ไก่กระดูกดำ



ไก่กระดูกดำ เป็นไก่พื้นบ้านที่เลี้ยงกันในภาคเหนือ โดยเฉพาะบนพื้นที่สูง เชื่อว่ามีถิ่นกำเนิดหรือนำสายพันธุ์มาจากประเทศจีน ลักษณะของไก่กระดูกดำมีสีดำ 9 แห่ง ได้แก่ ปาก ลิ้น เพดาน หน้า หงอน ขน แข้งขา เล็บ และผิวหนัง จุดเด่นของไก่กระดูกดำ คือ มีโปรตีนสูง แต่มีไขมัน คอเลสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์ และกรดไขมันชนิดอิ่มตัวต่ำ (Jaturasitha et al, 2008) สีดำที่ปรากฏในเนื้อและกระดูก ทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ และเกี่ยวข้องกับการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย (Hsiehl and Lien1, 2012)

สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ได้ดำเนินโครงการวิจัยการปรับปรุงพันธุ์ไก่กระดูกดำพันธุ์แท้ วัตถุประสงค์เพื่อคัดเลือกและปรับปรุงพันธุ์ไก่กระดูกดำให้ตรงตามสายพันธุ์ มีการเจริญเติบโตที่ดี และปรับตัวได้ดีกับสภาพอากาศบนพื้นที่สูง ทดสอบการเลี้ยงใน 3 พื้นที่ ได้แก่ โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงห้วยเป้า (400-800 MSL) สถานีเกษตรหลวงปางดะ (800-1,000 MSL) และศูนย์พัฒนาโครงการหลวงวัดจันทร์ (มากกว่า 1,000 MSL) โดยนำลูกไก่ที่ได้จากพ่อแม่พันธุ์ที่ผ่านการปรับปรุงพันธุ์จากฟาร์มปศุสัตว์ มูลนิธิโครงการหลวง ที่อายุ 1 เดือน มาเลี้ยงจนถึงอายุ 4 เดือน ผลปรากฏว่า ไก่กระดูกดำที่เลี้ยงที่ศูนย์ฯ วัดจันทร์ ให้น้ำหนักตัวเฉลี่ยสูงที่สุด คือ 1.70 กิโลกรัม และมีการกินอาหารมากที่สุด คือ 5.93 กิโลกรัมต่อตัว ซึ่งอาจมีผลมาจากสภาพอากาศที่เย็นกว่าอีก 2 พื้นที่ จึงทำให้ไก่กระดูกดำกินอาหารมากกว่า เมื่อมาดูอัตราการเปลี่ยนอาหารเป็นน้ำหนัก (FCR) คือ กินอาหารน้อยกว่าแต่ได้น้ำหนักมากกว่า ของสถานีฯ ปางดะ ดีที่สุด คือ 3.56 ด้านกำไรเฉลี่ยต่อกิโลกรัมอยู่ที่ 64.18 บาท ดังแสดงในตารางที่ 1

ตารางที่ 1 แสดงสมรรถภาพการผลิตไก่กระดูกอายุตั้งแต่แรกเกิด-4 เดือน ในแต่ละพื้นที่ทดสอบ

จากผลการทดสอบไม่ว่าพื้นที่จะมีความสูงจากน้ำทะเลระดับใดก็ตาม ก็สามารถที่จะเลี้ยงไก่กระดูกดำให้ได้ผลดีได้ แต่สิ่งที่จะมีผลต่อการเลี้ยงที่สำคัญประการหนึ่งก็คือความพร้อมและความเอาใจใส่ของผู้เลี้ยง รวมถึงประสบการณ์ของผู้เลี้ยง

 

 

เอกสารอ้างอิง

Jaturasitha, S., T. Srikanchai, M. Kreuzer and M. Wicke. 2008. Differences in carcass and meat characteristics between chicken indigenous to Northern Thailand (Black-Boned and Thai Native) and imported extensive breeds (Bresse and Rhode Island Red). Poul. Sci. 87: 160-169.

Hsieh1, P., and T. Lien1. 2012.Study of the Physico-chemical Properties and Antioxidant Activity of Extracted Melanins. Journal of Agricultural Science Vol. 4, No. 9: 217-229.

 
เขียน / เรียบเรียงเรื่องโดย:
นายสุคีพ ไชยมณี และนางสาวเกศรินทร์ แก้วมะณี
source!='') { ?>
แหล่งที่มา / เอกสารอ้างอิง:

ข้อมูลนี้เป็นที่น่าพึงพอใจหรือเป็นประโยชน์สำหรับท่านหรือไม่
 

บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง