สวพส. นำเยาวชน เข้ากิจกรรม "Youth Vaccination" CND 65

มูลนิธิโครงการหลวง ร่วมกับ สำนักงาน ปปส. และ สวพส.

จัดกิจกรรมคู่ขนานรูปแบบออนไลน์ ในหัวข้อ “Youth Vaccination: Equipping to Build Youth’s Life Immunity to Cope with Changes and Risky Behaviour”

(การสร้างภูมิให้แก่เยาวชน เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลง และพฤติกรรมเสี่ยง)

ในห้วงการประชุมคณะกรรมาธิการยาเสพติด (CND) สมัยที่ 65

          เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2565 เวลา 19.00 น. พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง กล่าวอภิปรายในกิจกรรมคู่ขนานรูปแบบออนไลน์ ในหัวข้อ “Youth Vaccination: Equipping to Build Youth’s Life Immunity to Cope with Changes and Risky Behaviour” (การสร้างภูมิให้แก่เยาวชน เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลง และพฤติกรรมเสี่ยง) จัดโดย มูลนิธิโครงการหลวง ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (สำนักงาน ป.ป.ส.) และ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. ในห้วงการประชุมคณะกรรมาธิการยาเสพติด (CND) สมัยที่ 65 โดยมีผู้นำเยาวชนเกษตรโครงการหลวง จากสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง และ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงเลอตอ รวมทั้งผู้นำเยาวชนเกษตรจากโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงบ้านแม่แฮหลวง สวพส. ร่วมอภิปราย ถ่ายทอดสดผ่านระบบประชุมทางไกล ( VDO Conference ) ไปยังผู้ร่วมประชุม CND สมัยที่ 65 ทั่วโลก ระหว่างเวลา 19.10-20.00 น เวลาในประเทศไทย นอกจากนี้ พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง ยังร่วมกล่าวถ้อยแถลงในรูปแบบ VDO Statement ในนามประเทศไทย ในวาระที่ 9 การติดตามผลการทบทวนและการดำเนินงานตาม SDGs โดยนำเสนอแนวทางการดำเนินงานที่สอดคล้องกับ SDGs และมูลนิธิโครงการหลวงร่วมจัดแสดงนิทรรศการออนไลน์ เรื่อง Decoding the Royal Project : ถอดรหัสโครงการหลวง เพื่อนำแบบอย่างการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืนแบบโครงการหลวงในรูปแบบการพัฒนาทางเลือกทดแทนพืชเสพติดของประเทศไทยเผยแพร่ต่อชาวโลก 

          โดยมูลนิธิโครงการหลวง ได้นำเสนอโมเดลความสำเร็จในการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน ที่เกิดจากประสบการณ์ทำงานตลอดระยะเวลา 50 ปี ตามพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร                มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อแก้ปัญหาความยากจน การปลูกพืชเสพติด การทำเกษตรแบบเลื่อนลอย และการทำลายป่าต้นน้ำลำธาร จนมาถึงในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชปณิธาน สืบสาน รักษา และต่อยอด โดยยึดหลักตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ในการดำเนินงานอย่างเข้าใจ เข้าถึง ทำให้บรรลุผลสำเร็จสูงสุดในการพัฒนาพื้นที่สูงสู่ความยั่งยืน ครอบคลุมในทุกๆ มิติ โดยมูลนิธิโครงการหลวงมีจุดมุ่งหมายในการสร้างชีวิตใหม่ และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

          ด้วยพื้นที่ดำเนินงานของโครงการหลวงส่วนใหญ่ห่างไกล และอยู่ตามแนวเขตชายแดน จึงมีความเสี่ยงกับปัญหายาเสพติด และปัจจุบันยังมีสารเสพติดชนิดใหม่ที่ไม่ใช่ฝิ่นดังเช่นอดีต มูลนิธิโครงการหลวง โดยความร่วมมือของ สำนักงาน ปปส. และ สวพส. ได้จัดกิจกรรมภายใต้ “โครงการวัคซีนวัยรุ่น” เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันที่ดี ป้องกันปัญหาในกลุ่มเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการสร้างชุมชนเข้มแข็งสู่ความยั่งยืน เน้นการรู้เท่าทันปัญหาและพิษภัยของยาเสพติด ส่งเสริมการคิดวิเคราะห์เพื่อแก้ไขปัญหาในชุมชนของตนเอง เสริมสร้างทักษะและประสบการณ์ด้านอาชีพตามความถนัดและความสนใจ เพื่อสร้างรายได้ โดยเริ่มจากกลุ่มเยาวชนต้นแบบ แล้วจึงถ่ายทอดประสบการณ์ไปสู่กลุ่มเยาวชนอื่น ๆ ต่อไป

          ผลสำเร็จในการแก้ไขปัญหาการปลูกฝิ่นด้วยการพัฒนาทางเลือกและยั่งยืนตามแนวทางโครงการหลวง ได้รับการยอมรับและเชื่อถืออย่างกว้างขวางทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ สามารถนำไปปฏิบัติได้จริงในทุกบริบทพื้นที่ ในประเทศไทย รัฐบาลได้มีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง สวพส.  เพื่อนำผลสำเร็จของโครงการหลวงไปขยายผลให้ครอบคลุมพื้นที่สูงอื่น ๆ ของประเทศ

          ทั้งนี้ด้านนาย สุรพล กลิ่นขจรไกล ผู้นำเยาวชนเกษตรกรโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงเพื่อแก้ปัญหาพื้นที่เฉพาะบ้านแม่แฮหลวง อำเภออมก่อย จังหวัดเชียงใหม่ ได้ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับที่ประชุมตอนหนึ่งว่า “พื้นที่ที่ผมอยู่เป็นถิ่นทุรกันดาร ยากแก่การเข้าถึงและไม่สามารถติดต่อกับโลกภายนอกได้ ส่งผลให้ชาวบ้านบางส่วนมีการปลูกฝิ่นและเสพติดฝิ่นเป็นจำนวนมาก เนื่องจากขาดความรู้ และไม่มีตัวเลือกอื่นในการทำงานหาเลี้ยงชีพ

          ต่อมา รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแล และหนึ่งในหน่วยงานที่เข้ามามีบทบาทในการหาวิธีแก้ไขปัญหาเรื่องการปลูกฝิ่น คือ สวพส. โดยส่งเสริมชาวบ้านให้ปลูกพืชตัวเลือกอื่น ๆ เพื่อทดแทนการปลูกฝิ่น เพื่อให้มีอาชีพสร้างรายได้ โดยสำรวจความเหมาะสมของพื้นที่ ลักษณะภูมิศาสตร์ เพื่อแนะนำพืชที่เหมาะสมกับพื้นที่ เมื่อปี พ.ศ. 2557- 2558 เจ้าหน้าที่ สวพส. ได้เข้ามาหาครอบครัวของผมและชักชวนให้ลองปลูกเสาวรสหวานซึ่งเป็นสิ่งใหม่มาก ๆ ในตอนนั้น พ่อผมตอบตกลง และทดลองปลูกเป็นคนแรก เพราะพ่ออยากลองปลูกอะไรใหม่ ๆ บวกกับตอนนั้นทางครอบครัวเป็นหนี้กับการทำการเกษตรแบบเดิม เลยลองเสี่ยงดู หลังจากลองผิดลองถูกสักพักก็ได้ผลผลิตออกมา แล้วก็นำไปขายได้กำไรและสามารถใช้หนี้ทั้งหมดตลอดสิบกว่าปีที่ผ่านมา

           นี่จุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ พอพ่อผมมีรายได้มากขึ้นเรื่อย ๆ ก็เริ่มมีคนเข้ามาถาม มาปรึกษา เกี่ยวกับการปลูก หลังจากนั้ันชาวบ้านก็สนใจมากขึ้นและเข้ามารวมกลุ่มกันปลูกเสาวรสหวาน ต่อมาก็มีปัญหาเกี่ยวกับการส่งขายผลผลิตสู่ตลาด ตอนนั้นผมกำลังเรียนอยู่มหาวิทยาลัย ปี 2 ได้ตัดสินใจลาออก เข้ามาช่วยเรื่องการหาตลาดร่วมกับเจ้าหน้าที่ สวพส. ผมชวนน้อง ๆ เยาวชนในพื้นที่เข้ามาช่วยดูแลงานของชุมชนร่วมกับเจ้าหน้าที่โครงการ ดูแลเรื่องการคัดเกรด การตลาด การขนส่งและคอยประสานงานระหว่างโครงการกับชาวบ้าน หลังจากนั้นก็มีชาวบ้าน เยาวชนจากชุมชนอื่น ๆ รอบ ๆ เริ่มสนใจอยากเข้าร่วม และงานพัฒนาก็ขยายไปยังชุมชนอื่น ๆ หลังจากที่ชาวบ้านหันมาปลูกพืชที่ สวพส. ส่งเสริมและมีรายได้มากขึ้น การปลูกฝิ่นก็ค่อย ๆ ลดลงเรื่อย ๆ และหายไปในที่สุด” นับเป็นตัวอย่างของการรวมกลุ่มเยาวชนเพื่อดำเนินกิจกรรมและเป็นกำลังในการทำกิจกรรมการพัฒนาต่าง ๆ ในชุมชน นอกจากนี้ยังมีงานอีกหลายด้านที่กำลังดำเนินการพัฒนาในชุมชน อย่างเช่น เรื่องสิ่งแวดล้อม การลดพื้นที่ทำไร่หมุนเวียนมาเพาะปลูกพืชที่เป็นไม้ยืนต้น สร้างพื้นที่สีเขียว ปลูกพืชที่ไม่ต้องปลูกซ้ำและย้ายพื้นที่บ่อย อย่างเช่น อะโวคาโด และการปลูกกาแฟใต้ร่มไม้ โดยไม่ต้องตัดหรือโค่นต้นไม้  ซึ่งเป็นการทำการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิงแวดล้อม อีกด้วย

https://www.facebook.com/watch/live/?ref=watch_permalink&v=539025897484837&t=1 

https://royalproject.org/cnd65exhibition/

https://youtu.be/s-6OPo2RplY?t=910

 

 

กิจกรรม สวพส. เพิ่มเติม