การประชุมคณะกรรมการประสานงานและสนับสนุนงานโครงการหลวง (กปส.)

การประชุมคณะกรรมการประสานงานและสนับสนุนงานโครงการหลวง (กปส.)
ครั้งที่ 1/2564 วันพุธที่ 7 กรกฎาคม 2564 เวลา 09.30 น.

 

วันที่ 7 กรกฎาคม 2564 เวลา 09.30 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการประสานงานและสนับสนุนงานโครงการหลวง (กปส.) ครั้งที่ 1/2564 ผ่านระบบ VDO conference เพื่อรับทราบผลการดำเนินงานของส่วนราชการต่าง ๆ ที่สนับสนุนงานโครงการหลวง รวมทั้งพิจารณาแผนงานสนับสนุนโครงการหลวง โดยมีนายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี ประธานกรรมการมูลนิธิโครงการหลวง พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง นายอำพน กิตติอำพน องคมนตรี ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง นางมิ่งขวัญ วิชยารังสฤษดิ์ ประธานกรรมการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง นายทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายวิรัตน์ ปราบทุกข์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง และคณะกรรมการจากหน่วยงานต่าง ๆ อีกกว่า 20 ท่าน เข้าร่วมประชุม

องคมนตรี ประธานกรรมการมูลนิธิโครงการหลวง ได้กล่าวขอขอบคุณรัฐบาล และหน่วยงานทุกภาคส่วน ที่ให้การสนับสนุนการปฏิบัติงานของมูลนิธิโครงการหลวงอย่างดียิ่งตลอดระยะเวลากว่า 52 ปีที่ผ่านมา ด้วยสิ่งสำคัญที่ทำให้มูลนิธิโครงการหลวงประสบความสำเร็จในการพัฒนาพื้นที่สูง คือ ความร่วมมือจากบุคคล และภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อสนองพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร นับจากการเสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมราษฎรทางภาคเหนือ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จัดตั้งโครงการหลวงขึ้น ในปีพุทธศักราช 2512 ด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ โดยได้มีการสนับสนุนทั้งจากมิตรประเทศ และความร่วมมือของเหล่านักวิชาการอาสาสมัคร ต่อมาได้พระราชทานเงินเป็นทรัพย์สินเริ่มแรกเมื่อเปลี่ยนสถานะภาพเป็นมูลนิธิในปีพุทธศักราช 2535 อีกจำนวน 500,000 บาท คณะรัฐมนตรีจึงมีมติจัดสรรงบประมาณสนับสนุนตั้งแต่ปี 2536 เป็นต้นมา พร้อมแต่งตั้ง คณะกรรมการประสานงานและสนับสนุนงานโครงการหลวง หรือ กปส. โดยนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ และมอบให้สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (สวพส.) ทำหน้าที่ประสานและรับโอนงานบางส่วนจากมูลนิธิไปดำเนินการ

บทบาทของมูลนิธิโครงการหลวง จากพระบรมราโชบายในคราวประชุมคณะกรรมการสามัญประจำปี เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2536 ความตอนหนึ่งว่า “...มูลนิธิฯ ควรสืบทอดเจตนารมณ์ที่เคยมีมา ก็คือ บุกเบิกงานพัฒนา และอุ้มชูหน่วยราชการที่ถูกจำกัดด้วยระเบียบราชการ เมื่อหน่วยราชการมีประสบการณ์ และรับไปทำได้ ก็น่าจะต้องปล่อยให้หน่วยราชการทำต่อไป การวัดผลงานก็คือ ทำให้ประชาชนกินดีอยู่ดีมากขึ้น...” ปัจจุบันพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชปณิธานแน่วแน่ ที่จะสืบสาน รักษา และต่อยอดงานโครงการหลวง เพื่อประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติส่วนรวม การพัฒนาพื้นที่สูงจึงดำเนินอย่างต่อเนื่องเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของราษฎรตามแบบโครงการหลวงโมเดล ในพื้นที่โครงการหลวง 39 แห่ง และพื้นที่ขยายผลการพัฒนาตามแบบโครงการหลวง โดย สวพส. อีก 44 แห่ง ครอบคลุม 10 จังหวัด 1,116 กลุ่มบ้าน จำนวนประชากรที่ได้รับประโยชน์ 509,004 คน คิดเป็นร้อยละ 47.55 ของจำนวนประชากรบนพื้นที่

 

โดยที่ประชุมในวันนี้ได้เห็นชอบการสนับสนุนแผนกลยุทธ์ของมูลนิธิโครงการหลวง ระยะ 5 ปี พ.ศ.2566-2570 และเห็นชอบแผนปฏิบัติการ ระยะ 5 ปี พ.ศ.2566-2570 ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาพื้นที่สูงอีก 3 แผนงาน และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปสู่การปฏิบัติที่เป็นจริงตามบทบาทหน้าที่ โดยแผนกลยุทธ์ของมูลนิธิโครงการหลวง จำนวน 6 กลยุทธ์ จะเป็นกรอบการปฏิบัติงานภายในของมูลนิธิโครงการหลวง ซึ่งมีความสอดคล้องกับเป้าหมายของแผนยุทธศาสตร์ชาติ นำมาสู่แผนที่ 2 คือ แผนปฏิบัติการพัฒนาพื้นที่โครงการหลวง มีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่โครงการหลวงสู่ความยั่งยืน โดยงบประมาณส่วนใหญ่ใช้เพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการยกระดับคุณภาพชีวิต แผนที่ 3 คือ แผนปฏิบัติการโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง ซึ่งจัดทำขึ้นในรูปแบบเดียวกับแผนปฏิบัติการพัฒนาพื้นที่โครงการหลวง เพื่อดำเนินงานในพื้นที่ขยายผลตามแบบโครงการหลวงที่เรียกว่า โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง โดยสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (สวพส.) และแผนที่ 4 คือ แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นแผนฏิบัติการฯ เพื่อการแก้ปัญหาบนพื้นที่สูงในกรอบใหญ่ของประเทศ โดยการประสานความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการสนับสนุนงบประมาณ และการดำเนินการ ให้ทั่วถึง มุ่งเน้นการขยายการพัฒนาตามรูปแบบโครงการหลวงโมเดล และการประสานประโยชน์จากทุกภาคส่วนไปยังพื้นที่สูงต่าง ๆ ของประเทศ โดยภายใน 5 ปีนี้ มีเป้าหมายครอบคลุม 3,230 กลุ่มบ้าน ใน 18 จังหวัด คิดเป็นร้อยละ 76.82 ของพื้นที่สูงในประเทศ

 

นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานการประชุม ได้สรุปในตอนท้ายของการประชุมว่า สิ่งสำคัญคือ การขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่ได้รับพระราชทาน ซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับโลก และมีความสอดคล้องกับเป้าหมาย SDGs เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาที่จะนำไปสู่ความยั่งยืน โดยรูปแบบการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง ที่สั่งสมมา 52 ปี ได้สร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมที่แก้ปัญหาและรองรับการเปลี่ยนแปลงบนพื้นที่สูง จนเกิดผลงานที่เป็นผลิตภัณฑ์มากมายวางจำหน่ายในประเทศ ลดการนำเข้า ซึ่งต้องผลักดันการวิจัยให้มากขึ้น เพื่อนำไปสู่การยกระดับความเป็นอยู่ครัวเรือนเกษตรกร บรรลุเป้าหมายที่วางไว้คือครัวเรือนเกษตรกรมีรายได้สูงกว่าเส้นความยากจน และเกิดการกระจายการพัฒนาอย่างทั่วถึง พร้อมยกระดับการอนุรักษ์ ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อให้ถูกต้องตามกฎหมายและหลักวิชาการ และพัฒนาสู่ชุมชนคาร์บอนต่ำ โดยปรับระบบการเกษตรเพื่อลดการเผา ลดการใช้สารเคมี เพิ่มพื้นที่สีเขียวโดยการปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง เป้าหมาย “คาร์บอนซีโร่” ในปี 2580 การดำเนินการเพื่อลดภาวะโลกร้อน ป้องกันโรคระบาด เป็นวาระแห่งชาติและวาระสำคัญของโลก จึงต้องอาศัยความร่วมมือในการทำงานเพื่อสนองในพระมหากรุณาธิคุณและพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยมุ่งเน้นการใช้จ่ายงบประมาณอย่างคุ้มค่า เกิดประโยชน์สูงสุด และขยายผลการทำงานแบบโครงการหลวงเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนให้เกิดความยั่งยืนตลอดไป

 

กิจกรรม สวพส. เพิ่มเติม