จากการระบาดรอบสองทำให้มาตรการสนับสนุนการแก้ปัญหาของสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการเพื่อสนับสนุนเกษตรกรบนพื้นที่สูงได้อย่างรวดเร็วและราบรื่น โดยมีการเฝ้าระวังและป้องกัน คือ ให้เจ้าหน้าที่ที่อยู่ประจำในชุมชนร่วมกับกรรมการชุมชนให้ความรู้แก่เกษตรกรบนพื้นที่สูงให้ตระหนักถึงการป้องกันและดูแลตนเองเพื่อให้ร่างกายห่างไกลจากเชื้อไวรัสโควิด-19 รวมทั้งการผลิตหน้ากากผ้าเพื่อมอบแก่เกษตรกรบนพื้นที่สูง โดยสถาบันได้สนับสนุนเงินและอุปกรณ์ให้กลุ่มหัตถกรรมภายใต้โครงการของสถาบันเป็นผู้ผลิต
นายวิรัตน์ ปราบทุกข์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง กล่าวว่า สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูงมีแนวทางในการสนับสนุนเกษตรกรในพื้นที่ให้ห้วงการระบาดโควิด-19 คือ
(1) ดูแลความเป็นอยู่ของชุมชนทั้งทางด้านเศรษฐกิจและการสร้างอาชีพให้แก่ชุมชน โดยนำแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาช่วยเหลือชาวบ้าน หลักการคือทำให้ชาวบ้านสามารถผลิตพืชเศรษฐกิจที่มีคุณค่า ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมและเป็นพืชที่ปลอดภัย
(2) ลดขั้นตอนของเกษตรบนพื้นที่สูงในการติดต่อประสานงานโดยจัดให้มีการติดต่อสื่อสารผ่านสังคมออนไลน์ระหว่างเจ้าหน้าที่และนักวิชาการเกษตรมาให้ความรู้แก่เกษตรกรโดยตรงสามารถแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็ว ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เกษตรกรบนพื้นที่สูงส่วนใหญ่มีความต้องการให้ช่วยเหลือเรื่องเศรษฐกิจ การกระจายพืชผลทางการเกษตร ทางสถาบันได้ช่วยเหลือในการให้ความรู้และดูแลเรื่องแผนการผลิต หาช่องทางการตลาดเพิ่มขึ้นและมีการสื่อสารผ่านผู้นำชุมชนเพื่อช่วยเหลือการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ
(3) ในส่วนของการดำเนินงานสนับสนุนในพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง อาทิ อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดตากและจังหวัดแม่ฮ่องสอน พื้นที่เหล่านี้เคยเป็นพื้นที่ที่มีการปลูกฝิ่นมาก โดยเฉพาะการปลูกข้าวโพด การถางป่า มีการใช้สารเคมีมาก ชาวบ้านไม่มีอาชีพ จึงได้จัดตั้งศูนย์พัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงเพื่อเข้าไปดูแลวิจัยและพัฒนาให้ชุมชนได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยสถาบันได้วางแนวทางและเป้าหมายในอนาคตเพื่อส่งผ่านความรู้การพัฒนาแบบโครงการหลวงแก้ไขปัญหาให้ได้ 4,000 หมู่บ้าน ผ่านระบบดิจิทัลที่ทันสมัยให้ง่ายและสะดวกรวดเร็ว สามารถช่วยเหลือเกษตรกรบนพื้นที่สูงและเข้าถึงได้มากที่สุด ทั้งนี้ เกษตรกรที่ต้องการความช่วยเหลือสามารถติดต่อผ่านทางเจ้าหน้าที่ของสถาบันได้โดยตรง ส่วนเกษตรกรนอกพื้นที่สามารถติดต่อสอบถามได้ที่สถาบันวิจัย ส่วนผู้ที่ต้องการซื้อพืชผลทางการเกษตรสามารถซื้อได้หลายช่องทาง เช่น ร้านโครงการหลวง กลุ่มเกษตรกรวิสาหกิจชุมชน หน้าสำนักงานสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง ตลาดนัดชาวดอยอุทยานหลวงราชพฤกษ์ (วันเสาร์-อาทิตย์) หรือสามารถติดต่อได้ที่ฝ่ายการตลาดของสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง(องค์การมหาชน)