1 มีนาคม 2556 อ่าน: 1,276 ครั้ง
|
กิจกรรมรณรงค์ลดการใช้สารเคมีในพื้นที่โครงการขยายผลโครงการหลวงน้ำแขว่ง
|
เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2556 สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) โดยโครงการขยายผลโครงการหลวงน้ำแขว่ง จัดกิจกรรมรณรงค์ลดการใช้สารเคมีขึ้น ณ โครงการขยายผลโครงการหลวงน้ำแขว่ง ต.เมืองลี อ.นาหมื่น จ.น่าน เพื่อให้เกษตรกรตระหนักถึงผลกระทบของการใช้สารเคมีเกินความเหมาะสม และรับทราบแนวทางการลดการใช้สารเคมีเพื่อการเกษตร รวมทั้งเพื่อให้เกษตรกรสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้ไปใช้ในการผลิตทางการเกษตรให้ปลอดภัยมาจากแปลงปลูก โดยมีเป้าหมายให้เกษตรกรที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และชุมชนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาการใช้สารเคมีในการเกษตร ซึ่งจัดเป็นปัญหาหลักที่ต้องเร่งดำเนินการแก้ไขร่วมกัน
นางสาวพัฒนา ส่องแสง เจ้าหน้าที่โครงการขยายผลโครงการหลวงน้ำแขว่ง กล่าวว่า “ปัจจุบันเกษตรกรมีการใช้สารเคมีในหลายขั้นตอนของการปลูกพืช ตั้งแต่ระยะต้นกล้าไปจนถึงการเก็บเกี่ยว การใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชในการป้องกันและแก้ไขการเข้าทำลายของโรคและแมลงศัตรูพืช รวมทั้งวัชพืชในแปลงปลูก ทั้งนี้เนื่องจากสารเคมีสามารถหาซื้อได้ง่ายในท้องตลาดประกอบกับวิธีการใช้ค่อนข้างสะดวก ให้ผลรวดเร็ว จึงทำให้เกษตรกรเลือกที่จะใช้สารเคมีมากกว่าการใช้วิธีการเขตกรรม การใช้จุลินทรีย์ หรือสารที่ได้จากธรรมชาติ อย่างไรก็ตามการใช้สารเคมีที่มากเกินความเหมาะสมจะทำให้เกิดผลกระทบทั้งต่อเกษตรกรผู้ปลูก ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม ทั้งทางตรงและทางอ้อม เกษตรกรในพื้นที่โครงการขยายผลโครงการหลวงน้ำแขว่งส่วนใหญ่ยังขาดความรู้เกี่ยวกับการใช้สารเคมีอย่างถูกวิธี ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพร่างกายของเกษตรกร และผลกระทบดังกล่าวสามารถส่งผลให้เกิดความผิดปกติในร่างกายในเวลาอันรวดเร็ว หรือเกิดการสะสมในร่างกายเป็นระยะเวลายาวนาน ทำให้ร่างกายทรุดโทรมและเกิดอาการแทรกซ้อน จนอาจถึงแก่ชีวิตได้ นอกจากนี้ การใช้สารเคมีมากเกินความจำเป็นยังทำให้เกิดการปนเปื้อนของสารเคมีในแหล่งน้ำ ซึ่งมีผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตที่อาศัยน้ำในการดำรงชีวิตด้วย สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) จึงมีนโยบายที่จะลดการใช้สารเคมีในขั้นตอนของการทำการเกษตร ซึ่งแนวทางดังกล่าวเป็นกระบวนการที่สืบเนื่องมาจากการดำเนินงานของมูลนิธิโครงการหลวง โดยมีจุดประสงค์ที่จะลดปริมาณการใช้สารเคมีลง โดยการใช้สารจากธรรมชาติแทนหรือวิธีการอื่นในลักษณะผสมผสาน ทั้งนี้เพื่อให้เกษตรกรและสิ่งแวดล้อมมีความปลอดภัยจากการทำการเกษตรมากยิ่งขึ้น”
|
|
|
|
|
ที่มา: นางสาวกัลยาณี วรรณศรี เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง
|