โครงการ“รักษ์น้ำเพื่อพระแม่ของแผ่นดิน” ภายใต้สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นสูง (องค์การมหาชน) ได้จัดการประชุมสรุปผลการดำเนินงานประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ณ โรงแรมดิเอ็มเพรส เชียงใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2563 โดยมี นายศิริพงศ์ หังสพฤกษ์ ที่ปรึกษาด้านการวางแผนและพัฒนาการเกษตร เป็นผู้แทนปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำหน้าที่ประธานการประชุม โดยมีเกษตรและสหกรณ์จังหวัด 7 จังหวัด มีผู้เข้าร่วมประชุมจำนวน 150 คน สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง ได้นำเสนอผลงานเด่นในพื้นที่โครงการ“รักษ์น้ำเพื่อพระแม่ของแผ่นดิน” และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้นำเสนอรายงานการศึกษาโครงการประเมินกึ่งกลางแผนแม่บทโครงการฯ ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2560-2564) พบว่า พื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น พื้นที่บุกรุกป่าลดลง มีการจัดทำแผนและมีการใช้ประโยชน์ที่ดินถูกต้องตามแผนมีการจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ มีการพัฒนาปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน โดยชุมชนมีส่วนร่วมในการใช้ประโยชน์และดูแลรักษามีศูนย์เรียนรู้ในแต่ละลุ่มน้ำและมีการนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ และมีการติดตามงานทั้งจากส่วนกลางและระดับปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ การประชุมมีประโยชน์ในการพัฒนาบุคลากร ที่ได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์เพื่อนำไปปรับปรุงงานได้ดีและเร็ว เกษตรและสหกรณ์จังหวัด ได้รายงานผลการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ของโครงการฯ รวมถึงประเด็นปัญหา เพื่อให้ที่ประชุมทราบและให้ข้อเสนอแนะต่างๆ เพื่อให้แนวทางแก้ไขและเป็นการ บูรณาการงานร่วมกัน ดังนี้
1. ควรทำกลยุทธ์รายหมู่บ้าน ซึ่งปัญหาและความต้องการไม่เหมือนกัน เน้นหมู่บ้านเป้าหมายหลักและทำต่อเนื่อง มีจุดเด่นรายพื้นที่
2. ควรให้ความสำคัญในการกระจายรายได้ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำของชุมชน
3. ยกระดับคุณภาพของผลผลิต การสร้างอัตลักษณ์ของผลผลิต/สินค้า เพื่อลดการแข่งขันและได้ราคาดี
4. เพิ่มมูลค่าจากการแปรรูป คุณค่าทางโภชนาการ และประยุกต์ Zero Waste Technology ฯลฯ อาจเพิ่มความเข้มข้นในการสร้างรายได้เชิงพาณิชย์นอกเหนือจากเป็นรายได้เสริม
5. เชื่อมโยงแหล่งผลิตเป็นเครือข่ายกับแหล่งตลาด เพิ่มความมั่นคงของผลผลิตและการตลาด
6. บริหารจัดการระหว่างกลุ่ม เพิ่มอำนาจการต่อรอง และจัดการด้านโลจิสติกส์ เพื่อลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มรายได้
7. การให้ความสำคัญการบันทึกข้อมูลผลผลิตของสมาชิกในกลุ่ม เพื่อวิเคราะห์ปรับปรุงงาน
8. ส่งเสริมการตลาดผ่านสื่อ อาจเป็น Platform ของโครงการ “รักษ์น้ำ”
9. ใช้แผนที่ดินรายแปลง แผนชุมชน และแผนของหน่วยงานเป็นเครื่องมือบูรณาการหน่วยงาน และการพัฒนาและอนุรักษ์ ควรนำเสนอผลงานลงในแผนที่เป็นฐานข้อมูลกลาง
10. ศูนย์เรียนรู้ชุมชน ควรเป็นศูนย์มีชีวิตที่มีการทำงานต่อเนื่อง มีเกษตรกรเป็นวิทยากร ควรทำทะเบียนผู้มาเรียนรู้ และติดตามการนำไปใช้ประโยชน์ เป็นผลกระทบของโครงการ
11. รายงานและผลงานเชิงประจักษ์จะสร้างศรัทธาให้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณ และทรัพยากรจากท้องถิ่น จังหวัด และหน่วยงานมากขึ้น
12. นำผลการประเมินกึ่งกลางแผนไปปรับปรุงแนวทางการดำเนินงานในช่วงแผนแม่บทที่เหลือ และเตรียมการจัดทำแผนแม่บทระยะต่อไป โดยให้มีส่วนร่วมของทางพื้นที่มากขึ้น และให้คำจำกัดความของเป้าหมายให้ชัดเจน เช่นการจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ ศูนย์เรียนรู้ชุมชน สวัสดิการสังคมเชิงบูรณาการ ฯลฯ และเตรียมตัวชี้วัดอื่นที่วัดระดับผลผลิต ผลลัพธ์ และผลกระทบมากขึ้น เช่น ความคุ้มค่า ของการใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐาน การนำองค์ความรู้ไปใช้ประโยชน์ ฯลฯ
13. หน่วยงานที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ และใช้งบปกติของหน่วยงาน ควรประเมิน งบประมาณที่ใช้ตามเนื้องาน เพื่อนำมาเป็นส่วนหนึ่งของงบบูรณาการ
14. ทำน้อยได้มาก ตอบหลายยุทธศาสตร์ (กรณีปลูกผักอินทรีย์ ปลูกไม้ผลในแปลงพืชไร่) ซึ่งได้ตอบทั้งยุทธศาสตร์รายได้ และอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ