สำนักยุทธศาสตร์และแผนและสำนักพัฒนา ได้จัดประชุม “ชี้แจงแผนแม่บทโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง ระยะ 5 ปี (พ.ศ.2560-2564)” เพื่อชี้แจงกรอบการดำเนินงาน งบประมาณและเป้าหมายการดำเนินงานภายใต้แผนแม่บทโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง ระยะ 5 ปี (พ.ศ.2560-2564) และหาแนวทางการขับเคลื่อนแผนแม่บทโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง ระยะ 5 ปี (พ.ศ.2560-2564) สู่การปฏิบัติในหน่วยงานระดับพื้นที่ โดยได้จัดประชุมใน 3 จังหวัด ได้แก่ น่าน เชียงราย แม่ฮ่องสอน โดยสรุปสาระสำคัญดังนี้
นายกมลโลฒจน์ เชียงวงค์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน กล่าวเปิดการประชุม มีหน่วยงานราชการเข้าร่วมประชุม 67 คน โดยมีข้อเสนอแนะที่สำคัญ คือ พัฒนาด้านการตลาดโดยสร้างเอกลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ พร้อมทั้งขยายฐานการตลาดในจังหวัดน่าน และควรมีการหารือร่วมกับหน่วยงานพาณิชย์จังหวัด และสหกรณ์จังหวัด สำหรับการจัดแผนชุมชน ควรวิเคราะห์ 5 ทุนทางสังคม (มนุษย์ สังคม กายภาพ ธรรมชาติ การเงิน) นอกจากนี้ยังมีการจัดทำแผนที่การใช้ประโยชน์ที่ดินรายแปลงเพื่อการบริหารจัดการที่ดินอย่างเหมาะสม แต่ไม่ได้เป็นการออกเอกสารสิทธิ์ให้แก่เกษตรจึงต้องทำความเข้าใจแก่เกษตรให้ชัดเจน การดำเนินงานในพื้นที่จำเป็นต้องมีการสื่อสารและสร้างความเข้าใจร่วมกับชุมชนให้ชัดเจน และดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง
นายบุญส่ง เตชะมณีสถิตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวเปิดการประชุม มีหน่วยงานราชการเข้าร่วมประชุม 69 คน โดยมีข้อเสนอแนะที่สำคัญ คือ ควรเน้นการดำเนินงานพัฒนาพื้นที่สูงตามผลความสำเร็จของโครงการหลวง และโครงการที่ดำเนินงานประสบความสำเร็จต่างๆ เพื่อให้ชุมชนอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างยั่งยืน และสิ่งสำคัญคือ การบูรณาการการดำเนินงานร่วมกันของหน่วยงานเพื่อเป็นการบูรณาการบุคลากร งบประมาณ และควรจะเน้นระบุพื้นที่ที่ดำเนินงานร่วมกันให้มีประสิทธิภาพ และทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์ และจังหวัดเชียงรายพร้อมสนับสนุนการดำเนินงานของทุกภาคส่วนเพื่อให้เกิดการดำเนินงานที่มีผลสัมฤทธิ์มากขึ้น
นายพิพัฒน์ เอกภาพันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าวเปิดการประชุม มีหน่วยงานราชการเข้าร่วมประชุม 41 คน โดยมีข้อเสนอแนะที่สำคัญ คือ หาแนวทางเชื่อมโยงการดำเนินงานของโครงการพระราชดำริของจังหวัดแม่ฮ่องสอนเพื่อการพัฒนาคนในพื้นที่และความมั่นคงตามแนวชายแดน ควรกำหนดพื้นที่เป้าหมายในแต่ละปี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2560-2564 ให้ชัดเจน การทำ MOU ในการดำเนินงานในเรื่องสำคัญเพื่อความต่อเนื่องในการดำเนินงานรวมไปถึงการฝึกอบรมเกษตรกรในพื้นที่ร่วมกันของหน่วยงาน การจัดทำแผนการดำเนินงานรายพื้นที่ให้มีจุดเน้นการดำเนินงาน โดยใช้เครื่องมือแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินรายแปลง แผนชุมชน เพื่อวางแผนการดำเนินงานร่วมกันของหน่วยงานร่วมบูรณาการ