การประชุมคณะกรรมการประสานงานและสนับสนุนงานโครงการหลวง (กปส.) ครั้งที่ 1/2559

การประชุมคณะกรรมการประสานงานและสนับสนุนงานโครงการหลวง (กปส.) ครั้งที่ 1/2559

          พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางไปเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการประสานงานและสนับสนุนงานโครงการหลวง (กปส.) ครั้งที่ 1/2559 ในวันพุธที่ 27 เมษายน 2559 เวลา 09.30 น. ณ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีหม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ประธานมูลนิธิโครงการหลวง คณะกรรมการประสานงานและสนับสนุนงานโครงการหลวง (กปส.) และผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม  เพื่อหาแนวทางการสนับสนุนและพัฒนาโครงการหลวงให้เจริญก้าวหน้า ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จเจ้าอยู่หัว ในการส่งเสริมการปลูกพืชเมืองหนาว สร้างความเป็นอยู่ที่ดีแก่ชาวเขา

โดยนายกรัฐมนตรี ประธานคณะกรรมการ กปส. ได้กล่าวขอบพระทัยหม่อมเจ้าภีศเดช  รัชนี ประธานมูลนิธิโครงการหลวง ที่ให้การต้อนรับคณะกรรมการ กปส. อย่างเป็นกันเองและอบอุ่น หลังจากนั้นได้กล่าวเปิดประชุมและชื่นชมความสำเร็จผลการดำเนินงานของโครงการหลวง ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลได้น้อมนำพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและแนวทางการดำเนินงานของโครงการหลวงมาปรับใช้ โดยอาศัยความร่วมมือจากส่วนราชการและพลังประชารัฐ

          ที่ประชุมคณะกรรมการ กปส. ได้รับทราบผลการดำเนินงานของมูลนิธิโครงการหลวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ดำเนินงานในระหว่างปีงบประมาณ พ.ศ. 2555-2559 มีหน่วยงานร่วมสนับสนุนและบูรณาการทำงานร่วมกับโครงการหลวง และโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง จำนวน 23 หน่วยงาน ได้รับการสนับสนุนงบประมาณ 2,817 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 54.95 ของแผนแม่บท สำหรับผลการดำเนินงานของโครงการหลวงในปีงบประมาณ พ.ศ.2558 ได้มีขึ้นทะเบียนพันธุ์ไม้ผลจากกรมวิชาการเกษตร ได้แก่ เสาวรส พันธุ์เหลืองหวาน และ สตรอเบอรี่ พันธุ์พระราชทาน 88 จำนวนเกษตรกรในพื้นที่โครงการหลวงปลูกพืชเขตหนาวและกึ่งหนาว 206 ชนิด เกษตรกร 14,883 ครัวเรือน พื้นที่ปลูก 28,567 ไร่  โดยพืชอาหารทุกชนิดได้รับการรับรองมาตรฐานอาหารปลอดภัย ทั้งระบบการเกษตรที่ดี (GAP) และเกษตรอินทรีย์  ผลิตผลทางการเกษตรของเกษตรกร สินค้าแปรรูป และอื่นๆ ซึ่งจำหน่ายภายใต้ตรา “โครงการหลวง” ในปีงบประมาณ พ.ศ.2558 มีมูลค่า 1,197 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 13.44 ทั้งยังมีการดำเนินโครงการพัฒนาและติดตั้งระบบปฏิบัติงานการวางแผนการจัดการทรัพยากร หรือระบบ ERP ระยะที่ 2 โดยใช้ซอฟต์แวร์ SAP ในการพัฒนาระบบการปฏิบัติงานต่างๆ ของมูลนิธิโครงการหลวง นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือทางวิชาการกับนานาชาติ และการนำองค์ความรู้โครงการหลวงไปปรับใช้ในพื้นที่สูงอื่นๆ ที่เรียกว่า โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง จำนวน 40 แห่ง ประชากรเป้าหมาย 163,206 ราย นอกจากนี้ได้รับทราบความก้าวหน้าการขอเพิกถอนพื้นที่มูลนิธิโครงการหลวง และสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ออกจากเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย

          จากนั้นคณะกรรมการ กปส. ได้พิจารณาและเห็นชอบในหลักการ (ร่าง) แผนแม่บทศูนย์พัฒนาโครงการหลวง ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2560-2564) และแผนแม่บทโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2560-2564) โดยให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ ซึ่งแผนแม่บทดังกล่าวให้ความสำคัญเรื่องการบริหารจัดการน้ำ การอนุรักษ์ฟื้นฟูพื้นที่ป่าต้นน้ำ และสร้างคุณภาพชีวิตให้ชุมชนบนพื้นที่สูงให้มีความมั่นคงทางด้านอาหารและสามารถอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน รวมทั้งได้มีมติเห็นชอบในหลักการคำขอตั้งงบประมาณของหน่วยงานต่างๆ ที่สนับสนุนโครงการหลวง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2560 โดยมอบให้สำนักงบประมาณรับไปพิจารณาให้การสนับสนุนตามความเหมาะสมต่อไป

       ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้มอบนโยบายการทำงานและเร่งให้ส่วนราชการดำเนินการให้เป็นไปตามเป้าหมายและมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายงบประมาณ โดยให้มีความสอดคล้องกับ Road map ของรัฐบาล และดำเนินงานตามแนวทางของโครงการหลวงที่มีการดำเนินงานแบบครบวงจร ตั้งแต่การวิจัย การต่อยอดนวัตกรรม การส่งเสริม การเพิ่มคุณภาพผลผลิต และการเชื่อมโยงระบบการตลาด ซึ่งเป็นการพัฒนาชุมชนโดยการสร้างความเข้าใจและการยอมรับของชุมชน เน้นการบูรณาการร่วมกันกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน

          กล่าวขอบคุณหน่วยงานที่มาร่วมสนับสนุนงานโครงการหลวง ซึ่งเป็นการช่วยเหลือประชาชนบนพื้นที่สูงให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีอาชีพมั่นคง มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการปลูกพืชผักเขตหนาว และพืชที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ควบคู่กับการดูแลรักษาป่าต้นน้ำลำธารอย่างยั่งยืนต่อไป  

กิจกรรม สวพส. เพิ่มเติม