ทางเลือกที่ถูกทาง...ก้าวย่างสู่วิถีเกษตรยั่งยืนที่เลอะกรา

ทางเลือกที่ถูกทาง...ก้าวย่างสู่วิถีเกษตรยั่งยืนที่เลอะกรา

 

          ทางเลือกใหม่ สร้างได้ด้วยความรู้และความเพียร ของเกษตรกร ปกาเกอะญอที่บ้านเลอะกรา อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่

 

 

 

 

             เมื่อ 12 ปีที่แล้ว นายคาชุ  นุดา หรือพะติ๊คาชุ ปัจจุบันอายุ 43 ปี เกษตรกรบ้านเลอะกรา ในโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงเพื่อแก้ปัญหาพื้นที่เฉพาะขุนตื่นน้อย ตำบลแม่ตื่น อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ มีฐานะยากจน ความรู้น้อย และมีทางเลือกในการประกอบอาชีพจำกัด จึงได้ลักลอบปลูกฝิ่น ซึ่งในระหว่างนั้นครอบครัวใช้ชีวิตอยู่แบบหวาดระแวง ไม่มีความสุข จนกระทั่งพะติ๊คาชุได้ถูกจับกุมในเวลาต่อมา ทำให้รู้สึกเสียใจที่เป็นต้นเหตุให้ครอบครัวมัวหมอง พะติ๊คาชุจึงตั้งเป้ากับตนเองว่า “ถ้าออกจากคุกมาจะเลือกใช้ชีวิตแบบใหม่ จะไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด และจะสอนลูกหลานไม่ให้เกี่ยวข้องกับยาเสพติด” เมื่อพ้นโทษออกมา พะติ๊คาชุได้กลับมาปลูกข้าวไร่และหาของป่าซึ่งเป็นวิถีดำรงชีพหลักในชุมชนบ้านเลอะกรา

 

             เนื่องด้วยต้องการทำตามความตั้งใจของตนในการส่งบุตรให้ได้เรียนหนังสือมีความรู้ อาชีพเดิมจึงไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายของครัวเรือน ในปี พ.ศ. 2556 พะติ๊คาชุได้เข้าร่วมงานส่งเสริมของ สวพส. ในการปลูกฟักทองญี่ปุ่น และการปรับเปลี่ยนพื้นที่ข้าวไร่ส่วนหนึ่งเป็นนาขั้นบันได ที่ทำให้ครอบครัวมีข้าวพอกิน มีรายได้เพิ่มขึ้น และได้คืนพื้นที่ข้าวไร่เดิมเป็นป่าชุมชน แม้ว่าช่วงที่ผ่านมาพะติ๊คาชุมีผลผลิตข้าวที่เพียงพอต่อการบริโภค แต่จากการสังเกตพบว่าบางปีผลผลิตข้าวนาลดลงเนื่องจากแมลงศัตรูข้าว พะติ๊คาชุจึงเข้าร่วมทดสอบวิธีการจัดการแมลงศัตรูข้าวนาแบบผสมผสานด้วยการกำจัดแหล่งที่อยู่อาศัยของแมลงศัตรูข้าวนา การใช้สารชีวภัณฑ์และสมุนไพรท้องถิ่น การสำรวจแมลงศัตรูข้าวนาในแปลงของตนเอง เช่น เพลี้ยกระโดด เพลี้ยจักจั่น หนอนกระทู้คอรวง รวมทั้งการเรียนรู้ประโยชน์ของแมลงศัตรูธรรมชาติ เช่น แมลงปอ แมงมุม จิงโจ้น้ำ ที่ช่วยควบคุมแมลงศัตรูข้าวนา และการเฝ้าระวังการระบาดของแมลงศัตรูข้าวในแต่ละช่วงระยะการเจริญเติบโตของต้นข้าว  

 

 

 

             ในปี พ.ศ. 2559-2562 พะติ๊คาชุ เป็นเกษตรกรนำร่องร่วมทดสอบไม้ผลทางเลือกที่เหมาะสมกับพื้นที่บ้านเลอะกราที่มีความสูง 800-900 เมตร เพราะอยากมีผลไม้ที่หลากหลายไว้กิน เป็นรายได้ และเป็นมรดกให้ลูกหลาน ประกอบด้วย มะม่วง 4 พันธุ์ คือ นวลคำ อาร์ทูอีทู มะม่วงแก้ว และโชคอนันต์ รวมทั้งอะโวคาโดพันธุ์แฮสและปีเตอร์สัน ซึ่งนักวิจัย นักพัฒนา และเกษตรกร ได้ร่วมกันคัดเลือกตามความเหมาะสมของแปลงปลูก สภาพภูมิอากาศ ความสนใจของเกษตรกร และโอกาสทางการตลาด นอกจากนี้ พะติ๊คาชุอยากมีรายได้เสริมช่วงว่างหลังการเก็บเกี่ยวข้าวนาแทนการหาของป่าที่เสี่ยงอันตรายจากสัตว์ป่าและพะติ๊คาชุมีอายุมากขึ้น นักพัฒนาจึงนำองค์ความรู้จากผลการทดสอบพืชผักในพื้นที่ ได้แก่ ถั่วลันเตา ถั่วแขก กวางตุ้งใบ ผักขี้หูด และผักชี ส่งเสริมปลูกในระหว่างแถวไม้ผลที่ยังไม่ให้ผลผลิต ปัจจุบัน ไม้ผลเหล่านี้มีการเจริญเติบโตจากวันแรกที่ปลูกมะม่วงมีความสูงเฉลี่ย 70 เซนติเมตร ทรงพุ่มเฉลี่ย 25 เซนติเมตร ต้นอะโวคาโดความสูงเฉลี่ย 30 เซนติเมตร ทรงพุ่มเฉลี่ย 10 เซนติเมตร เป็นความสูงต้นเฉลี่ย 2.5-3 เมตร ทรงพุ่มเฉลี่ย 1-1.5 เมตร และเริ่มให้ผลผลิตในปีที่ผ่านมา

 

 

              ตลอดระยะเวลา 8 ปีที่ได้เข้าร่วมงานส่งเสริมและงานวิจัยกับ สวพส. พะติ๊คาซุ ได้เรียนรู้ว่าการจะเลือกทางเลือกที่ถูกทางได้ จำเป็นต้องมีความรู้และพี่เลี้ยงที่คอยแนะนำและให้กำลังใจอย่างสม่ำเสมอ พะติ๊คาชุ ได้รับโอกาสในการปรับพื้นที่ข้าวไร่เป็นนาขั้นบันได มีความรู้การเฝ้าระวังแมลงศัตรูข้าว ทำให้ครอบครัวมีความมั่นคงด้านอาหาร ในขณะเดียวกันมีความรู้และทักษะการเกษตรผสมผสานในการปลูกพืชผักระยะสั้นและไม้ผลที่เหมาะสมกับพื้นที่ที่จะเป็นทั้งแหล่งอาหารและสร้างรายได้ระยะยาว เป็นมรดกไว้ให้ลูกหลาน และเพิ่มพื้นที่ป่าไม้รอบชุมชน ในวันนี้ พะติ๊คาชุ มีความมั่นใจเพิ่มมากขึ้นในทักษะด้านการเกษตรของตนเองและกล้าเริ่มต้นสิ่งใหม่ๆ เช่น การปลูกกาแฟอราบิก้าอินทรีย์ภายใต้ร่มเงา และการเลี้ยงไก่ไข่ ปัจจุบันพะติ๊คาชุและครอบครัวใช้ชีวิตแบบมีความสุขบนทางเลือกใหม่ ไม่ต้องอยู่แบบหวาดระแวง และเป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูกหลาน

 

 

           

 
เขียน / เรียบเรียงเรื่องโดย:
นางสาวณัฐวรรณ ธรรมสุวรรณ์ นายพัฒนา มงคลวาท และ นางสาวภาวิณี คำแสน
source!='') { ?>
แหล่งที่มา / เอกสารอ้างอิง:

ข้อมูลนี้เป็นที่น่าพึงพอใจหรือเป็นประโยชน์สำหรับท่านหรือไม่
 

บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง