สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. ร่วมกับ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จัดพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการในการวิจัยและพัฒนากัญชงและกัญชาของประเทศสู่การใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ตลอดจนผลักดันและยกระดับพืชกัญชา และกัญชงให้เป็นพืชเศรษฐกิจ สามารถสร้างรายได้ที่ยั่งยืนให้แก่เกษตรกร และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ
เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2565 นายวิรัตน์ ปราบทุกข์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นำโดย นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการในการวิจัยและพัฒนากัญชงและกัญชาของประเทศสู่การใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ในรูปแบบออนไลน์ โดยมี ดร.เพชรดา อยู่สุข รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง ด้านการพัฒนา , ดร.อัจฉรา ภาวศุทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัย , นายแพทย์พิเชฐ บัญญัติ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ , นางศิริวรรณ ชัยสมบูรณ์พันธ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสมุนไพร ร่วมเป็นสักขีพยาน
นายวิรัตน์ ปราบทุกข์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง เปิดเผยว่า สวพส. และมูลนิธิโครงการหลวง ได้ทำการวิจัยและพัฒนากัญชง (Hemp) เพื่อให้เป็นพืชเศรษฐกิจบนพื้นที่สูง มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2549 จนถึงปัจจุบัน และพัฒนาพันธุ์เพื่อให้มีสารเสพติดต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด การพัฒนาวิธีการเพาะปลูก การจัดทำระบบการปลูกภายใต้ระบบควบคุมเพื่อให้สามารถปฏิบัติได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย และสร้างการตลาด เพื่อให้สามารถปลูกเป็นอาชีพได้จริง ในช่วงแรกๆ มุ่งการใช้ประโยชน์จากเส้นใยสำหรับในครัวเรือน ต่อมาขยายการศึกษาวิจัยสู่การใช้ประโยชน์จากแกน ลำต้น เมล็ด และเส้นใยในเชิงอุตสาหกรรม และนำไปสู่การศึกษาวิจัยที่มุ่งการใช้ประโยชน์ครอบคลุมทุกส่วน ทั้งเส้นใย เมล็ด และช่อดอก สำหรับอาหาร เวชสำอาง และการแพทย์ ในขณะนี้
เพื่อให้กัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างประโยชน์อย่างแท้จริง สวพส. ในฐานะที่เป็นหน่วยงานหนึ่งที่ดำเนินการวิจัยและพัฒนาพืชกัญชงนี้ มีประเด็นที่จะให้ความสำคัญและดำเนินการในระยะต่อไป คือ (1) การปรับปรุงพันธุ์ให้ได้พันธุ์ที่มีสารสำคัญกลุ่ม Cannabidiol (CBD), Flavonoids หรือ Terpenes ในช่อดอกสูงสำหรับการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ อาหาร หรือเวชสำอาง (2) การผลิตสารสำคัญจากช่อดอก มุ่งวิจัยวิธีการปลูกและการกระตุ้นการออกดอกเพื่อให้ผลิตสารสำคัญจากช่อดอกได้อย่างมีคุณภาพและมีประสิทธิภาพ (3) การผลิตเมล็ดสำหรับการบริโภค มุ่งพัฒนาระบบการปลูก และความเป็นไปได้ทางธุรกิจ ให้สอดคล้องกับกฎหมายที่เปิดให้ใช้ประโยชน์เมล็ดเป็นอาหารและเครื่องสำอาง (4) การแปรรูปเส้นใย มุ่งปรับปรุงและพัฒนากระบวนการแปรรูปเส้นใยกัญชง เพื่อเป็นเครื่องแต่งกายทหาร อุตสาหกรรมสิ่งทออื่นๆ และผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ และ (5) การส่งเสริมเกษตรกรในพื้นที่เพื่อการผลิตเมล็ด และส่วนอื่น ๆ ของกัญชง เพื่อรองรับความต้องการของประชาชนและผู้สนใจ รวมทั้งการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาด้านการตลาด และนำข้อมูลของการวิจัยและพัฒนามาใช้สนับสนุนการแก้ไขกฎระเบียบ ข้อกำหนด และวิธีปฏิบัติให้เหมาะสม และสอดคล้องกับการพัฒนากัญชงสู่พืชเศรษฐกิจของประเทศไทยต่อไป
นายแพทย์พิเชฐ บัญญัติ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ความร่วมมือกันในครั้งนี้เป็นการบูรณาการการทำงานและการใช้ทรัพยากรร่วมกันเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการศึกษาวิจัยและพัฒนาต่อยอดงานวิจัยด้านกัญชง กัญชาอย่างครบวงจร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการการใช้โยชน์ทางการแพทย์ และร่วมกันนำองค์ความรู้ที่ได้จากงานวิจัยไปต่อยอดสู่การใช้ประโยชน์ทั้งในเชิงนโยบาย เชิงสาธารณะ และเชิงพาณิชย์ ตลอดจนถ่ายทอดเทคโนโลยีและส่งเสริมความร่วมมือทางวิชาการกับภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนของประเทศต่อไป