สวพส. ให้ความสำคัญกับการพัฒนาแหล่งน้ำและระบบกระจายน้ำขนาดเล็กเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง ลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และนำองค์ความรู้งานวิจัยและพัฒนาโครงการหลวง เข้าไปส่งเสริมเพื่อสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมบนพื้นที่สูง ภายใต้แนวคิดการจัดการน้ำอย่างมีส่วนร่วม คำนึงถึงการดำเนินงานการพัฒนาแหล่งน้ำอย่างรวดเร็ว เร่งด่วน ทันท่วงที ใช้งานได้จริง และเกิดประโยชน์ต่อชุมชนสูงสุด ทำให้ในปี 2564 สวพส. ได้รับรางวัล “ผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้านน้ำ ประจำปี 2564” จาก สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบให้กับผู้มีบทบาทสำคัญด้านการพัฒนาและขับเคลื่อนการคิดการจัดการน้ำอย่างมีส่วนร่วม โดยเน้นกระบวนการชุมชนให้เข้ามามีบทบาทร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ ร่วมขับเคลื่อน ร่วมบริหารจัดการการใช้น้ำ ภายใต้ระเบียบกฎหมาย เพื่อสร้างความสมดุลในการพัฒนาที่ยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
รางวัลผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้านน้ำ โดย สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) มอบให้กับผู้นำที่เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง มีผลงานเป็นที่ประจักษ์แก่สังคม มีบทบาทสำคัญด้านน้ำประเภทบุคคลและประเภทกลุ่มบุคคล เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการทำงานของทุกภาคส่วนในสังคมให้ตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรน้ำ และร่วมกันอนุรักษ์ ฟื้นฟู และพัฒนาการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรน้ำอย่างบูรณาการตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านน้ำ (SDG6: Clean Water & Sanitation) ขององค์การสหประชาชาติ
โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงแม่มะลอ อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ เป็นหนึ่งตัวอย่างการดำเนินงานของ สวพส.ที่เป็นรูปธรรมด้านการพัฒนาทรัพยากรน้ำแก่ชุมชนบนพื้นที่สูง สะท้อนการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า เกิดการยกระดับการร่วมลงมือปฏิบัติของทุกภาคส่วน และการกระตุ้นศักยภาพผู้นำเกษตรกร กลุ่มสถาบันเกษตรกร ให้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนงานในพื้นที่ได้อย่างเข้มแข็งและพัฒนาต่อยอดด้านอาชีพและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน จึงได้รับคัดเลือก รับโล่รางวัล “ผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้านน้ำ ประจำปี 2564” จำนวน 3 รางวัล ได้แก่
ด้านการจัดการน้ำภาคครัวเรือน ชุมชนและเมือง
1) ประเภทบุคคล คือ นายบุญสี กาไว ผู้ใหญ่บ้านแม่วาก หมู่ที่ 6 ตำบลแม่นาจร อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ผลงาน “แม่วากโมเดล : หมู่บ้านเรียนรู้เรื่องการบริหารจัดการน้ำ”
2) ประเภทกลุ่มบุคคล คือ กลุ่มโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงแม่มะลอ ตำบลแม่นาจร อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ผลงาน “ชุมชนร่วมกันจัดการปัญหาขาดแคลนน้ำบนพื้นที่สูง ด้วยระบบทดน้ำข้ามดอยและความร่วมมือแบบพหุภาคีของชุมชนและหน่วยงาน”
ด้านน้ำกับประเพณี วัฒนธรรม ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
3) ประเภทกลุ่มบุคคล คือ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านแม่วาก ตำบลแม่นาจร อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ - ผลงาน “การพัฒนาแผนเชิงพื้นที่ แม่วากโมเดล ด้วยความร่วมมือและแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากทุกภาคส่วนกับการใช้แผนที่วางแผนการพัฒนาร่วมกัน(One map) เป็นหมู่บ้านเรียนรู้เรื่องการบริหารจัดการน้ำ”