ทำไมต้องปลูกองุ่นภายใต้หลังคาพลาสติก

ทำไมต้องปลูกองุ่นภายใต้หลังคาพลาสติก

 

                   องุ่นเป็นพืชยืนต้นชนิดเถาเลื้อย มีถิ่นกำเนิดอยู่แถบเอเซียไมเนอร์และทะเลแคสเปียน ซึ่งสามารถเจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่ที่มีอุณหภูมิ 15-35 องศาเซลเซียส แดดจัด และมีความชื้นในอากาศต่ำ ส่งผลให้โรคและแมลงรบกวนน้อย การสุกของผลพัฒนาไปอย่างช้าๆและเต็มที่ สัดส่วนของน้ำตาลและกรดอยู่ในระดับที่เหมาะสมทำให้ผลผลิตมีคุณภาพดี แต่ประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตร้อนชื้น ถึงแม้ต้นองุ่นจะเติบโตดีแต่มีโรคและแมลงเข้าทำลายจำนวนมากและรวดเร็ว นอกจากนี้หากมีฝนตกชุกก็จะทำความเสียหายแก่ช่อดอก ทำให้ดอกร่วง ผลแตก และผลผลิตไม่มีคุณภาพ โรคองุ่นที่พบทั่วไปได้แก่ โรคราน้ำค้าง  โรคแอนแทรกโนส  โรคเถาแห้ง โรคผลเน่า โรคราแป้ง และโรคราสนิม เป็นต้น ซึ่งโรคที่เป็นปัญหาที่รุนแรงคือ แอนแทรกโนสและราน้ำค้าง สามารถเกิดได้ทุกระยะการเจริญเติบโต  โดยเฉพาะส่วนที่ยังอ่อนเช่น  ยอดอ่อน  กิ่งอ่อน  ใบอ่อน ช่อดอก และผล โดยการระบาดของโรคนี้มีน้ำฝนเป็นปัจจัยที่สำคัญ ดังนั้นเกษตรกรจึงจำเป็นต้องใช้สารเคมีเกษตรในการป้องกันกำจัดศัตรูองุ่นในปริมาณที่มาก หากในฤดูฝนซึ่งมีฝนตกตลอดเกือบทุกวัน การพ่นสารป้องกันกำจัดโรคแมลงองุ่นก็ยิ่งต้องกระทำบ่อยครั้งขึ้น ซึ่งเป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิต  อีกทั้งยังเป็นอันตรายต่อเกษตรกร และมีสารพิษตกค้างรวมทั้งคราบของสารเคมีบนผิวของผลองุ่นรับประทานสด  เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้บริโภคเกิดความไม่มั่นใจไม่กล้าซื้อไปรับประทาน ส่งผลให้เกษตรกรไม่สามารถจำหน่ายผลผลิตได้

 

 

                ในต่างประเทศมีการใช้หลังคาพลาสติกในการปลูกพืชกันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในการผลิตผัก ไม้ดอก และไม้ผล เช่น ประเทศญี่ปุ่น อเมริกา สเปน จีน ฝรั่งเศส อิตาลี อังกฤษ และอิสราเอล เป็นต้น การปลูกพืชภายใต้หลังคาพลาสติกนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อ ป้องกันพืชให้พ้นจากสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมต่างๆ เช่น หิมะ น้ำฝน แสงแดดที่จัด และฝุ่นละออง ซึ่งปัจจัยเหล่านี้มีผลทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อความเสียหายของผลผลิตทางการเกษตร

 

 

 

 

 

 

             สำหรับประเทศไทยได้มีการใช้หลังคาพลาสติกในการปลูกองุ่นโดยเฉพาะอย่างยิ่งการปลูกองุ่นในพื้นที่ของมูลนิธิโครงการหลวงและโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง ส่งผลให้คุณภาพของผลผลิตองุ่นดีกว่าการปลูกกลางแจ้ง อีกทั้งยังช่วยลดการเกิดโรคราน้ำค้างและแอนแทรกโนสได้ถึง 25 เปอร์เซ็นต์ และลดการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดโรคจาก 20-30 ครั้งเป็น 7-8 ครั้งตลอดช่วงฤดูฝนมีการระบาดของโรคและแมลงน้อยลงทำให้มีปริมาณผลผลิตสูงกว่าการปลูกกลางแจ้ง

 

การปลูกองุ่นภายใต้หลังคาพลาสติกที่สถานีเกษตรหลวงปางดะ

 

 

                อย่างไรก็ตามการใช้หลังคาพลาสติกมีจุดอ่อนคือแสงแดดน้อยลง และอุณหภูมิภายในโรงเรือนจะสูงขึ้น 3-5 องศาเซลเซียส จึงต้องมีการเลือกใช้รูปแบบโรงเรือนที่เหมาะสมกับพื้นที่ นอกจากนี้การใช้โรงเรือนจะมีต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น ซึ่งโรงเรือนหลังคาพลาสติกมีหลายแบบ เกษตรกรสามารถเลือกแบบโรงเรือนให้เหมาะสมกับตนเอง โดยพิจารณาจากสภาพพื้นที่ ภูมิอากาศ วัตถุประสงค์การใช้ และทุนทรัพย์

 

 

 

 

 
เขียน / เรียบเรียงเรื่องโดย:
จิระนิล แจ่มเกิด
source!='') { ?>
แหล่งที่มา / เอกสารอ้างอิง:

ข้อมูลนี้เป็นที่น่าพึงพอใจหรือเป็นประโยชน์สำหรับท่านหรือไม่
 

บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง