คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ สวพส.ร่วมประกอบพิธี “วันปิยมหาราช”

วันที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๕๖๐ ณ ลานหญ้าหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จังหวัดเชียงใหม่ คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง นำพวงมาลาถวายบังคมเบื้องหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเข้าร่วมประกอบพิธีเนื่องในวันปิยมหาราช ประจำปี ๒๕๖๐ โดยนายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ประธานในพิธี เริ่มประกอบพิธีเนื่องในวันปิยมหาราช โดยวางพวงมาลาและถวายบังคมในนามของประชาชนชาวจังหวัดเชียงใหม่ทุกหมู่เหล้า จากนั้นได้อ่านคำกล่าวถวายราชสดุดีพระเกียรติคุณและอุทิศส่วนกุศล ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว “สมเด็จพระปิยมหาราช”

วันปิยมหาราช หรือ Chulalongkorn Day ตรงกับวันที่ ๒๓ ตุลาคม ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องจากพระองค์ทรงเป็นที่รักใคร่อย่างล้นเหลือของพสกนิกรทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ พระองค์จึงได้รับการถวายพระราชสมัญญานามว่า "สมเด็จพระปิยมหาราช" ซึ่งมีความหมายว่า "พระมหากษัตริย์ที่ทรงเป็นที่รักยิ่งของปวงชน" ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ รัฐบาลจึงได้ประกาศให้วันที่ ๒๓ ตุลาคม เป็น "วันปิยมหาราช"

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระมหากษัตริย์สยาม รัชกาลที่ ๕ แห่งราชวงศ์จักรี เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ.๒๓๙๖ เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ ๔ ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นพระองค์ที่ ๑ ในสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี ได้รับพระราชทานนามว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ บดินทรเทพมหามงกุฎ บุรุษยรัตนราชรวิวงศ์วรุตมพงศบริพัตร สิริวัฒนราชกุมาร ซึ่งคำว่า "จุฬาลงกรณ์" นั้นแปลว่า เครื่องประดับผม อันหมายถึง "พระเกี้ยว" ที่มีรูปเป็นส่วนยอดของพระมหามงกุฎหรือยอดชฎา เสวยราชสมบัติเมื่อวันพฤหัสบดี เดือน ๑๑ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ปีมะโรง พ.ศ.๒๔๑๑ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตด้วยโรคพระวักกะ (ไต) เมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ เวลา ๒.๔๕ นาฬิกา ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต สิริพระชนมายุได้ ๕๗ พรรษา ทั้งนี้ รัฐบาลไทยได้จัดให้วันที่ ๒๓ ตุลาคม ของทุกปี เป็นวันปิยมหาราช และเป็นวันหยุดราชการ

สำหรับพระราชกรณียกิจที่สำคัญของรัชกาลที่ ๕ ได้แก่ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการเลิกทาสและไพร่ในประเทศไทย การป้องกันการเป็นอาณานิคมของจักรวรรดิฝรั่งเศสและจักรวรรดิอังกฤษ ได้มีการประกาศออกมาให้มีการนับถือศาสนาโดยอิสระในประเทศ โดยบุคคลศาสนาคริสต์และศาสนาอิสลามสามารถปฏิบัติศาสนกิจได้อย่างอิสระ นอกจากนี้ได้มีการนำระบบจากทางยุโรปมาใช้ในประเทศไทย ได้แก่ระบบการใช้ธนบัตรและเหรียญบาท ใช้ระบบเขตการปกครองใหม่ เช่น มณฑลเทศาภิบาล จังหวัด และอำเภอ และได้มีการสร้างรถไฟ สายแรก คือ กรุงเทพฯ ถึง อยุธยา ลงวันที่ ๑ มีนาคม ร.ศ.๑๐๙ ซึ่งตรงกับ พุทธศักราช ๒๔๓๓ นอกจากนี้ได้มีงานพระราชนิพนธ์ ที่สำคัญ การก่อตั้งการประปา การไฟฟ้า ไปรษณีย์โทรเลข โทรศัพท์ การสื่อสาร การรถไฟ ส่วนการคมนาคม ให้มีการขุดคลองหลายแห่ง นอกจากนี้ ยังทรงโปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองส่งน้ำประปา จากเชียงราก สู่สามเสน อำเภอดุสิต จังหวัดพระนคร ด้วย ในขณะที่ พระราชกรณียกิจด้านสังคม ทรงยกเลิกระบบไพร่ โดยให้ไพร่เสียเงินแทนการถูกเกณฑ์ นับเป็นการเกิดระบบทหารอาชีพในประเทศไทย พระองค์ยังทรงเลิกทาสแบบค่อยเป็นค่อยไป เริ่มจากออกกฎหมายให้ลูกทาสอายุครบ ๒๐ ปีเป็นอิสระ จนกระทั่งออกพระราชบัญญัติเลิกทาส ร.ศ.๑๒๔ (พ.ศ.๒๔๔๘) ซึ่งปล่อยทาสทุกคนให้เป็นอิสระและห้ามมีการซื้อขายทาส

 

 

กิจกรรม สวพส. เพิ่มเติม