“ลองทำดู” ของคนในชุมชนป่าเมี่ยง

“ลองทำดู” ของคนในชุมชนป่าเมี่ยง

 

 

 

           “ลองทำดู” คำพูดติดปากของนายประสิทธิ์ โต่พอ เกษตรกรรุ่นใหม่ วัย 39 ปี ในโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงป่าแป๋ อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่

          วนเกษตรป่าเมี่ยงเศรษฐกิจชุมชนของคนอยู่ร่วมกับป่า นับเป็นเวลากว่าร้อยปีที่คนในชุมชนป่าแป๋ ดำรงชีพด้วยการทำสวนเมี่ยงภายใต้ระบบวนเกษตร จำหน่ายเมี่ยงและใบชาเป็นรายได้หลักของครัวเรือน แต่ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไปการบริโภคเมี่ยงมีแนวโน้มลดลง รายได้จากชาเมี่ยงเพียงอย่างเดียวจึงไม่เพียงพอกับรายจ่ายของครัวเรือน พี่ประสิทธิ์จึงเป็นบุคคลหนึ่งที่ออกไปรับจ้างนอกบ้านยามว่างเว้นจากการเก็บเมี่ยงและทำนาเพื่อหารายได้มาจุนเจือครอบครัว โดยมีรายได้เฉลี่ยต่อปี 41,000 บาท จากเมี่ยง 26,000 บาท และรับจ้างทั่วไป 15,000 บาท และในปี 2560 โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงป่าแป๋เริ่มขยายงานส่งเสริมไปยังบ้านกิ๋วถ้วย-ปางมะโอ ด้วยความสนใจด้านการเกษตรอยู่ก่อนแล้ว ประกอบกับเห็นโอกาสและความสำเร็จของเกษตรกรบ้านปางมะกล้วยที่เป็นหมู่บ้านหลักของงานส่งเสริม อีกทั้งยังพอมีพื้นที่ว่างเหลืออยู่และไม่ต้องการออกไปรับจ้างนอกพื้นที่อีก จึงตัดสินใจทดลองปลูกคะน้าฮ่องกงในโรงเรือนเป็นรายแรกของหย่อมบ้านปางมะโอสร้างรายได้ 10,875 บาท และในปี 2561 มีรายได้จากคะน้าฮ่องกงเพิ่มขึ้นเป็น 36,824 บาท

 

 

          ด้วยคำพูดติดปาก “ลองทำดู” พี่ประสิทธิ์จึงไม่เคยหยุดยั้งที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ คอยหาความรู้เพิ่มเติมจากการสอบถามเจ้าหน้าที่ เข้าร่วมการฝึกอบรม และใฝ่หาความรู้ใหม่ๆ จากอินเตอร์เน็ต โดยในปี 2562 ได้ร่วมวิเคราะห์พื้นที่กับนักวิจัยและนักพัฒนา ในการใช้ประโยชน์ที่ดินหลังนาสร้างรายได้หมุนเวียนเพิ่มขึ้น และเข้าร่วมการทดสอบเปรียบเทียบเทคโนโลยีการปลูกฟักทองญี่ปุ่นหลังนา 2 กรรมวิธี ได้แก่ แบบจัดแถวและแบบขึ้นค้าง โดยการมีส่วนร่วมตั้งแต่วางแผน จัดการแปลง สังเกตโรคแมลง บันทึกข้อมูลผลผลิต และการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว จากการวิจัยเชิงปฏิบัติการสรุปได้ว่าการปลูกฟักทองญี่ปุ่นแบบจัดแถวมีน้ำหนักผลเฉลี่ยต่อต้นมากกว่าแบบขึ้นค้าง 24% แต่มักพบการระบาดของโรคที่เกิดจากเชื้อรา การกัดกินของหนู และสีผิวของผลไม่สม่ำเสมอ ส่วนการปลูกฟักทองญี่ปุ่นแบบขึ้นค้าง สามารถจัดการแปลง โรคแมลง และหนูได้ง่าย แต่มีต้นทุนในการทำค้างเพิ่มขึ้น 3,847 บาท/ไร่ ซึ่งคุณภาพของผลผลิตขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ การให้น้ำปุ๋ยที่เหมาะสม และการจัดการโรคแมลง ซึ่งในปี 2562 พี่ประสิทธิ์มีรายได้จากคะน้าฮ่องกงและฟักทองญี่ปุ่นรวมเป็นเงิน 54,908 บาท

 

 

 

 

 

          เมื่อลงมือทำแล้วเห็นผล จึงเกิดการต่อยอดที่ไม่สิ้นสุด ในปีที่ผ่านมาพี่ประสิทธิ์ยังได้เข้าร่วมการทดสอบปลูกพืชทางเลือกอีกหลายชนิด ได้แก่ หน่อไม้ฝรั่ง ถั่วแขก ผักสลัด พืชไร่ และการผลิตเมล็ดพันธุ์ผัก รวมทั้งต้องการปรับเปลี่ยนระบบเกษตรจาก GAP เป็นเกษตรอินทรีย์ ด้วยจิตสำนึกที่ว่าเมื่ออยู่กับป่าไม่อยากทำลายป่า และเป็น 1 ในเกษตรกร 15 ราย ที่นำองค์ความรู้จากการศึกษาเทคโนโลยีการเลี้ยงผึ้งโพรงบนพื้นที่สูงไปใช้ประโยชน์เพื่อสร้างรายได้และผสมเกสรพืช ไม่ว่าจะเป็นการทำลังผึ้งโพรงแบบใหม่ที่ประยุกต์จากลังผึ้งพันธุ์ วิธีการล่อผึ้งโพรงด้วยไขผึ้ง และการเก็บเกี่ยวน้ำผึ้งแบบใหม่ที่ผ่านการกรองและคัดแยกหลอดรวงน้ำผึ้งให้มีความชื้นไม่เกิน 21% ตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 211) ปี พ.ศ. 2543 โดยในปี 2563 มีรายได้รวมจากคะน้าฮ่องกง ฟักทองญี่ปุ่น หน่อไม้ฝรั่ง ผักสลัดอินทรีย์ พืชไร่ และการผลิตเมล็ดพันธุ์ผัก รวมเป็นเงิน 90,650 บาท แม้ว่าปัจจุบันพี่ประสิทธิ์มีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีพจากการเกษตรที่หลากหลาย แต่ก็ไม่ละทิ้งการทำเมี่ยงซึ่งเป็นทุนเดิมของครอบครัว ที่ยังสร้างรายได้เสริมให้แก่ครัวเรือนอีกปีละ 10,000-20,000 บาท ก่อเกิดรายได้หมุนเวียนรายวันจากเมี่ยง รายได้รายเดือนจากพืชผัก และหาของป่า ปลูกข้าวนา เลี้ยงไก่และหมูไว้บริโภค โดยไม่ต้องออกไปรับจ้างนอกบ้าน ครอบครัวพ่อแม่ลูกอยู่กันพร้อมหน้า เป็นวิถีชีวิตที่พอเพียงและมีความสุข นับเป็นผู้นำเกษตรกรและนักวิจัยท้องถิ่นที่เรียนรู้ “ลองทำดู” ร่วมทดสอบ และลงมือปฏิบัติจนเกิดความรู้ใหม่ในการยกระดับระบบเกษตรท้องถิ่นที่สามารถขยายผลแก่เกษตรกรรายอื่นในชุมชนได้

 

 
เขียน / เรียบเรียงเรื่องโดย:
กชพร สุขจิตภิญโญ วินัย จอมนงค์ และภาวิณี คำแสน
source!='') { ?>
แหล่งที่มา / เอกสารอ้างอิง:

ข้อมูลนี้เป็นที่น่าพึงพอใจหรือเป็นประโยชน์สำหรับท่านหรือไม่
 

บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง