วิรัตน์ ปราบทุกข์ เพชรดา อยู่สุข และอิทธิพล โพธิ์ศรี
สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน)
พื้นที่สูงของประเทศไทยที่ส่วนใหญ่อยู่ในเขตภาคเหนือนั้น สภาพพื้นที่และภูมิอากาศต่างจากพื้นที่ราบเป็นอย่างมาก โดยเป็นเทือกเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเล ตั้งแต่ 500 ถึงมากกว่า 1,000 เมตร ทำให้สภาพภูมิอากาศหนาวเย็น และมีฝนตกชุก นอกจากนี้ยังเป็นพื้นที่ที่อยู่ห่างไกลและทุรกันดาร ประชาชนที่อยู่อาศัยบนพื้นที่สูงมานาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวไทยภูเขาเผ่าต่างๆ จึงมีความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก โดยในอดีตดำรงชีวิตอยู่ด้วยการทำไร่เลื่อนลอย และปลูกพืชเพียงไม่กี่ชนิด คือ ข้าว ข้าวโพด และพืชผักท้องถิ่น เพื่อเป็นพืชอาหารเป็นหลัก ส่วนพืชรายได้มีน้อยมาก จึงเกิดปัญหาการปลูกฝิ่น ซึ่งเป็นพืชเสพติดที่สร้างปัญหาให้กับคนทั้งโลก เป็นที่มาของการที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงก่อตั้ง“โครงการหลวง” และการปลูกพืชทดแทนฝิ่น ดังพระราชดำรัสที่ทรงพระราชทาน เมื่อวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2517 ณ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ความว่า
“เรื่องที่จะช่วยชาวเขาและโครงการชาวเขานั้น มีประโยชน์โดยตรงกับชาวเขาเพื่อส่งเสริม และสนับสนุนให้ชาวเขามีความเป็นอยู่ดีขึ้น สามารถเพาะปลูกสิ่งที่เป็นประโยชน์ และเป็นรายได้ให้กับเขาเอง จุดประสงค์อย่างหนึ่งคือมนุษยธรรม หมายถึงให้ผู้ที่อยู่ในถิ่นทุรกันดารสามารถมีความรู้และพยุงตัว มีความเจริญได้ อีกอย่างหนึ่งเรื่องช่วยในทางที่ทุกคนเห็นว่าควรจะช่วย เพราะเป็นปัญหาใหญ่ คือ ปัญหาเรื่องยาเสพติด ถ้าช่วยชาวเขาปลูกพืชที่เป็นประโยชน์บ้างเขาจะเลิกปลูกยาเสพติดคือ ฝิ่น ทำให้นโยบายการระงับ การปราบปรามการปลูกฝิ่นและค้าฝิ่นได้ผลดี อันนี้เป็นผลอย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งคือ ชาวเขาตามที่รู้เป็นผู้ทำการเพาะปลูกโดยวิธีที่จะทำให้บ้านเมืองของเราสู่หายนะได้ ที่ถางป่าและปลูกโดยวิธีไม่ถูกต้อง ถ้าพวกเราทุกคนไปช่วยเขาก็เท่ากับช่วยบ้านเมืองให้มีความดี อยู่ดี กินดี และปลอดภัยได้อีกทั่วประเทศ ถ้าสามารถทำโครงการนี้สำเร็จให้ชาวเขาอยู่เป็นหลักแหล่งและสนับสนุนนโยบาย จะรักษาป่าไม้ รักษาดินให้เป็นประโยชน์ต่อไป และยั่งยืนมาก”
การปลูกพืชทดแทนฝิ่น เป็นจุดเริ่มของวิจัย พัฒนา และส่งเสริมพืชเศรษฐกิจชนิดใหม่ๆ ทั้งไม้ผล พืชผัก ไม้ดอก กาแฟ พืชไร่ และอื่นๆ เป็นระยะเวลากว่า 50 ปี โดยโครงการหลวง และรัฐบาลได้ตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือสวพส. ขึ้นเพื่อสนับสนุนงานโครงการหลวง และขยายผลสำเร็จไปพัฒนาพื้นที่สูงต่างๆ ปัจจุบันพืชพันธุ์ใหม่ๆ และวิธีการเพาะปลูกที่ประณีตและปลอดภัย ได้รับการวิจัยและพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง และส่งเสริมแก่เกษตรกรอย่างกว้างขวาง บทความนี้มุ่งถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ด้านการส่งเสริมการปลูกพืชผักเป็นอาชีพแก่เกษตรกรในพื้นที่โครงการหลวง และสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง ในภาพรวม สำหรับรายละเอียดทางวิชาการสามารถหาข้อมูลและเรียนรู้เพิ่มเติมได้โดยตรงจากทั้ง 2 หน่วยงาน
การวิจัยและพัฒนาการผลิตพืชผักบนพื้นที่สูง
สภาพภูมิอากาศที่หนาวเย็น เป็นโอกาสทำให้พื้นที่สูงสามารถปลูกพืชผักเขตหนาวได้ ชดเชยจุดอ่อนที่เส้นทางคมนาคมขนส่งที่ยากลำบาก และอยู่ห่างไกลตลาด หากปลูกพืชผักเขตร้อนจะไม่สามารถแข่งขันทางการตลาดกับพื้นที่ราบได้ แต่ในอดีตพืชผักเขตหนาวเป็นของใหม่สำหรับประเทศไทย เราขาดองค์ความรู้ว่าจะปลูกพืชผักอะไร วิธีการเพาะปลูกอย่างไร และยังไม่มีตลาด โครงการหลวงเป็นหน่วยงานหลักที่ได้วิจัย ส่งเสริม และสร้างตลาด จนทุกวันนี้เป็นที่รู้จัก มีการปลูกและบริโภคกันอย่างแพร่หลาย พืชผักชนิดต่างๆได้ถูกนำมาศึกษาวิจัย หาพันธุ์ที่เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศ และตลาดต้องการ มีการศึกษาหาวิธีการเพาะปลูกที่ประณีตและปลอดภัย จนปัจจุบันมีพืชผักที่ปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจ มากกว่า 150 ชนิด ได้แก่ ผักกินใบ เช่น กระหล่ำปลี กระหล่ำปลีม่วง กระหล่ำปลีรูปหัวใจ ผักกาดหอมห่อ เบบี้ฮ่องเต้ ผักกาดหวาน เบบี้คอส โอ๊คลีฟเขียว หอมญี่ปุ่น กระเทียมต้น ผักกินผล เช่น ฟักทองญี่ปุ่น แตงกวาญี่ปุ่น พริกหวาน มะเขือเทศ มะเขือเทศเชอรี่ มะเขือม่วง ซุกินี ถั่วแขก ผักกินหัว เช่น แครอท บีทรูท เทอร์นิพ นอกจากนี้เพื่อให้ได้ผลผลิตที่คุณภาพสูง ปลอดภัย และตรงตามความต้องการของตลาด ยังมีการวิจัยและพัฒนาในด้านต่างๆอีกมาก เช่น การปลูกในโรงเรือน การปลูกในวัสดุปลูก (Substrate culture) การปลูกภายใต้ระบบมาตรฐานอาหารปลอดภัย GAP และเกษตรอินทรีย์ การจัดการหลังเก็บเกี่ยว และระบบการสอบทวนย้อนกลับ เป็นต้น
พืชผักกับการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมบนพื้นที่สูง
พื้นที่สูงเป็นป่าต้นน้ำลำธารที่สำคัญของประเทศ แม้ว่ามีความจำเป็นต้องส่งเสริมอาชีพ เพื่อพัฒนาชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน ซึ่งอาศัยอยู่มากกว่า 4,000 ชุมชน ประชากรประมาณ 1 ล้านคน ยังต้องคำนึงถึงการไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้น้อยและคุ้มค่าที่สุด และได้ผลตอบแทนเพียงพอต่อการดำรงชีวิต แต่ที่ผ่านมาพืชเศรษฐกิจส่วนใหญ่เป็นพืชไร่ เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ใช้พื้นที่และแรงงานจำนวนมาก ถึงจะมีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีวิต จึงเป็นสาเหตุของการบุกรุกป่าเพิ่ม การเผา และหมอกควัน ดังนั้นการปรับระบบการเกษตรบนพื้นที่สูงให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมนั้น พืชผักจึงสามารถตอบโจทย์ได้ดี เพราะมีความต้องการของตลาดสูง จึงสามารถสร้างอาชีพให้กับประชาชนได้กว้างขวาง การเพาะปลูกไม่มีปัญหาการเผา สามารถให้ผลตอบแทนสูงในพื้นที่จำกัดและได้ตลอดปี โดยเฉพาะเมื่อปลูกในระบบที่ประณีต จะยิ่งใช้พื้นที่และน้ำน้อยมาก ดังจะเห็นได้ชัดเจนในพื้นที่ดำเนินงานของสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูงหลายแห่งในพื้นที่จังหวัดต่างๆ เช่น น่าน เชียงใหม่ ตาก และแม่ฮ่องสอน ที่ปรับระบบเกษตรจากพืชไร่เป็นพืชผักและพืชอื่นๆแล้ว ซึ่งสามารถลดการบุกรุกป่า และการเผาได้อย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งทำให้เกษตรกรมีรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
ตารางแสดงรายได้และการใช้พื้นที่และน้ำในการปลูกพืชผักบางชนิดในโรงเรือน ในแปลงเกษตรกรของสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง
การผลิตพืชผักคุณภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ความยั่งยืนของการประกอบอาชีพปลูกพืชผักนั้น คุณภาพของผลผลิต และวิธีการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งจากการที่โครงการหลวงและสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูงได้ส่งเสริมให้เกษตรกรบนพื้นที่สูงจำนวนมาก ปลูกพืชผักเป็นอาชีพมาเป็นระยะเวลายาวนาน โดยในปีหนึ่งๆมีผลิตผลที่ผ่านระบบบริหารจัดการด้านการตลาดรวมมากกว่า 25,552 ตัน มูลค่า ประมาณ 646 ล้านบาท พอจะสรุปหลักและแนวทางที่เหมาะสมในการปลูกพืชผักบนพื้นที่สูง ดังนี้
1. การวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดิน และแปลงของเกษตรกร
การปลูกพืชผักต้องอยู่ภายใต้การใช้พื้นที่ดินอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ ซึ่งจำเป็นมากสำหรับพื้นที่สูง เพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างการใช้ประโยชน์และการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในพื้นที่ของเกษตรกรแต่ละราย ควรวางแผนการใช้พื้นที่ให้มีการทำการเกษตรที่หลากหลาย ตามความเหมาะสมและศักยภาพของพื้นที่ เช่น แบ่งพื้นที่ส่วนใหญ่ ในส่วนที่ลาดชัน หรือมีน้ำจำกัด ในการปลูกไม้ผลยืนต้น หรือไม้ใช้สอย เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวและรายได้ระยะยาว และใช้พื้นที่ส่วนหนึ่งที่ไม่ลาดชัน หรือสามารถปรับเป็นขั้นบันไดดินได้ เพื่อปลูกพืชผักหรือพืชล้มลุกอื่นๆ เพื่อสร้างรายได้หมุนเวียนได้ทั้งปี โดยไม่จำเป็นต้องใช้พื้นที่มากนัก แต่เน้นการผลิตแบบประณีต ก็จะมีรายได้ที่เพียงพอ ตัวอย่างเช่นการปลูกพืชผักประเภทกินใบในโรงเรือนมาตรฐาน ขนาด 180 ตารางเมตร สามารถทำรายได้มากกว่า 6-7 หมื่นบาทต่อปี ซึ่งสูงกว่าการใช้พื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จำนวนมากกว่า 10 ไร่ นอกจากนี้ควรให้มีพื้นที่สำหรับการปลูกข้าวเพื่อบริโภคในครัวเรือนด้วย
ในพื้นที่ดำเนินงานของสถาบันหลายแห่ง พบปัญหาพื้นที่ของเกษตรกรแต่ละรายมีข้อจำกัดในการปลูกพืชผัก เช่น ลาดชันมากเกินไป หรือขาดน้ำ จะทำการแก้ใขด้วยการหาพื้นที่ที่เหมาะสม เพื่อเป็นแปลงรวมให้เกษตรกรแต่ละรายเข้ามาใช้ร่วมกันเป็นกลุ่มเกษตรกร ซึ่งจะสะดวกต่อการพัฒนาปัจจัยพื้นฐานต่างๆ เช่น เส้นทางขนส่ง แหล่งน้ำ โรงรวบรวมผลผลิตและคัดบรรจุ ห้องปฏิบัติการวิเคราะห์สารตกค้างในผลผลิต และยังสะดวกต่อการส่งเสริมของเจ้าหน้าที่
2. การวางแผนการผลิตและตลาด
ความสำเร็จของการทำการเกษตร คือเกษตรกรจะต้องสามารถขายผลผลิตได้ และราคาเป็นธรรม การส่งเสริมอาชีพแก่เกษตรกรในพื้นที่ดำเนินงานของโครงการหลวงหรือสวพส. จะยึดหลักตลาดนำการผลิตเสมอ หรือเป็นพืชหรือพันธุ์ใหม่ จะเริ่มส่งเสริมจากจำนวนที่ไม่มาก ควบคู่กับการสร้างตลาด สำหรับพืชผักเป็นพืชที่มีช่วงเวลาสั้นมาก ในการเก็บเกี่ยวเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพตามที่ตลาดต้องการ จึงต้องมีการวางแผนการผลิตและการตลาดให้สัมพันธ์กัน
2.1 การวางแผนการผลิต ต้องเลือกชนิดและพันธุ์ของพืชผักที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และภูมิอากาศ โดยหลักที่นิยมใช้กันคือพิจารณาจากความสูงของพื้นที่จากระดับน้ำทะเลปานกลาง แม้ว่าพืชผักส่วนใหญ่จะปลูกได้หลายระดับความสูงของพื้นที่ แต่จะให้ผลผลิตที่คุณภาพดีเฉพาะในพื้นที่เหมาะสม หรือในบางช่วงเวลา ตัวอย่างเช่น ผักกาดหอมห่อจะปลูกได้ดีในพื้นที่สูงประมาณ 1,000 เมตร ส่วนพื้นที่ต่ำจะได้เฉพาะในฤดูหนาว และต้องการวางแผนผลิตให้มีปริมาณคุ้มค้าต่อการขนส่ง ซึ่งการรวมกลุ่มของเกษตรกรจะช่วยให้มีผลผลิตเพียงพอ การมีข้อมูลที่ดีจะช่วยให้สามารถวางแผนการผลิตได้อย่างแม่นยำ เช่น การปลูกผักกาดหวานในโรงเรือนขนาดมาตรฐาน 6x30 เมตร ใช้เวลาเพาะกล้า 21 วัน และปลูก 24-27 วัน โดยใช้ต้นกล้า จำนวน 3,000 ต้น ระยะปลูก 20 x 20 เซนติเมตร จะได้ผลผลิตที่คุณภาพดี จำนวน 200 – 300 กิโลกรัม
2.2 การวางแผนการตลาด ต้องหาความต้องการของตลาดล่วงหน้า ทั้งปริมาณ คุณภาพ และช่วงเวลา ในกรณีที่สามารถเป็นตลาดแบบข้อตกลงได้ช่วยลดความเสี่ยง ในช่วงฤดูกาลที่สภาพแวดล้อมเหมาะสม เช่น ฤดูหนาว ผลผลิตมักจะมากเกินความต้องการ แต่ในฤดูกาลที่มีข้อจำกัด เช่น ฤดูร้อนที่ขาดน้ำและอากาศไม่เหมาะ หรือ ฤดูฝนที่ฝนชุกมากๆ ผลผลิตมักจะมีปริมาณและคุณภาพต่ำลง แต่ตลาดมีความต้องการและราคาสูง การใช้วิธีการเพาะปลูกแบบประณีด จะช่วยแก้ปัญหาและสร้างโอกาสได้ นอกจากนี้ยังต้องดูถึงการแข่งขันจากของนำเข้า ซึ่งส่วนใหญ่มาจากประเทศจีนด้วย
3. การเพาะปลูกภายใต้ระบบมาตรฐานอาหารปลอดภัย
ความปลอดภัยของผลผลิต เป็นความรับผิดชอบสูงสุดของเกษตรกร และปัจจุบันเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญมาก พืชผักที่ปลูกภายใต้ระบบการเพาะปลูกที่ดี (GAP) และระบบเกษตรอินทรีย์ จะเป็นจุดแข็งและเพิ่มโอกาสทางการตลาด โดยเฉพาะความตะหนักเรื่องสุขภาพ และการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในปัจจุบัน ระบบมาตรฐานอาหารปลอดภัยจะช่วยลดปัญหาการใช้สารเคมีทางการเกษตร และใช้ร่วมกับระบบการปลูกพืชในโรงเรือนและการใช้ชีวภัณฑ์ จะยิ่งลดการใช้ได้มากยิ่งขึ้น สำหรับระบบเกษตรอินทรีย์นั้นไม่ใช้สารเคมีอย่างสิ้นเชิง แต่จากสภาพแวดล้อมของไทยที่ร้อนชื้น การระบาดของโรคและแมลงจึงมากกว่าปกติ ทำให้มีข้อจำกัดในการผลิตพืชผักบางชนิดให้ได้คุณภาพตรงตามความต้องการตลาด โดยรวมและปัจจุบันจึงเป็นการผลิตพืชผักที่ปลูกภายใต้ระบบการเพาะปลูกที่ดี (GAP) ร้อยละ 90 และระบบเกษตรอินทรีย์ ร้อยละ 10
4. การเลือกพันธุ์และผลิตต้นกล้าแบบประณีต
ความแม่นยำของผลผลิตที่จะออกสู่ตลาดทั้งช่วงเวลาและปริมาณ พื้นฐานสำคัญอยู่ที่การผลิตต้นกล้าให้ได้ตรงตามพันธุ์ ปริมาณ และช่วงเวลาปลูกที่ต้องการ ความผิดพลาดที่พบบ่อยๆ ได้แก่ ต้นกล้าไม่งอก เสียหายระหว่างผลิต หรือมีปริมาณมากไปน้อยไป การผลิตต้นกล้าแบบประณีตโดยใช้วัสดุปลูกที่ดี ในถาดหลุม ในโรงเรือนเพาะกล้า เป้นวิธีการที่ดีมาก ช่วยให้ได้ต้นกล้าที่คุณภาพสูง มีจำนวน และระยะเวลาที่แน่นอน รวมทั้งยังช่วยให้ใช้เมล็ดพืชผักพันธุ์ดีซึ่งมีราคาสูงได้อย่างคุ้มค่า
5. โรงเรือนหัวใจของคุณภาพและความปลอดภัย
ภายใต้สภาพอากาศร้อนและฝนตกชุกของไทย นอกจากจะทำให้มีการระบาดของโรคแมลงมาก ยังทำให้สภาพภูมิอากาศที่แปรปรวน ส่งผลกระทบต่อการปลูกพืช เช่น ฝนตกหนักทำให้ต้นพืชได้รับความเสียหาย หรือได้รับน้ำมากเกินไป มีเมฆมากจนไม่มีแสงให้พืชได้สร้างอาหารเพื่อเจริญเติบโต ในขณะที่พอถึงฤดูแล้ง ก็มีแมลงเข้าทำลาย จนไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลิตผลได้ การปลูกผักในโรงเรือนจึงเป็นวิธีการที่นิยมใช้บนพื้นที่สูง เพราะนอกจากจะช่วยแก้ไขปัญหาข้างต้นได้ดี ยังมีประโยชน์อีกมาก คือใช้พื้นที่น้อยแต่ได้ผลตอบแทนที่สูง มากกว่าการปลูกนอกโรงเรือนประมาณ 2-5 เท่า สามารถควบคุมการผลิตได้ค่อนข้างแม่นยำและผลผลิตมีคุณภาพดี ช่วยลดการใช้สารเคมีในกระบวนการผลิตมากถึง 30-50 % ลดการใช้สารป้องกันและกำจัดวัชพืชได้ร้อยละ 100 ควบคุมการใช้น้ำและปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพ และแก้ปัญหาเรื่องของสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมได้
โครงการหลวงได้พัฒนารูปแบบโรงเรือนที่ใช้ให้มีความหลากหลาย เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ และการใช้ประโยชน์ เช่น โรงเรือนใหญ่แบบทรงกอไก่ ขนาดกว้าง 6 เมตร โรงเรือนเล็กทรงหลังคาโค้ง ขนาดกว้าง 3 เมตร ซึ่งใช้สำหรับพื้นที่ลาดชันน้อยหรือเป็นพื้นที่ราบ และมักจะใช้เพาะปลูกผักใบเป็นหลัก และโรงเรือนแบบผืนกว้างทรงหมาแหงน สำหรับพื้นที่ค่อนข้างลาดชัน ไม่สามารถปรับพื้นที่ การสร้างโรงเรือนแต่ละแบบสามารถทำเป็นแบบถาวร โครงสร้างเหล็ก มีต้นทุนการก่อสร้างประมาณ 250-350 บาทต่อตารางเมตร มีอายุการใช้งาน 15-20 ปี และโรงเรือนแบบโครงสร้างโรงเรือนที่ทำจากลำไม้ไผ่หรือไม้จริงจะมีต้นทุนการก่อสร้างประมาณ 70-100 บาทต่อตารางเมตร มีอายุการใช้งานประมาณ 3 ปี ความยาวของโรงเรือนขึ้นอยู่กับสภาพของพื้นที่ แต่โดยทั่วไปจะให้ยาว จะเริ่มที่ 24 หรือ 30 เมตร โดยมีระห่างระหว่างเสา 3 เมตร เพื่อให้ใช้ประโยชน์จากพลาสติกที่ยาว 100 เมตรต่อม้วนได้พอดี ในโรงเรือนขนาดกว้าง 6 เมตร จะทำเป็นปลูกภายในได้ 4 แปลง ส่วนโรงเรือนขนาดขนาดกว้าง 3 เมตร จะได้ 2 แปลง ชนิดพืชที่ปลูกก็จะเป็นตัวกำหนดด้วยว่า จะต้องทำโรงเรือนอย่างไร เช่น พืชตระกูลสลัดที่ส่วนใหญ่ไม่ชอบความชื้นสูงๆ ในพื้นที่ที่มีฝนตกมาก โรงเรือนเป็นสิ่งจำเป็น โดยในพื้นที่สูงกว่า 800 เมตรจากระดับน้ำทะเล โรงเรือนอาจไม่จำเป็นต้องมีมุ้งตาข่าย เพราะแมลงจะน้อย แต่ในพื้นที่ต่ำลงมา สภาพอากาศร้อน จำเป็นต้องมีมุ้งตาข่ายเพื่อป้องกันแมลงพวกเพลี้ยไฟและมวนเข้าทำลาย พลาสติกสำหรับมุงหลังคา เป็นปัจจัยสำคัญ มีทั้งชนิดที่มีความหนา 100 และ150 ไมครอน แต่ต้องผสมสารป้องกัน UV 3-5 % ซึ่งมีอายุการใช้งานเฉลี่ยประมาณ 3 ปี สำหรับขนาดตั้งแต่ 3 เมตร ถึง 6 เมตร ส่วนมุ้งตาข่ายด้านข้างโรงเรือนมีเพื่อป้องกันแมลง มีขนาดตั้งแต่ 16, 20, 24, 32, 40 ตาต่อตารางนิ้ว หรือที่เรียกว่า เมช (mesh ) ขึ้นอยู่กับว่าต้องการป้องกันแมลงอะไร ปลูกพืชอะไร และมีสภาพแวดล้อมอย่างไร โดยทั่วไป ยิ่งมีตาถี่มากเท่าไหร่ก็จะทำให้ภายในโรงเรือนร้อนและความชื้นสูงขึ้น แม้ว่าจะช่วยป้องกันแมลงส่วนใหญ่ได้ แต่ก็ยังมีแมลงขนาดเล็ก เช่น เพลี้ยไฟ ไร เพลี้ยอ่อน ด้วงหมัดผัก ฯลฯ ที่ยังสามารถเล็ดรอดเข้าไปได้
6. การปลูกและดูแลรักษาอย่างประณีต
การปลูกพืชผักด้วยวิธีการที่ประณีต เน้นการทำการผลิตที่ให้ได้ผลตอบแทนต่อพื้นที่สูง โดยผลผลิตทั้งหมดมีคุณภาพดีและขายได้ โดยเริ่มจากการปลูกในพื้นที่ที่ควบคุมสภาพแวดล้อมได้ คือในโรงเรือน ใช้ต้นกล้าที่คุณภาพดีสม่ำเสมอกัน ปลูกอย่างเป็นระบบระเบียบเพื่อให้ทุกต้นมีพื้นที่และได้รับสภาพแวดล้อมที่เหมือนกัน ให้น้ำและปุ๋ยอย่างทั่วถึงและสม่ำด้วยการให้ปุ๋ยทางระบบการน้ำ และการดูแลและป้องกันกำจัดศัตรูพืชอย่างใกล้ชิด สำหรับพืชผักใบส่วนใหญ่จะปลูกลงแปลงโดยตรง สำหรับผักผล เช่น พริกหวาน และมะเขือเทศ นิยมที่จะปลูกในวัสดุปลูก (Substrate culture) สำหรับระบบการให้ปุ๋ยที่ใช้ได้ดีและเป็นที่นิยมมาก คือการให้ปุ๋ยที่เป็นแม่ปุ๋ยผสมและให้ทางระบบน้ำ ที่เรียกกันว่าปุ๋ย A และปุ๋ย B
7. การจัดการหลังเก็บเกี่ยวและการตลาดที่ดี
นอกจากการผลิตในแปลงปลูกอย่างประณีตและปลอดภัยแล้ว ต้องมีการเก็บเกี่ยวและการจัดการหลังเก็บเกี่ยวที่ดี ซึ่งประกอบด้วยการรวบรวมและคัดคุณภาพของผลผลิตให้เป็นไปตามที่กำหนด การบรรจุหีบห่อ และการขนส่งไปสู่ตลาด ซึ่งกระบวนการทั้งหมดต้องทำอย่างประณีตและรวดเร็ว เพื่อให้ผลผลิตถึงตลาดและผู้บริโภคด้วยคุณภาพดีที่สุด สำหรับในพื้นที่โครงการหลวงและสถาบันยังมีขั้นตอนการตรวจสอบความปลอดภัยของผลผลิต โดยมีการตรวจสารเคมีตกค้างทั้งในขั้นตอนก่อนและหลังเก็บเกี่ยว การจัดการหลังการเก็บเกี่ยวที่เป็นระบบแบบนี้จำเป็นต้องมีโครงสร้างพื้นฐานรองรับ เช่น โรงคัดบรรจุ ห้องเย็น ห้องวิเคราะห์สารเคมี หรือรถขนส่งผลผลิต ซึ่งแนวทางที่จะดำเนินการได้เกษตรกรควรรวมกันเป็นวิสาหกิจชุมชนหรือสหกรณ์ เพื่อให้รัฐสามารถให้สนับสนุนได้ง่าย รวมถึงการขอรับรองมาตรฐาน
การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ความใส่ใจและห่วงใยสุขภาพของผู้บริโภคในปัจุบันนี้ พืชผักจะเป็นอาหารอันดับแรกๆที่มีความสำคัญ แต่เกษตรกรจะสามารถปลูกพืชผักเป็นอาชีพอย่างมั่นคงได้ ความปลอดภัยของผลผลิต และการเพาะปลูกแบบประณีต เป็นสิ่งที่จะต้องคำนึงถึงอยู่เสมอ ทั้งนี้เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันทางการตลาด และความพร้อมสำหรับรองรับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เช่น สภาพภูมิอากาศ การเสื่อมโทรมและจำกัดของทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของกฏและกติกาการค้าต่างๆที่จะเกิดขึ้นในอนาคต