ภาคเหนือของประเทศไทยเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์มีความหลากหลายทางชีวภาพของพืชสมุนไพรซึ่งเป็นวัตถุดิบจากธรรมชาติหลายชนิดที่มีศักยภาพในการนำมาเป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและเวชสำอางจากสารธรรมชาติทดแทนส่วนประกอบที่เป็นสารเคมี ซึ่งในปัจจุบันกำลังได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง เนื่องจากผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของพืชสมุนไพรรวมถึงสารสกัดจากธรรมชาติ มีประสิทธิภาพและความปลอดภัย
ปัจจุบันผู้บริโภคมีต้องการสินค้าและผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่มีส่วนประกอบจากธรรมชาติเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับกระแสความนิยมผลิตภัณฑ์สารธรรมชาติ และความต้องการสินค้าสมุนไพรอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ที่ใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติ ปลอดสารเคมี มีการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมี มีแนวโน้มเติบโตอย่างรวดเร็ว ทั้งทางด้านผู้ผลิตและจำนวนผู้บริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลิตภัณฑ์ยาจากสมุนไพร (Pharmaceutical) ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร (Nutraceuticals) เวชสำอางและเครื่องสำอาง (Cosmetics and cosmaceutical) ดังนั้นจึงเป็นโอกาสในการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับพืชสมุนไพรบนพื้นที่สูงในการนำมาเป็นวัตถุดิบที่มีคุณภาพ ประสิทธิภาพ และความปลอดภัย
สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูงตระหนักถึงความสำคัญของพืชท้องถิ่นบนพื้นที่สูงจึงดำเนินงานวิจัยการพัฒนาการผลิตวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับพืชบนพื้นที่สูงสำหรับใช้ในผลิตภัณฑ์สมุนไพร โดยมุ่งให้ได้วัตถุดิบและสารสกัดจากพืชที่เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ให้มีประสิทธิภาพ คุณภาพ และความปลอดภัย โดยมีข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์สนับสนุนเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภค ซึ่งจะส่งผลต่อปริมาณความต้องการใช้วัตถุดิบและสารสกัดจากพืชสมุนไพรที่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย
หลายคนมักจะเข้าใจผิดอยู่มากในความแตกต่างระหว่างผลิตภัณฑ์ออร์แกนิค (Organic product) กับผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ (Natural Product) จริงๆ แล้วผลิตภัณฑ์ออร์แกนิคเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากธรรมชาติอย่างแท้จริง ไม่มีการปรุงแต่งหรือปนเปื้อนของสารสังเคราะห์ใดๆ ที่เกิดจาการใช้เทคโนโลยีหรือสารเคมีซึ่งมีอันตรายแอบแฝง มีการใช้วัตถุดิบและส่วนผสมในกระบวนการผลิตจากผลผลิตเกษตรอินทรีย์ ไม่มีการใช้สารเคมีสังเคราะห์ในทุกขั้นตอนตั้งแต่การเพาะปลูกไปจนถึงการผลิตจะต้องปราศจากการใช้สารเคมีโดยสิ้นเชิง และผลิตภัณฑ์ออร์แกนิคจะต้องผ่านการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ออร์แกนิคโดยองค์กรที่แต่งตั้งขึ้นโดยรัฐบาลของแต่ละประเทศ เช่น ECOCERT จากประเทศฝรั่งเศส และมาตรฐาน USDA Organic ของประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นต้น ซึ่งวัตถุดิบที่ได้รับการรับรองมาตรฐานนั้นต้องมาจากธรรมชาติไม่น้อยกว่า 95% และมาจากฟาร์มออร์แกนิคเท่านั้น นอกจากนี้บรรจุภัณฑ์และการหีบห่อจะต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วย ในขณะที่ผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ (Natural Product) เป็นเพียงส่วนหนึ่งของผลิตผลหรือวัตถุดิบที่มาจากธรรมชาติซึ่งอาจไม่ใช่ออร์แกนิคก็ได้ ในประเทศไทยการผลิตสินค้าออร์แกนิคยังมีข้อจํากัด ผลิตภัณฑ์ธรรมชาติจึงได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคในระดับใกล้เคียงกันกับผลิตภัณฑ์ออร์แกนิค
สำหรับผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่มีส่วนผสมจากพืชสมุนไพรธรรมชาติบนพื้นที่สูงมีอะไรบ้างนั้น สามารถติดตามได้ในบทความต่อไป...