ปลอมปน...กับ...ปนเปื้อน

ปลอมปน...กับ...ปนเปื้อน

 

 

     ในมาตรฐานการปลูกพืชทั้งในเกษตรอินทรีย์ และ GAP มักจะเจอคำ 2 คำ “ปลอมปน” กับ “ปนเปื้อน” ทำความเข้าใจง่ายๆ ได้ดังนี้

  •      “ปลอมปน” มักใช้ในกรณีที่เอาผลิตผลที่แตกต่างกันหรือไม่เข้าพวกกัน มาปนกัน เช่น เอาผัก GAP มาปนกับผักอินทรีย์ หรือการเอาผลิตผลที่เสียหายมาปนกับผลิตผลที่มีคุณภาพดีส่วนการ
  •      “ปนเปื้อน มักเป็นกรณีของการตรวจพบสารเคมีปนเปื้อนในผักอินทรีย์ หรือเมื่อแปลงข้างเคียงฉีดพ่นสารเคมีแล้วปนเปื้อนในแปลงอินทรีย์ เป็นต้น

ซึ่งทั้ง 2 กรณี ถือเป็นการ “ละเมิด” มาตรฐานขั้นรุนแรงทั้งสิ้น

 

 

ดังนั้นจึงต้องมีมาตรการป้องกัน ดังนี้

  1. ในกรณีที่แปลงเกษตรอินทรีย์อาจได้รับการปนเปื้อนจากแปลงข้างเคียงที่มีการใช้สารเคมี แหล่งมลพิษ และแหล่งปนเปื้อน ผู้ผลิตต้องมีแนวกันชนป้องกันการปนเปื้อนสารเคมีจากแปลงข้างเคียงโดยมีขนาดกว้างไม่น้อยกว่า 1 เมตร
  2. ห้ามใช้เครื่องมือ โดยเฉพาะที่ใช้ฉีดพ่นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชหรือสารเคมีที่ใช้ในระบบเกษตรเคมีปะปนกับเครื่องมือฉีดพ่นที่ใช้ในระบบเกษตรอินทรีย์ กรณีนี้เกิดขึ้นบ่อย เนื่องจากเกษตรกรมักจะมีแปลงปลูกพืชอื่นๆ นอกเหนือจากแปลงปลูกพืชอินทรีย์ เมื่อเกษตรกรใช้ถังพ่น (โบโด) ไปฉีดพ่นสารเคมีในแปลงอื่น แล้วในภายหลังนำมาฉีดพ่นน้ำหมักหรือชีวภัณฑ์ในแปลงอินทรีย์ เมื่อนำผลิตผลอินทรีย์ไปตรวจสารเคมีตกค้าง จะพบสารเคมีในปริมาณที่ต่ำมากๆ (แม้ว่าจะล้างถังพ่นแล้วก็ตาม เนื่องจากสารเคมีจะค้างในท่อหรือหัวพ่นอยู่) ดังนั้นหากเกษตรกรมีแปลงปลูกพืชอินทรีย์และแปลงปลูกพืชทั่วไป ขอแนะนำว่าให้แยกเครื่องมือเครื่องใช้ให้ชัดเจน
  3. ในกรณีที่มีการใช้เครื่องจักรกลการเกษตร เช่น เครื่องเก็บเกี่ยว เครื่องนวด ฯลฯ ร่วมกันทั้งฟาร์มเกษตรเคมีและอินทรีย์ ต้องทำความสะอาดเครื่องจักรดังกล่าวก่อนที่จะนำไปใช้ในแปลงเกษตรอินทรีย์
  4. การเก็บปัจจัยการผลิตอินทรีย์และเคมีจะต้องแยกกันชัดเจน
  5. ห้ามเก็บปัจจัยการผลิตที่ไม่อนุญาต (สารเคมีเกษตร เช่น ปุ๋ยเคมี สารเคมีป้องกันกำจัดโรค-แมลง ฯลฯ) ไว้ในแปลงอินทรีย์
  6. เอกสารที่เกี่ยวกับผลิตผลอินทรีย์จะต้องสามารถแยกแยะออกจากผลิตผลทั่วไปได้ทุกขั้นตอน และต้องระบุ “อินทรีย์” ในเอกสารที่เกี่ยวข้องทุกฉบับ
  7. “การเก็บรักษา” ผลิตผล/ผลิตภัณฑ์อินทรีย์ต้องเก็บแยกออกจากผลิตผล/ผลิตภัณฑ์เกษตรเคมีหรือเกษตรทั่วไปให้ชัดเจน ไม่ปะปนกัน เว้นแต่...มีการบรรจุในบรรจุภัณฑ์ที่มีลักษณะสีสันต่างกันหรือมีการติดป้ายแยกแยะไว้ชัดเจน ซึ่งรวมตลอดถึงช่วงระหว่างการเคลื่อนย้ายจนถึงมือผู้บริโภค และการจัดเก็บผลิตผลและผลิตภัณฑ์อินทรีย์จะต้องมีมาตรการป้องกันการปนเปื้อนจากสารต้องห้ามได้ตลอดเวลา
  8. “การขนส่ง” ผลิตผล/ผลิตภัณฑ์อินทรีย์จะต้องไม่ปนเปื้อนหรือปะปนกับสินค้าทั่วไป ทั้งนี้หากไม่สามารถหลีกเลี่ยงการขนส่งรวมกับสินค้าทั่วไปได้ ผลิตภัณฑ์อินทรีย์จะต้องมีการติดฉลากไว้ชัดเจน และมีภาชนะบรรจุที่สามารถป้องกันการปนเปื้อนได้

 

 
เขียน / เรียบเรียงเรื่องโดย:
ดร.เพชรดา อยู่สุข นักวิจัย
source!='') { ?>
แหล่งที่มา / เอกสารอ้างอิง:

ข้อมูลนี้เป็นที่น่าพึงพอใจหรือเป็นประโยชน์สำหรับท่านหรือไม่
 

บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง