โครงการรักษ์น้ำเพื่อพระแม่ของแผ่นดินลุ่มน้ำหมัน จ.เลย

โครงการรักษ์น้ำเพื่อพระแม่ของแผ่นดินลุ่มน้ำหมัน จ.เลย

 

            ที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหารและกำกับดูแลโครงการ "รักษ์น้ำเพื่อพระแม่ของแผ่นดิน" นำโดยพลเอก นิพนธ์  ภารัญนิตย์ และคณะผู้บริหารสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการ "รักษ์น้ำเพื่อพระแม่ของแผ่นดิน" ระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน–2 ธันวาคม 2563 ณ พื้นที่โครงการฯ ลุ่มน้ำหมัน อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย เพื่อรับทราบผลการดำเนินงานและความคืบหน้าผลการดำเนินงาน

 

 

            โครงการรักษ์น้ำเพื่อพระแม่ของแผ่นดิน ลุ่มน้ำหมัน ครอบคลุมพื้นที่ 12 หมู่บ้าน ของตำบลกกสะทอน อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย เป็นลุ่มน้ำย่อยของลุ่มน้ำโขง พื้นที่แห่งนี้มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์เพราะเป็นพื้นที่รอยต่อของจังหวัดเลย พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ เป็นพื้นที่เกิดปัญหาความไม่สงบสุขของผู้ที่มีความคิดเห็นต่าง ทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และพระบรมวงศานุวงศ์ได้เสด็จมาให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ และประชาชนหลายครั้งที่บ้านหมากแข้ง ในช่วงปี พ.ศ. 2516-2520 โดยเฉพาะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ซึ่งในขณะนั้นดำรงพระยศพระบรมโอรสาธิราชฯ ได้เสด็จมาโดยเฮลิคอปเตอร์เพื่อลาดตระเวนพื้นที่ร่วมกับทหาร และประทับแรมที่ค่ายทหารซึ่งเป็นอุทยานเทอดพระเกียรติบ้านหมากแข้งด้วย และสมเด็จพระพันปีหลวง สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ก็ได้เสด็จมาส่งเสริมงานด้านศิลปาชีพ และพระราชทานชื่อโรงเรียนเย็นศิระ ที่บ้านหมากแข้ง ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2557 คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติให้พื้นที่แห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการรักษ์น้ำเพื่อพระแม่ของแผ่นดิน

 

 

 

          สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. ในฐานะเลขานุการโครงการร่วมกับสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2558 ในระยะแรกได้ศึกษาวิเคราะห์พื้นที่และชุมชนพบว่าเกษตรกรยังขาดความรู้และทางเลือกในการประกอบอาชีพ โดยมีการปลูกพืชที่ให้ผลตอบแทนต่ำ และใช้พื้นที่มาก การทำการเกษตรที่ไม่ถูกวิธีมีการใช้สารเคมีมาก สวพส. จึงนำเกษตรกรไปศึกษาดูงานการพัฒนาแบบโครงการหลวง และในปี 2559 จึงได้ส่งเสริมการปลูกองุ่นเป็นพืชเศรษฐกิจเพื่อการท่องเที่ยว เพราะอยู่ใกล้ภูทับเบิก และมีถนนเชื่อมไปยังภูเรือ ลักษณะภูมิประเทศอยู่ที่ระดับความสูง 700 ม.รทก. ส่งผลให้ได้ผลผลิตดี เป็นการใช้พื้นที่เพาะปลูกน้อย รายได้สูงกว่าการปลูกข้าวโพดซึ่งใช้พื้นที่เท่าเดียวกันถึง 80 เท่า และยังเก็บผลผลิตได้ 2 ครั้งต่อปี

           ต่อมาได้มีการส่งเสริมการปลูกผักทั้งในและนอกโรงเรือนเพื่อให้มีรายได้ทั้งปี และพัฒนาคุณภาพผลผลิตจนได้รับการรับรองมาตราฐาน GAP และมาตราฐานอินทรีย์ สามารถทำการตลาดกับบริษัทที่นำรถห้องเย็นมารับซื้อถึงในพื้นที่ โดยพืชผักที่สร้างรายได้หลัก ได้แก่ ฟักทองญี่ปุ่น แตงกวาญี่ปุ่น ผักใบชนิดต่างๆ

          และเพื่อให้เกิดความยั่งยืนของโครงการ จึงได้ส่งเสริมการปลูกไม้ผลเพื่อหวังผลระยะกลาง และระยะยาว ได้แก่ อโวคาโด้ ทุเรียน แมคคาเดเมีย มะม่วง และเงาะ ซึ่งการปรับปรุงไม้ผลเดิมเช่น ฝรั่ง รวมไม้ผลที่ปลูก 2,000 ต้น มากกว่า 60 ไร่

 

 

          ผลสำเร็จของโครงการทำให้การส่งเสริมขยายไปที่บ้านห้วยมุ่น และบ้านน้ำหมัน รวมสมาชิก 28 คน มีรายได้ปีละมากกว่า 2.5 ล้านบาท ทำให้มีการเปลี่ยนพื้นที่ปลูกพืชไร่เป็นไม้ผลซึ่งเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียว และลดการใช้สารเคมี ทำให้เกษตรกรมีองค์ความรู้ติดตัวสำหรับประกอบอาชีพ พึ่งพาตนเองได้ สร้างความสามัคคีในชุมชน และมีคุณภาพชีวิตที่ดี

          จากการดำเนินโครงการได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานร่วมบูรณาการของทุกฝ่าย อาทิเช่น กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ ที่พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำ กรมพัฒนาที่ดิน ช่วยเกษตรกรในการปรับปรุงดิน อนุรักษ์ต้นน้ำลำธาร กรมวิชาการเกษตร ช่วยรับรองมาตรฐานผลผลิต กระทรวงสาธารณะสุข ช่วยตรวจคัดกรองโลหิต ให้เกษตรกรตระหนักในประโยชน์ของการลดการใช้สารเคมี จังหวัดเลย สนับสนุนโรงเรือนสำหรับปลูกผักอินทรีย์ กองทัพบก สนับสนุนการสร้างถนนเชื่อมต่อภูทับเบิกถึงภูเรือ ภาคเอกชน ที่สนับสนุนด้านการตลาด และหน่วยงานอื่นๆ ทำให้โครงการประสบความสำเร็จและที่สำคัญคือชุมชนเองมีความศรัทธาและยึดแนวทางของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นหลักในการดำรงชีวิตและปฏิบัติงาน

กิจกรรม สวพส. เพิ่มเติม