จากเป้าหมายสูงสุดของการพัฒนาพื้นที่สูงของ สวพส. คือ “ชุมชนบนพื้นที่สูงมีความอยู่ดีมีสุข ด้วยการวิจัยและพัฒนา สืบสาน รักษา ต่อยอดงานโครงการหลวง ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” โดยเน้นการพัฒนาบนฐานความรู้ เพื่อสร้างความเจริญเติบโตด้านเศรษฐกิจและสังคมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมนั้น กระบวนการเริ่มต้นที่สำคัญคือ การให้ความรู้และข้อมูลที่ถูกต้องให้กับผู้นำชุมชนและกลุ่มผู้นำด้านต่างๆ ที่เป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนงานพัฒนาชุมชนผ่านกิจกรรมรูปแบบต่างๆ ทั้งการอบรม ประชุม ติดตามให้คำแนะนำ ศึกษาดูงานทั้งในและต่างประเทศ เกิดเป็นกระบวนการจัดทำแผนชุมชนที่มีคุณภาพควบคู่กับการใช้แผนที่ดินรายแปลงมาใช้วิเคราะห์ข้อมูล ปัญหา ความต้องการในภาพรวมและเห็นภาพที่ชัดเจนถูกต้องตรงกัน ซึ่งจะนำไปสู่การวางแผนการพัฒนาที่เป็นระบบบนฐานของความรู้และข้อมูลร่วมกันกับหน่วยงานทุกภาคส่วน
ชุมชนบ้านศรีบุญเรือง ตั้งอยู่หมู่ที่ 2 ตำบลพงษ์ อำเภอสันติสุข จังหวัดน่าน เป็นอีกหนึ่งชุมชนที่มีผู้นำและคณะกรรมการชุมชนที่เข้มแข็ง จากเวทีจัดทำแผนชุมชนในปี 2557 ทุกคนในชุมชนได้ร่วมกันวิเคราะห์ปัญหาและพบว่าปัญหาเรื่องการจัดการขยะภายในชุมชนเป็นปัญหาที่สำคัญและส่งผลกระทบต่อทุกคนในชุมชน จึงเกิดเป็นแผนการพัฒนาชุมชนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
จากกระบวนการจัดทำแผนชุมชนของบ้านศรีบุญเรือง พบว่าปัญหาหลักที่ชุมชนต้องการแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วนคือ ปัญหาการจัดการขยะ ชุมชนบ้านศรีบุญเรืองจึงกำหนดเป็นแผนการจัดการขยะในระยะต่างๆ เพื่อมุ่งสู่การเป็นชุมชนปลอดขยะภายในปี 2565
ระยะที่ 1 ปี 2558–2559 กระตุ้นตื่นรู้ สู้ปัญหาขยะล้นบ้าน
ระยะที่ 2 ปี 2560–2561 ผสานพลังชุมชน รณรงค์สู้ปัญหาขยะ
ระยะที่ 3 ปี 2562–2563 เดินหน้าสู่ชุมชนปลอดขยะ (Zero Waste Community)
ระยะที่ 4 ปี 2564-2565 เป็นชุมชนปลอดขยะแห่งแรกในจังหวัดน่าน
โดยใช้กระบวนการ PDCA (Plan-Do-Check-Act) เป็นหลักในการทำงาน
ระยะที่ 1 ปี 2558 –2559 กระตุ้นตื่นรู้ สู้ปัญหาขยะล้นบ้าน
กิจกรรมหลัก คือ ตำบลจัดการขยะ
ในช่วงเริ่มต้นทำโครงการนี้ มุ่งเน้นการให้ข้อมูลและความรู้เกี่ยวกับปัญหาขยะที่เกิดขึ้นทั่วโลก ปัญหาขยะในประเทศไทย ปัญหาขยะในจังหวัดน่าน จนถึงปัญหาขยะในชุมชน จะพบว่าสาเหตุหลักของปัญหาขยะล้นเมืองนั้นมักจะถูกอ้างว่าเกิดจากการที่โลกมีประชากรที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ปริมาณขยะเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งขยะที่เกิดจากครัวเรือน/ชุมชน ขยะจากการเกษตรกรรม และขยะจากโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งมีทั้งขยะที่ย่อยสลายได้และย่อยสลายยาก ตลอดจนขยะที่เป็นอันตราย และเชื้อโรคปนเปื้อนอยู่ด้วย ซึ่งขยะแต่ละชนิดแต่ละประเภทควรได้รับการจัดการที่ถูกต้องและเหมาะสม เพื่อสุขอนามัยที่ถูกต้องและไม่เป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม
การจัดการขยะของชุมชนบนพื้นที่สูงส่วนใหญ่ในแต่ละหมู่บ้านมีการขุดหลุมเพื่อทิ้งขยะของแต่ละหมู่บ้าน และไม่มีการคัดแยกขยะก่อนการนำไปกำจัด บางแห่งขยะล้นเรี่ยราด ส่งกลิ่นเหม็น และมีแมลงวันมาวางไข่ สร้างความรำคาญแก่ชุมชน เป็นแหล่งเพาะเชื้อโรค และเป็นปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมในชุมชนด้วย นอกจากนี้ปัญหาที่สำคัญสำหรับการจัดการขยะบนพื้นที่สูงคือข้อจำกัดเรื่องสภาพพื้นที่เพื่อทำหลุมขยะของชุมชนที่หายากมาก ด้วยเหตุนี้ชุมชนในพื้นที่ตำบลพงษ์ จึงได้ตระหนักและเห็นความสำคัญของการกำจัดขยะให้ถูกหลักสุขาภิบาล และการจัดการการขยะในครัวเรือนได้ถูกต้อง ทางชมรมอาสาสมัครสาธารณสุข ตำบลพงษ์จึงได้เริ่มโครงการจัดการขยะบ้านศรีบุญเรือง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงปัญหาด้านการจัดการขยะในชุมชน และเตรียมความพร้อมเพื่อปรับเปลี่ยนสู่วิธีการที่ถูกต้องและเหมาะสมตามแนวทาง Zero waste โดยเน้นการแยกขยะตั้งแต่ต้นทางเพื่อให้เหลือในปริมาณน้อยที่สุดที่ตกค้างในชุมชน โดยมีกระบวนการดำเนินงานดังนี้
- ขยะประเภทรีไซเคิลเพื่อนำกลับมาใช้ประโยชน์ หรือนำไปขายให้เกิดรายได้
- ขยะประเภทย่อยสลายได้นำไปทำปุ๋ยหมักชีวภาพ
- แยกและกำจัดขยะที่เป็นอันตรายด้วยวิธีที่ถูกต้อง
โดยมีแกนนำ คณะกรรมการชุมชน / อสม. ร่วมกับหน่วยงานต่างๆได้แก่ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล องค์การบริหารส่วนตำบลพงษ์ วัดสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง(องค์การมหาชน) และได้รับการสนับสุนงบประมาณจากกองทุนหลักประกันสุขภาพตำบลพงษ์
ผลสำเร็จจากการดำเนินกิจกรรม
ผลผลิต
- ประชาชนตำบลพงษ์สามารถคัดแยกในครัวเรือนได้อย่างถูกต้อง คิดเป็นร้อยละ 90 ของชุมชน
- ปริมาณขยะในชุมชนมีปริมาณลดลง คิดเป็นร้อยละ 51.16 จากปริมาณขยะเดิม
- ชุมชนมีการเปิดบัญชี " กองทุนขยะ ตำบลพงษ์" เพื่อนำรายได้ไปบริหารจัดการ ในการทำป้ายประชาสัมพันธ์ และกิจกรรมอื่นๆ
ผลลัพธ์ ประชาชนในตำบลพงษ์เกิดความตื่นตัวและเริ่มเห็นความสำคัญของการจัดการขยะมากขึ้น เนื่องจากข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ในการขุดหลุมขยะเริ่มส่งผลกระทบต่อส่วนรวม
ระยะที่ 2 ปี 2560 –2561 ผสานพลังชุมชน รณรงค์สู้ปัญหาขยะ
กิจกรรมหลัก คือ รณรงค์หมู่บ้านสะอาด ปลอดขยะ
จากโครงการตำบลจัดการขยะในระยะที่ 1 ซึ่งเห็นผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรมโดยการมีส่วนร่วมของแกนนำ คณะกรรมการชุมชน / อสม. โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล องค์การบริหารส่วนตำบลพงษ์ วัด และสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง(องค์การมหาชน) โดยชุมชนบ้านศรีบุญเรืองได้กำหนดแนวปฏิบัติในการจัดระเบียบของชุมชนเพื่อรักษาความสะอาดบริเวณบ้านเรือน ถนน ที่สาธารณะ และสิ่งแวดล้อมให้สวยงามน่าอยู่อาศัยด้วยการกระตุ้นและสร้างแรงจูงใจโดยการตั้งกลุ่มบริหารจัดการขยะ และสร้างกลไกการจัดการขยะโดยกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน มีคณะกรรมการที่ชัดเจน มีกฎระเบียบ และมีแผนการดำเนินกิจกรรมของกลุ่มอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมการประกวดหมู่บ้านสะอาดระดับครัวเรือนและระดับชุมชนขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บ้านศรีบุญเรืองเป็นหมู่บ้านที่ถูกทุกคนในชุมชนมีการจัดการบ้านเรือนสะอาดเป็นระเบียบและสวยงาม ชุมชนมีทัศนียภาพภายในชุมชนที่สวยงามและมีมาตรฐานคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนและหน่วยงานในชุมชน โดยมีกระบวนการดำเนินงานดังนี้
ผลสำเร็จจากการดำเนินกิจกรรม
ผลผลิต
ผลลัพธ์ จากกิจกรรมทำให้เกือบทุกครัวเรือนในชุมชนมีการคัดแยกขยะตามหลัก 3Rs แต่ยังพบปัญหาคือแต่ยังไม่มีการกำจัดขยะอย่างถูกวิธี มีขยะที่เหลือการจากการคัดแยกและไม่สามารถกำจัดได้ เช่น บรรจุภัณฑ์จากพลาสติก กล่องโฟม เป็นต้น
ระยะที่ 3 ปี 2562 –2563 เดินหน้าสู่ชุมชนปลอดขยะ (Zero Waste Community)
กิจกรรมหลัก คือ การจัดการขยะให้เป็นศูนย์ : บ้านศรีบุญเรือง
จากโครงการรณรงค์หมู่บ้านสะอาดที่ดำเนินงานมาตั้งแต่ ปี 2561 พบว่าหลังจากมีการคัดแยกขยะแล้วมีขยะบางส่วนที่ไม่สามารถนำไปกำจัดได้อย่างถูกวิธี ซึ่งส่งผลให้มีการเผาขยะที่เหลือจากการคัดแยกโดยเฉพาะขยะประเภทพลาสติก การเสนอแนะจากชุมชน คือต้องการจัดอบรมให้ความรู้การคัดแยกขยะและการกำจัดขยะอย่างถูกวิธี เพื่อลดการเผาในซึ่งเป็นการกำจัดขยะที่ไม่ถูกสุขลักษณะ เพื่อให้ชุมชนมุ่งสู่เป้าหมายการเป็นชุมชนปลอดขยะได้อย่างแท้จริง โดยมีกระบวนการดำเนินงานดังนี้
1) อสม. ตรวจสอบครัวเรือนของตนเองว่ามีการคัดแยกขยะอย่างถูกวิธีหรือไม่
2) บ้าน อสม. ทุกหลังให้จัดทำเสวียนอย่างน้อย 1-2 อัน (ตามความเหมาะสมของบริเวณบ้าน
3) รณรงค์การใช้ถุงผ้าหรือตะกร้าในการไปซื้อของที่ร้านค้าหรือตลาด ลดการนำถุงพลาสติกเข้าบ้าน หากไปไร่/สวน ให้พกปิ่นโตแทนการใช้ถุงพลาสติก
4) ร้านค้าภายในชุมชน ลดการใช้ถุงพลาสติก
5) ให้งดการเผาขยะในชุมชน โดยเริ่ม เริ่มตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2562 เป็นต้นไป โดยในแต่ละครัวเรือนให้มีการจัดการขยะดังนี้
กิจกรรมตลาดนัดขยะทองคำ (ขยะแลกไข่) เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ปี พ.ศ.2562 จนถึงปัจจุบัน รูปแบบกิจกรรมตลาดนัดทองคำ คือการนำขยะไม่สามารถจัดการได้จากการคัดแยกขยะของแต่ละครัวเรือน เช่น ขยะพลาสติก กล่องนม กระสอบปุ๋ย เป็นต้น ให้นำมาขายให้ที่ตลาด(แลกไข่ไก่) ซึ่งจะเปิดทุกวันที่ประชุมประจำเดือนของชุมชน และขยะที่ได้จากการรับซื้อทางคณะการกลุ่มจะนำไปแยกประเภท และนำเข้าเครื่องอัดพลาสติกก้อน เพื่อไปจำหน่ายให้กับบริษัทเอกชนต่อไป โดยมีคณะกรรมการกลุ่มคัดแยกขยะ ได้แก่ อสม.ประจำหมู่บ้าน จำนวน 18 คน แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ๆ ละ 6 คน ประชุมวางแผนการบริหารจัดการขยะที่รวบรวมได้ และกำหนดกฎระเบียบ วิธีการต่างๆ โดยเน้นให้ประชาสัมพันธ์ให้งดการเผาขยะภายในบริเวณชุมชนเพื่อลดการก่อมลพิษทางอากาศ ขยะที่ครัวเรือนคัดแยกไว้แล้วจะนำมารวมที่ตลาดนัดคือหอประชุมหมู่บ้าน เดือนละ 1 ครั้งในวันที่มีการประชุมประจำเดือน โดยแต่ละครัวเรือนมีการจัดการขยะดังนี้
กิจกรรมตลาดนัดทองคำเกิดจากความตั้งใจของผู้นำชุมชนที่ต้องการแก้ไขปัญหาการจัดการขยะที่เกิดจากการคัดแยกขยะในครัวเรือนแล้วขยะที่ไม่สามารถกำจัดได้คือขยะจำพวกพลาสติก กิจกรรมนี้ได้รับความร่วมมือจากคนในชุมชนเป็นอย่างดี โดยประเมินจากปริมาณขยะที่คนในชุมชนนำมาขายให้กับตลาด เพื่อแลกเปลี่ยนเป็นไข่ไก่ หรือของใช้เล็กๆน้อยๆ นอกจากนี้ชุมชนได้ร่วมมือกับโรงเรียนบ้านศรีบุญเรืองสนับสนุนให้นักเรียนร่วมกิจกรรมคัดแยกขยะ และนำมาขายให้ตลาดด้วย จากกิจกรรมตลาดนัดทองคำ (ขยะแลกไข่) ภายในชุมชนได้พัฒนาต่อยอดเป็นการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับชุมชนใกล้เคียงอื่น และได้พัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้และศึกษาดูงาน มีวิทยากรเพื่อถ่ายทอดความรู้ นอกจากนี้ยังมีฐานเรียนรู้อื่นๆในชุมชนอีก ได้แก่ ฐานเรียนรู้ผลิตชาชงสมุนไพรในท้องถิ่นฐานผลิตลูกประคบก้อนฐานผลิตลูกประคบน้ำฐานผลิตถ่านดูดกลิ่น / ถ่านอัดแท่ง
ผลสำเร็จจากการดำเนินกิจกรรม
ผลผลิต
ผลลัพธ์ ชุมชนบ้านศรีบุญเรืองสามารถจัดการขยะได้อย่างถูกวิธีตามหลัก 3Rs ส่งผลให้ชุมชนมีความเป็นอยู่ที่ถูกสุขอนามัย และแต่ละครัวเรือนมีรายได้จากการคัดแยกขยะ รวมถึงเป็นชุมชนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และยังได้พัฒนาเป็นชุมชนต้นแบบเพื่อเรียนรู้และศึกษาดูงานให้กับผู้ที่สนใจทั่วไปอีกด้วย
กิจกรรม 3Rs จากต้นน้ำสู่ปลายน้ำ
ชุมชนบ้านศรีบุญเรืองเน้นการสร้างจิตสำนึกให้คนในชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการขยะโดยเริ่มจากภายในครัวเรือนมาสู่ชุมชน ให้มีการคัดแยกขยะ ออกเป็น 4 ประเภท โดยใช้หลักการบริหารจัดการขยะตามหลัก 3Rs คือ
(1) ขยะติดเชื้อ มีการจัดเก็บและทำลายโดย รพ.สต.
(2) ขยะอันตราย ได้มีการจัดตั้งจุดรวบรวมขยะอันตรายไว้ให้ 1 จุดโดยองค์บริหารส่วนตำบลพงษ์จะเป็นผู้ดำเนินการจัดเก็บและทำลาย
(3) ขยะพิษ เช่น ภาชนะบรรจุสารกำจัดศัตรูพืชต่างๆ ได้รับการสนับสนุนโรงเก็บรวบรวมขยะพิษไว้ให้ 1 จุด โดยหน่วยงานสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง(องค์การมหาชน) จะเป็นผู้ดำเนินการจัดเก็บและทำลาย
นวัตกรรมการจัดการขยะมูลฝอยของชุมชน : กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลิตถ่านอัดแท่งจากซังข้าวโพด
สมาชิกชุมชนบ้านศรีบุญเรืองส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยเฉพาะการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วเกษตรกรจะจัดจำหน่ายในรูปของเมล็ด ทำให้ซังข้าวโพดที่เหลือจากการสีกะเทาะเอาเมล็ดออกแล้ว ถูกนำไปทิ้งหรือเผาไปโดยสูญเปล่า ทำให้เกิดปัญหาหมอกควันและมลภาวะเป็นพิษ จากข้อมูลการจัดทำแผนที่การใช้ประโยชน์ที่ดินรายแปลง ในปี พ.ศ. 2557 ชุมชนบ้านศรีบุญเรืองมีพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ประมาณ 1,628 ไร่ และในแต่ละปีจะมีปริมาณซังข้าวโพดเหลือทิ้งอยู่ 341,880 กิโลกรัมต่อปี ซึ่งสามารถนำมาผลิตเป็นถ่านอัดแท่งได้ถึง 136,752 กิโลกรัมต่อปี
สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) มีองค์ความรู้เรื่องผลิตถ่านอัดแท่งจากซังข้าวโพด เพื่อนำไปใช้ประโยชน์เป็นเชื้อเพลิงหุงต้มและให้พลังงานความร้อน สามารถนำมาใช้ทดแทนฟืน ถ่านไม้และก๊าซหุงต้ม ชุมชนบ้านศรีบุญเรืองได้ตระหนักและเล็งเห็นถึงคุณค่าการนำซังข้าวโพดมาทำถ่านอัดแท่ง เนื่องจากไม้ที่ใช้ทำฟืนและถ่าน ซึ่งต้องไปตัดฟันจากป่าได้เริ่มหมดลง และราคาแก๊สหุงต้มมีราคาแพงขึ้น ตลอดจนเป็นการพึ่งพาตนเองและลดค่าใช้จ่ายของครัวเรือนตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง และเป็นการสร้างโอกาสในการเพิ่มรายได้ให้แก่สมาชิกในชุมชน
สมาชิกชุมชนบ้านศรีบุญเรืองจึงมีการดำเนินการจัดตั้งกลุ่มถ่านอัดแท่งจากซังข้าวโพดบ้านศรีบุญเรือง เพื่อดำเนินการด้านการผลิตถ่านอัดแท่งจากซังข้าวโพด ซึ่งสมาชิกในกลุ่มได้เข้ารวมกลุ่มกันโดยความสมัครใจ และมีมติเห็นชอบการจัดตั้งคณะกรรมการกลุ่มถ่านอัดแท่งจากซังข้าวโพดบ้านศรีบุญเรือง เมื่อวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2557 ทั้งนี้เพื่อให้การจัดตั้งกลุ่มมีรูปแบบที่ถูกต้อง และมีการรับรอง ให้การสนับสนุนจากภาครัฐ ในการสนับสนุนส่งเสริมการดำเนินกิจกรรมของชุมชน ในรูปของนิติบุคคล เพื่อประโยชน์ในการประสานงานและติดต่อสื่อสารกับหน่วยงานอื่น อันเป็นการส่งเสริมความมีศักยภาพของหมู่บ้านศรีบุญเรือง จึงเสนอให้มีการดำเนินการเพื่อขอจดทะเบียนจัดตั้งกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชน และได้จัดทำระเบียบกลุ่มถ่านอัดแท่งจากซังข้าวโพดบ้านศรีบุญเรืองขึ้น เพื่อให้การบริหารจัดการกลุ่มดำเนินไปได้ด้วยดี พร้อมทั้งได้มีการประชุมกลุ่มร่วมกับสมาชิกในกลุ่ม เรื่อง การลงมติเพื่อขอขึ้นทะเบียนจัดตั้งกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชน ณ หอประชุมหมู่บ้านศรีบุญเรือง หมู่ 2 ตำบลพงษ์ อำเภอสันติสุข จังหวัดน่าน ในวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2557 โดยมีสมาชิกทั้งหมด 20 คน ปัจจุบันได้รับการจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชน รหัสทะเบียน 6-55-11-03/1-0038 เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 ณ สำนักงานเกษตรอำเภอสันติสุข จังหวัดน่าน
โดยได้รับการสนับสนุนจากสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ให้การสนับสนุนกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มถ่านอัดแท่งจากซังข้าวโพดบ้านศรีบุญเรือง ไม่ว่าจะเป็นการอบรมถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตถ่านอัดแท่งจากซังข้าวโพด การสนับสนุนกระบวนการบริหารจัดการกลุ่มและการดำเนินงานของกลุ่มอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเสริมสร้างศักยภาพและความเข้มแข็งของกลุ่ม จนกระทั่งกลุ่มได้เริ่มมีการเรียนรู้และพัฒนากระบวนการบริหารจัดการด้วยตนเอง ไม่ว่าจะเป็นระบบการจัดทำบัญชีกลุ่ม ระบบการทำงานกลุ่ม ทักษะ ความรู้ และความชำนาญในการผลิตถ่านอัดแท่งจากซังข้าวโพด รวมถึงการพัฒนาศักยภาพในตัวสมาชิกกลุ่มเอง และมีตราสินค้าของผลิตภัณฑ์ถ่านอัดแท่งจากซังข้าวโพด “ถ่านอัดแท่งศรีบุญเรือง” ทะเบียนเลขที่ 171133965 จดทะเบียน ณ วันที่ 12 เมษายน 2559
ปัจจุบัน ปี พ.ศ. 2562 มีสมาชิกกลุ่มจำนวน 12 คน ได้มีการดำเนินการผลิตถ่านอัดแท่งจากซังข้าวโพดอย่างต่อเนื่อง และมีการเพิ่มมูลค่าถ่านโดยการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ถ่านดูดกลิ่นให้เป็นสินค้าทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาของชุมชน และได้ยื่นจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าศรีบุญเรืองถ่านชาร์โคล
เลขที่ 180144199 ลงวันที่ 21 ธันวาคม 2561 รวมถึงผลิตภัณฑ์ถ่านดูดกลิ่นจาดซังข้าวโพดได้ใบรับรองคุณภาพตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) ถ่านดูดกลิ่น และอนุญาตให้แสดงเครื่องหมายมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนถ่านดูดกลิ่นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ตามมาตรฐานเลขที่ มผช.180/2560 ซึ่งสมาชิกกลุ่มสามารถสร้างรายได้และขยายช่องทางการตลาดได้เพิ่มขึ้น
ผลลัพธ์แห่งความสำเร็จ ปัจจุบันบ้านศรีบุญเรืองยึดแผนชุมชนเป็นหลักในการพัฒนา ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนจากการขับเคลื่อนการพัฒนาชุมชนโดยใช้แผนชุมชน คือ เรื่องการบริหารจัดการขยะในชุมชน โดยชุมชนสามารถบริหารจัดการเพื่อแก้ปัญหาขยะได้ จากความเข้มแข็งของผู้นำชุมชนในการดำเนินกิจกรรม เน้นการสร้างจิตสำนึก สร้างแรงจูงใจให้ทุกคนในชุมชนตระหนักถึงความสำคัญการจัดการขยะของชุมชน รวมถึงการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนและการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยในพื้นที่ได้แก่ องค์การบริหารส่วนตำบลพงษ์ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลพงษ์ พัฒนาชุมชนอำเภอสันติสุข โรงเรียนบ้านศรีบุญเรือง และสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ร่วมกันแก้ปัญหาดังกล่าว ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การจัดการขยะของชุมชนบ้านศรีบุญเรืองประสบความสำเร็จ ปัจจุบันชุมชนบ้านศรีบุญเรืองได้รับการยอมรับจากหน่วยต่างๆ และชุมชนใกล้เคียง ให้เป็น“ชุมชนต้นแบบเรื่องการบริหารจัดการชุมชนอย่างยั่งยืน”
ปริมาณขยะมูลฝอยในชุมชนที่ลดลง
ปริมาณขยะทั้งหมดก่อนดำเนินการ 523.28 กิโลกรัม/วัน เฉลี่ยต่อคน 1.27 กก./วัน
ปริมาณขยะทั้งหมดหลังดำเนินการ 255.86 กิโลกรัม/วัน เฉลี่ยต่อคน 0.01 กก./วัน
ปริมาณขยะส่วนต่างที่ลดลง 0.65 กิโลกรัม/วัน
ปริมาณขยะมูลฝอยที่นำกลับมาใช้ประโยชน์
ขยะอินทรีย์ 247 กิโลกรัม/วัน เฉลี่ยต่อคน 0.60 กก./วัน
ขยะรีไซเคิล 7.5 กิโลกรัม/วัน เฉลี่ยต่อคน 0.01 กก./วัน
ขยะทั่วไป - กิโลกรัม/วัน เฉลี่ยต่อคน - กก./วัน
รวมปริมาณที่นำกลับมาใช้ประโยชน์ 254.5 กิโลกรัม/วัน เฉลี่ยต่อคน0.62 กก./วัน
คิดเป็นร้อยละ 99.46 จากขยะที่เกิดขึ้นทั้งหมดในชุมชน
ปรับ-น่าน-เปลี่ยน
ตอนที่ 3-2 ชุมชนปลอดขยะ VS หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง VS ปัญหาสิ่งแวดล้อมของจังหวัดน่านเกี่ยวข้องกันอย่างไร
หลักสำคัญของการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน คือการยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในทุกกระบวนการดำเนินงาน และส่งเสริมให้ชุมชนนำไปปรับใช้ในการดำเนินชีวิตด้วยเช่นกัน สำหรับการบริหารจัดการขยะของชุมชนบ้านศรีบุญเรืองก็ได้ยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ดังนี้
หลักความพอประมาณ คือ โดยกิจกรรมต่างๆ เน้นให้ทุกครัวเรือนเริ่มจากการทำกิจกรรมทุกอย่าง “ในบ้าน” ของตนเองก่อน เพื่อให้ทุกคนรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ ไม่เกินกำลัง และเป็นประโยชน์ต่อตนเอง และเน้นการให้ทางเลือกที่ชุมชนสามารถปฏิบัติได้จริง ไม่เพิ่มภาระทั้งด้านค่าใช้จ่ายและความรู้สึกเหนื่อยยากเพิ่มขึ้น เช่น สนับสนุนการใช้ถุงผ้า หรือปิ่นโต ทดแทนการใช้ถุงพลาสติก ซึ่งเป็นของที่ทุกครัวเรือนมีอยู่แล้ว เป็นต้น
หลักความมีเหตุผล เน้นการพัฒนาชุมชนบนฐานของความรู้และข้อมูล โดยทุกคนในชุมชนร่วมกันใช้ข้อมูล ข้อเท็จจริง ประกอบกับการใช้แผนที่เพื่อวิเคราะห์ชุมชน ค้นหาปัญญา สาเหตุ และกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกัน สรุปเป็นแผนพัฒนาชุมชน เพื่อเป็นกรอบแนวทางการพัฒนาของชุมชนบ้านศรีบุญเรืองที่ใช้ร่วมกันทั้งชุมชนและหน่วยงานต่างๆ
โดยเฉพาะการมุ่งสู่การเป็นชุมชนปลอดขยะ ทุกคนในชุมชนต้องได้รับข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาขยะในชุมชน ต้ององค์ความรู้เกี่ยวกับการจัดการขยะที่ถูกต้อง และมีความเข้าใจตรงกัน จึงนำไปสู่การเริ่มต้นการดำเนินกิจกรรมโดยการส่งเสริมให้ประชาชนมีการคัดแยกขยะ โดยนำหลัก 3R มาใช้ ประกอบด้วย การลดการใช้ การนำกลับมาใช้ซ้ำ และนำกลับมาใช้ใหม่
หลักการมีภูมิคุ้มกัน คือ
ระดับครัวเรือน เน้นการพึ่งพาตนเองให้จัดการขยะในครัวเรือนที่ตนเองสร้างขึ้นได้ เช่น การคัดแยกขยะโดยสมาชิกทุกคนในครัวเรือน การสอนให้ชุมชนสามารถทำผลิตภัณฑ์ใช้เองในครัวเรือน เช่น น้ำยาล้างจาน สบู่ แชมพู ส่งเสริมการปลูกผัก/พืชสมุนไพรในครัวเรือน เพื่อลดการไปซื้อของที่ตลาด การให้ข้อมูลย้อนกลับเกี่ยวกับปริมาณขยะที่แต่ละครัวเรือนผลิตในแต่ละวัน ปริมาณขยะรวม ผลกระทบ/ปัญหาระยะยาว เพื่อสร้างจิตสำนึกให้ชุมอย่างต่อเนื่อง
ระดับชุมชน จัดทำจุดคัดแยกขยะ จุดแปรรูปขยะ จุดรับซื้อขยะ เพื่อให้กิจกรรมการจัดการขยะของชุมชนสามารถทำได้ครบวงจรภายในชุมชนโดยไม่ต้องพึ่งพาภายนอกมากเกินไป
เงื่อนไขความรู้คู่คุณธรรม จากกระบวนการดำเนินกิจกรรมโครงการตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงขั้นตอนสุดท้าย จะเห็นว่าทุกขั้นตอนเน้นการให้ความรู้ ข้อมูล กระบวนการมีส่วนร่วม และการสร้างจิตสำนึกรักชุมชน รักสิ่งแวดล้อม และเป้าหมายของทุกกิจกรรมคือเพื่อทุกคนในชุมชน โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือการอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน
จากชุมชนปลอดขยะตอบโจทย์การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมของจังหวัดน่านอย่างไร
เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญของจังหวัดน่าน ชุมชนบ้านศรีบุญเรืองเองก็ประสบปัญหาการใช้พื้นที่ทางการเกษตรที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะการบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เนื่องจากการไม่มีอาชีพทางเลือก ทำให้เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญคือ ป่าไม้ถูกทำลาย การใช้สารเคมีเพื่อการเกษตร การเผาเศษวัสดุที่เหลือจากการเกษตรซึ่งทำให้เกิดปัญหาหมอกควันและไฟป่า
จากปัญหาข้างต้นจะเห็นว่าชุมชนบ้านศรีบุญเรืองได้บริหารจัดการเพื่อให้ทุกกิจกรรมในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นด้านการพัฒนาอาชีพ การเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนนั้น ต้องมีกิจกรรมการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไปด้วย โดยกิจกรรมหลักของชุมชนบ้านศรีบุญเรืองที่สอดคล้องตามนโยบายของจังหวัดน่าน ได้แก่
1) การวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างเหมาะสม กำหนดแนวเขตพื้นที่ทำกินกับแนวเขตพื้นทีป่าเพื่อช่วยลดการใช้พื้นที่ ลดการบุกรุกพื้นที่ป่า และช่วยลดการใช้สารเคมีและลดการเผาขยะที่เกิดจากการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (ซังข้าวโพด)
จากชุมชนปลอดขยะสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนของชุมชนบ้านศรีบุญเรือง
1) การวางระบบการบริหารจัดการขยะ โดยมีคณะกรรมการชุมชนเป็นผู้กำกับติดตาม โดยกำหนดเป็นวาระในการประชุมประจำเดือนของหมู่บ้านเพื่อติดตามรายงานผล ปัญหา และข้อเสนอแนะ
ด้านการจัดการขยะอย่างต่อเนื่อง
2) สร้างทีมเยาวชนรุ่นใหม่สืบทอดกิจกรรม โดยคณะกรรมการชุมชนประสานงานร่วมกับโรงเรียนให้นักเรียนร่วมกิจกรรมการจัดการขยะในชุมชน เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับเยาวชน และสร้างความรู้สึกร่วมในการเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมตั้งแต่เด็กเพื่อให้เกิดเป็นพฤติกรรมปกติในชีวิตประจำวัน โดยไม่รู้สึกว่าการแยกขยะเป็นภาระหรือเป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่เพียงอย่างเดียว
3) สร้างเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ ปรับรูปแบบการดำเนินงาน ร่วมกันวิเคราะห์แก้ไขปัญหา และพัฒนากิจกรรมให้เกิดความต่อเนื่อง รวมถึงขยายผลสำเร็จให้กับชุมชนอื่นๆที่สนใจให้เข้ามาศึกษาดูงานอีกด้วย
4) การพัฒนาชุมชนให้เป็นแหล่งเรียนรู้/องค์ความรู้ภายในชุมชน จากกิจกรรมตลาดนัดขยะทองคำ เกิดแหล่งเรียนรู้ในชุมชน“ฐานการจัดการขยะในชุมชน”ที่ชุมชนสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับชุมชนคนอื่นได้ พร้อมยังเป็นพัฒนาฐานเรียนรู้ชุมชน เกิดเป็นแหล่งศึกษาดูงานชุมชน ซึ่งชุมชนดำเนินการเองได้ มีวิทยากรเพื่อถ่ายทอดความรู้พัฒนาเป็น “ศูนย์เรียนรู้ชุมชนบ้านศรีบุญเรือง”และยังฐานเรียนรู้อื่นๆ ได้แก่
ฐานการเรียนรู้โดยการจัดการของครัวเรือน
ฐานการเรียนรู้โดยการจัดการของกลุ่ม
รางวัลแห่งความภาคภูมิใจของบ้านศรีบุญเรือง ซึ่งสามารถเป็นชุมชนตัวอย่างด้านต่างๆในจังหวัดน่าน ดังนี้
- 2559 หมู่บ้านศีล 5 ระดับจังหวัดในปี พ.ศ.2559 จากสภาวัฒนธรรมจังหวัดน่าน
- 2560 หมู่บ้านประชาธิปไตยต้นแบบระดับอำเภอสันติสุข
- 2560 หมู่บ้าน OTOP หมู่บ้านนวัตวิถี มีการจัดทำโครงการหมู่บ้านสะอาด ชุมชนสวยงาม
- 2560 รางวัลชนะเลิศ หมู่บ้าน / ชุมชนสะอาด ระดับตำบล
- 2561 รวมกลุ่มจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ในชุมชนและให้ชุมชนภายนอกได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้
- 2562 มีผู้เข้ามาศึกษาดูงานในชุมชนจำนวน 5 คณะ ผู้เข้าร่วมศึกษาดูงาน จำนวน 230 คน
- 2563 รางวัลชุมชนปลอดขยะ (Zero waste) ระดับดีเยี่ยม (ชุมชนขนาดกลาง) ระดับภาค จากกระทรวงทรัพยากรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ข้อมูลและภาพโดย
นางสุพรรณ บูรณเทศ ผู้ใหญ่บ้านศรีบุญเรือง
คณะกรรมการหมู่บ้านศรีบุญเรือง
โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลพงษ์
องค์การบริหารส่วนตำบลพงษ์
โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงโป่งคำ อำเภอสันติสุข จังหวัดน่าน
กลุ่มงานสิ่งแวดล้อม สวพส
กลุ่มงานสังคม สวพส.