วันที่ 13 กันยายน 2564 สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. ร่วมกับ กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ หรือ TICA และมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ หรือ มร.ชม. จัดงานสัมมนานานาชาติออนไลน์“Sustainable Highland Development: Challenges & Responses to COVID-19 and the Application of Sufficiency Economy Philosophy”เพื่อถ่ายทอดแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (SEP) ไปยังกลุ่มประเทศอาเซียนและเอเชียใต้
การจัดสัมมนาออนไลน์นานาชาติ International Online Seminar Course “Sustainable Highland Development: Challenges & Response to Covid-19 and the Application of Sufficiency Economy Philosophy จัดขึ้นระหว่างวันที่ 13 - 16 กันยายน 2564 ณ ห้องประชุมสะลวง มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ วิทยาเขตสะลวง อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ โดยมี 6 ประเทศ เข้าร่วมการสัมมนา คือ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ติมอร์-เลสเต ศรีลังกา อินเดีย ภูฏาน และเนปาล เพื่อเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการพัฒนาพื้นที่สูงตามแนวทางโครงการหลวงและหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของไทยกับนานาประเทศ
นายวิรัตน์ ปราบทุกข์ ผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. กล่าวว่า สวพส. ได้น้อมนำแนวทางการพัฒนาพื้นที่สูงตามแนวทางโครงการหลวง และหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางในการดำเนินงาน เพื่อสร้างความสมดุลของการพัฒนาพื้นที่สูงในทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม มุ่งพัฒนาคนให้เป็นศูนย์กลางของการพัฒนา ยึดหลักการทรงงาน เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา เน้นการบูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ สร้างความพร้อมการรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ เช่น การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ในปัจจุบัน
หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ชี้ถึงแนวทางการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปในทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์ ความพอเพียง หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควร ต่อการมีผลกระทบใด ๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน ทั้งนี้ จะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังอย่างยิ่งในการนำวิชาการต่าง ๆ มาใช้ในการวางแผนและการดำเนินการทุกขั้นตอน และขณะเดียวกัน จะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎี และนักธุรกิจในทุกระดับ ให้มีสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต และให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติปัญญา และความรอบคอบ เพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง ทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี
นายวิรัตน์ กล่าวทิ้งท้ายว่า เป้าหมายสำคัญในอนาคตของ สวพส. คือการเป็นศูนย์เรียนรู้ด้านการวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน เพื่อเผยแพร่และแบ่งปันองค์ความรู้และประสบการณ์ด้านการวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืนตามแนวทางโครงการหลวง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างเท่าเทียม เป็นการสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ ดังนั้น การร่วมจัดสัมมนานานาชาติครั้งนี้ จึงเป็นเหมือนการฝึกงานที่สำคัญของสวพส. ให้มีโอกาสในการเรียนรู้จากประเทศต่าง ๆ และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนร่วมงาน และผู้เข้าร่วมสัมมนาจากนานาประเทศ องค์ความรู้และประสบการณ์ด้านการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืนตามแนวทางโครงการหลวง ที่ สวพส. จะแบ่งปันนั้น จะมีประโยชน์ต่อผู้เข้าร่วมสัมมนาทุกท่าน