ถอดรหัส“BCG Model”เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานสู่การพัฒนา

สวพส. ถอดรหัส “BCG Model” เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

          คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2564 ให้การขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG Model) : โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นวาระแห่งชาติ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป และให้คณะกรรมการบริหารการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG Model) พิจารณากำหนดและดำเนินแผนงาน/โครงการต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการด้านการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564-2570

          อีกทั้ง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีแต่งตั้งคณะกรรมการ ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนา BCG Model ด้านการเกษตร โดยมีปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานกรรมการ เพื่อกำหนดแนวทาง มาตรการ และกลไกการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG ปี 2564 - 2570 ที่เกี่ยวข้องกับภาคการเกษตร รวมทั้งวางระบบการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

          สวพส. ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการนำ BCG Model มาปรับใช้ในองค์กร จึงมีความจำเป็นที่บุคลากรของ สวพส. จะต้องมีทักษะและมีความความเข้าใจเกี่ยวกับ BCG Model ซึ่งเป็นโมเดลเศรษฐกิจที่มีความสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และสอดรับกับหลักการของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (SEP) ซึ่งเป็นหลักสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย โดย BCG Model ทำหน้าที่บูรณาการการพัฒนาตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง ใช้องค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สร้างคุณค่าเพิ่ม (Value creation) จากฐานความหลากหลายของทรัพยากรชีวภาพและวัฒนธรรมด้วยกลไกจตุภาคี (Quadruple helix)

          สวพส. ได้จัดการบรรยายพิเศษ เรื่อง “BCG Model เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2565 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยได้รับเกียรติจาก คุณวัชริน มีรอด นักวิจัยนโยบายอาวุโส ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้และแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นร่วมกัน

          ดร.ทินรัตน์ พิทักษ์พงษ์เจริญ รองผู้อำนวยการสถาบันด้านบริหารจัดการ ให้เกียรติเป็นประธานเปิดการบรรยายพิเศษ ได้กล่าวถึงความสำคัญของ BCG Model ต่อการดำเนินงานของ สวพส. การนำเอา BCG Model มาปรับใช้และต่อยอดเพื่อเกษตรกรบนพื้นที่สูง ทั้งนี้ เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม การนำ BCG Model มาใช้ จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภาคเกษตรจากเดิมที่ผลิตมากแต่สร้างรายได้น้อย (More for Less) ไปสู่การผลิตน้อยแต่สร้างรายได้มาก (Less for More)

          การขับเคลื่อนภาคการเกษตรด้วย BCG Model มีเป้าหมายเพื่อปรับเปลี่ยนระบบการเกษตรของประเทศไทยสู่ 3 สูง คือ ประสิทธิภาพสูง มาตรฐานสูง และรายได้สูง ด้วยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมผสานภูมิปัญญา ยกระดับผลผลิตเกษตรสู่มาตรฐานสูง ครอบคลุมทั้งด้านคุณภาพ โภชนาการ ความปลอดภัย และระบบการผลิตที่ยั่งยืน ให้การทำการเกษตรเป็นอาชีพที่สร้างรายได้สูง มีผลิตสินค้าเกษตร premium สินค้าเชิงนวัตกรรมที่หลากหลาย กำหนดราคาขายได้ตามคุณภาพของผลผลิตเกษตร อันจะส่งผลให้ GDP ภาคเกษตรเติบโตอย่างสมดุลและมีเสถียรภาพ รายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้น เกิดการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรการเกษตรอย่างสมดุลและยั่งยืน

 

กิจกรรม สวพส. เพิ่มเติม