตรที่สูงอย่างยั่งยืน ตามพระราชปณิธานสืบสาน รักษา ต่อยอดงานโครงการหลวง ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเดือนธันวาคม 2562 ณ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ โดยผู้เข้าร่วมประชุมจาก 17 ประเทศ 675 คน ต่างให้การยอมรับความสำเร็จของโครงการหลวง ถือเป็นต้นแบบการพัฒนาทางเลือกที่เป็นแนวปฏิบัติบนพื้นฐานหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยหลักการทำงาน เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา เน้นการบูรณาการของทุกภาคส่วน ควรนำเป็นแบบอย่างแก่พื้นที่สูงอื่นทั้งในและต่างประเทศ  และเตรียมต่อยอดสู่การจัดตั้งสถาบันเรียนรู้การพัฒนาที่สูงอย่างยั่งยืน เพื่อขยายแนวทางและองค์ความรู้ ให้เกิดประโยชน์อย่างกว้างขวางต่อไป และท้ายสุดนายกรัฐมนตรีได้พิจารณาอนุมัติกรอบงบประมาณของหน่วยงาน   บูรณาการและสนับสนุนการดำเนินงานตามแผนแม่บทศูนย์พัฒนาโครงการหลวง และแผนแม่บทโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง ระยะ 6 ปี (พ.ศ. 2560-2565)  โดยให้ความสำคัญกับการจัดการปัจจัยพื้นฐาน น้ำ พื้นที่ป่าต้นน้ำ และสร้างคุณภาพชีวิตชุมชนบนพื้นที่สูง เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ก่อนเสนอให้คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบต่อไป

 

กิจกรรม สวพส. เพิ่มเติม