การจัดการผักปลอดภัย (GAP และอินทรีย์) ในช่วงแล้ง

การจัดการผักปลอดภัย (GAP และอินทรีย์) ในช่วงแล้ง

พอเข้าหน้าแล้ง สิ่งที่เป็นปัญหาใหญ่ในการปลูกพืชผักอินทรีย์ คือ การเข้าทำลายของแมลงศัตรูพืช การระบาดของโรคจะน้อยกว่าในฤดูฝน แต่ก็จะมีโรคที่เกิดจากแมลงเป็นพาหะ เช่น ไวรัส (พืชตระกูลแตง พริก มะเขือ ต้องระวังเป็นพิเศษ) โดยเฉพาะการปลูกพืชผักอินทรีย์ที่ไม่สามารถใช้สารเคมีเกษตรได้ ดังนั้นเกษตรกรต้องเตรียมความพร้อมในหลายเรื่องที่สำคัญ ดังนี้

  1. 1. เตรียมสมุนไพรสำหรับป้องกันกำจัดแมลง โดยเฉพาะสมุนไพรที่มีรสขม ฝาด เปรี้ยว เผ็ด และมีกลิ่นฉุน เช่น ยาสูบ (ยาเส้น) เมล็ดสะเดาแห้ง ตะไคร้หอม บอระเพ็ด หางไหล หนอนตายอยาก ฯลฯ (ควรปลูกไว้ในแปลงเพื่อสามารถนำใช้ในเวลาที่ต้องการได้) ซึ่งโดยส่วนใหญ่เกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์มักจะมีพืชเหล่านี้อยู่ในแปลงแล้วไม่มากก็น้อย เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการทำสารสกัดหรือน้ำหมักชีวภาพสำหรับฉีดพ่นป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืช รวมถึงชีวภัณฑ์ที่จำเป็นในการป้องกันกำจัดแมลงต่างๆ ด้วย เช่น เชื้อราบูเวเรีย เชื้อแบคทีเรียบีที (บาซิลลัส ทูริงเยนซิส) ฯลฯ นอกจากนี้ยังรวมถึงปัจจัยการผลิตอย่างอื่นด้วย เช่น สบู่อ่อน เป็นต้น สิ่งสำคัญอีกอย่าง คือ กับดักกาวเหนียว (เวลาติดกับดักจะติดไว้สัก 1-2 สัปดาห์ แล้วเปลี่ยนใหม่)
  2. 2. ต้องสร้างความชื้นในดินโดยคลุมแปลง (อาจใช้ฟางหรือพลาสติกคลุมแปลง) เพื่อให้แปลงชุ่มชื้นอยู่เสมอและช่วยควบคุมวัชพืชด้วย เนื่องจากวัชพืชก็เป็นที่อาศัยของแมลงศัตรูพืชด้วยเช่นกัน วัสดุที่ใช้คลุมแปลง เช่น ฟางข้าว ใบหญ้าแฝก ใบตะไคร้หอม รวมถึงพลาสติกคลุมแปลง 
  3. 3. สำรองน้ำหรือแหล่งน้ำให้เพียงพอ หรืออาจปรับเปลี่ยนการให้น้ำที่ช่วยประหยัดน้ำ เช่น ระบบน้ำหยด มินิสปริงเกลอร์ เป็นต้น หรือให้น้ำในช่วงเช้าหรือเย็นเพื่อลดการสูญเสียน้ำจากการระเหย 
  4. 4. หมุนเวียนชนิดพืชที่ปลูก ก็จะช่วยลดความเสี่ยงในการเข้าทำลายของโรคแมลง
  5. 5. เก็บเกี่ยวผักในช่วงเช้าหรือเย็น และเมื่อเก็บเกี่ยวแล้วต้องวางไว้ในที่ร่ม แต่ต้องระวังการเก็บผักในช่วงเช้า ซึ่งผักมักจะเปราะหักได้ง่าย เนื่องจากในเซลล์มีน้ำมาก 
  6. 6. หากไม่จำเป็นไม่ควรล้างผัก ถ้าผักเปื้อนดินไม่มากให้ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดดินออกแทนการล้าง แต่ถ้าจำเป็นต้องล้าง ต้องล้างให้เร็ว (ไม่แช่ผักในน้ำนานๆ) และต้องผึ่งให้สะเด็ดน้ำก่อนบรรจุใส่ภาชนะบรรจุ

ในขณะที่ข้อดีของหน้าแล้ง

  1. พืชได้รับแสงเต็มที่ พืชก็จะสร้างอาหารได้ดี ทำให้การเจริญเติบโตดี (พืชมีน้ำหนักดีกว่าในฤดูฝน)
  2. แสงแดดช่วยฆ่าไข่/ตัวอ่อนของแมลงศัตรูพืชในดินได้ ดังนั้นหลังเก็บเกี่ยวแล้ว ควรไถพลิกดินตากแดด 3-7 วัน ก่อนที่จะปลูกพืชรอบต่อไป

**ทุกสิ่งมีทั้งข้อดีและข้อเสีย เลือกวิธีการจัดการให้เหมาะสม

 
เขียน / เรียบเรียงเรื่องโดย:
ดร.เพชรดา อยู่สุข
source!='') { ?>
แหล่งที่มา / เอกสารอ้างอิง:

ข้อมูลนี้เป็นที่น่าพึงพอใจหรือเป็นประโยชน์สำหรับท่านหรือไม่
 

บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง