วันที่ 10 มีนาคม 2565 พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ประธานกรรรมการบริหาร มูลนิธิโครงการหลวง เป็นประธานการประชุม การจัดทำแผนปฏิบัติการของหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ซึ่ง มูลนิธิโครงการหลวง ร่วมกับ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) จัดขึ้น ณ ห้องประชุมราชพฤกษ์ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีผู้แทนจากกระทรวง กรม และหน่วยงานในกลุ่มงานต่าง ๆ ได้แก่ กลุ่มงานโครงสร้างพื้นฐาน กลุ่มงานอาชีพ กลุ่มงานสิ่งแวดล้อม กลุ่มงานสังคม สถาบันอุดมศึกษา รวมทั้งบุคลากรของมูลนิธิโครงการหลวง และสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูงร่วมประชุม
มูลนิธิโครงการหลวงได้ดำเนินงานพัฒนาชีวิตและความเป็นอยู่ของเกษตรกรชาวเขาบนพื้นที่สูง มานับแต่ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2512 โดยมีศูนย์พัฒนาโครงการหลวงซึ่งปัจจุบันมีจำนวน 39 แห่ง ในพื้นที่ 6 จังหวัดของภาคเหนือ รับผิดชอบในการปฏิบัติงานพัฒนาร่วมกับหน่วยงานต่างๆ และชุมชน และมีคณะทำงานสนับสนุนศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแต่ละแห่ง ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำหน้าที่ในการจัดทำแผนงาน โครงการ และแผนปฏิบัติงานประจำปีของศูนย์พัฒนาโครงการหลวง พร้อมทั้งให้คำปรึกษาแนะนำ และแก้ไขปัญหาต่างๆ เพื่อให้การดำเนินงานพัฒนาของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ตามแผนปฏิบัติการประจำปีของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงที่ได้ร่วมกันจัดทำขึ้น เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการหลวง คือ การพัฒนาพื้นที่สูงเกิดความยั่งยืนโดยชุมชนชาวเขาสามารถพึ่งพาตนเองได้ และพัฒนาศูนย์พัฒนาโครงการหลวงต่างๆ เป็นศูนย์เรียนรู้การพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาพื้นที่สูงอื่นอีกมาก การจัดทำแผนปฏิบัติการเชิงบูรณาการประจำปีของศูนย์พัฒนาโครงการหลวง จึงมีความสำคัญและเป็นกิจกรรมที่มูลนิธิโครงการหลวงดำเนินการเป็นประจำทุกปี
ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 มูลนิธิโครงการหลวง ร่วมกับสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวน 31 หน่วยงาน ซึ่งเป็นหน่วยงานที่สนับสนุนการปฏิบัติงานของศูนย์พัฒนาโครงการหลวง ได้ร่วมกันจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “การจัดทำแผนปฏิบัติการของหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565” เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ ได้ร่วมกันจัดทำแผนปฏิบัติงานของศูนย์พัฒนาโครงการหลวง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 สำหรับใช้เป็นเครื่องมือช่วยประสานงานของคณะทำงานศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทั้ง 39 แห่ง เพื่อให้การพัฒนา ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และบรรลุวัตถุประสงค์ของมูลนิธิโครงการหลวง คือ การมุ่งมั่นสืบสานพระราชปณิธานในการพัฒนาทางเลือกอย่างยั่งยืนบนพื้นที่สูง ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้ชุมชนมีความมั่นคง ในมิติเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ประชาชนอยู่ดีมีสุข เกิดเป็นโครงการหลวงโมเดล มุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (UN-SDGs) และสอดรับกับยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาพื้นที่สูงต่อไป