รู้เขา รู้เรา ทางรอดเสาวรสบนพื้นที่สูง

รู้เขา รู้เรา ทางรอดเสาวรสบนพื้นที่สูง

 

 

          ปัจจุบันเสาวรสเป็นไม้ผลเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย มีปริมาณผลผลิตประมาณ  10,000 ตันต่อปี ขณะที่บราซิล โคลอมเบีย และอินโดนีเซีย มีผลผลิต 9.481 3.705 1.146 แสนตันต่อปี ตามลำดับ และในประเทศอาเซียน ได้แก่ เวียดนาม มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ก็มีการปลูกเสาวรสเช่นกัน สำหรับในไทยมีทั้งพันธุ์ผลสีม่วงที่เป็นพันธุ์กินสด ได้แก่ พันธุ์ RPF No.1 พันธุ์ไทนุง และพันธุ์ผลสีเหลืองซึ่งนิยมนำไปแปรรูปเป็นน้ำผลไม้ โดยในปี 2562 มีเกษตรกรผู้ปลูกเสาวรส 1,884 ครัวเรือน พื้นที่ปลูก 10.527 ไร่ ปริมาณผลผลิต 11,558 ตัน แหล่งปลูกเสาวรสกระจายอยู่ในพื้นที่ของภาคเหนือ ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน พิษณุโลก และแพร่ ซึ่งมี 2 กลุ่ม คือ (1) กลุ่มเกษตรกรในเครือข่ายพื้นที่มูลนิธิโครงการหลวง และสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (สวพส.) ซึ่งปลูกบนพื้นที่สูง และ (2) เกษตรกรทั่วไป และพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปลูกมากที่ เพชรบูรณ์ บุรีรัมย์ เลย สระแก้ว ฉะเชิงเทรา โดยเพชรบูรณ์มีพื้นที่ปลูกมากที่สุด รองลงมาคือ เชียงราย จากแนวโน้มความต้องการผลผลิตของผู้บริโภคพบว่ามีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาโดยเฉพาะพันธุ์กินสด ส่งผลให้ราคาเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้น โดยมีอัตราการเติบโต ร้อยละ 16.17 จึงเป็นโอกาสที่ดีของเกษตรกรผู้ปลูกเสาวรสของไทย

 

          แหล่งปลูกเสาวรสของไทยในแต่ละพื้นที่จะมีความแตกต่างกันทั้งในเรื่องสายพันธุ์ที่ปลูก รูปแบบการปลูก คุณภาพ รวมถึงช่องทางจำหน่าย โดยเกษตรกรในเครือข่ายของโครงการหลวง และสวพส.จะใช้พันธุ์ไทนุง และพันธุ์ RPF No.1 เกษตรกรจะซื้อต้นกล้าพันธุ์ที่สมบูรณ์ แข็งแรง และปลอดโรคจากโครงการหลวง และมีการย้ายพื้นที่ปลูกเสาวรสทุกปีเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาจากโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส ขณะที่เกษตรกรทั่วไปจะเลือกปลูก
พันธุ์ไทนุงเกือบทั้งหมด เนื่องจากให้ปริมาณผลผลิตมาก ทนต่อโรค โดยจะซื้อกล้าพันธุ์จากผู้ที่เพาะพันธุ์เสาวรสขายทั่วไป แต่คุณภาพและมาตรฐานอาจจะต่ำกว่าต้นกล้าจากโครงการหลวง หรืออาจเพาะเมล็ดเองเพื่อลดต้นทุน แต่จะพบปัญหาการกลายพันธุ์โดยผลผลิตจะมีทั้งสีเหลืองและสีม่วงปนกันซึ่งพบมากในพื้นที่ปลูกทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สำหรับรูปแบบการปลูกจะใช้วิธีการในการบำรุงดินและดูแลความสะอาดในแปลงปลูกแทนการย้ายพื้นที่ปลูก

 

          ในเรื่องคุณภาพและช่องทางตลาด เกษตรกรบนพื้นที่สูงจะเก็บเกี่ยวเมื่อผลเสาวรสเปลี่ยนเป็นสีม่วงประมาณ 70% มีการคัดเกรดผลผลิต ออกเป็น 6 เกรด โดยโครงการหลวงจะรับซื้อผลผลิตเฉพาะในส่วนที่ผ่านมาตรฐานคือ Extra เกรด 1 เกรด 2 เกรด 3 และเกรด 4 และวางจำหน่ายในร้านค้าโครงการหลวงหรือห้างร้านต่างๆ ส่วนเกรดคละ เกษตรกรจะขายให้กับพ่อค้าคนกลางที่เข้ามารับซื้อหรือผู้รวบรวมในพื้นที่ ส่วนผลผลิตจากเกษตรกรในเครือข่ายของ สวพส. จะจำหน่ายผ่านมูลนิธิโครงการหลวงและพ่อค้าคนกลาง สำหรับเกษตรกรในพื้นที่อื่นจะเก็บเกี่ยวเมื่อผลเปลี่ยนสี 60% และจำหน่ายให้กับพ่อค้าคนกลางหรือผู้รวบรวมในพื้นที่โดยเป็นแบบคละเกรดทั้งหมด จากนั้นพ่อค้าคนกลางหรือผู้รวบรวมจะนำไปคัดเกรดเป็น 3 เกรด คือ เกรด 1 สำหรับวางจำหน่ายในห้างร้านหรือส่งออก เกรด 2 สำหรับตลาดทั่วไป ซึ่งส่วนใหญ่จะส่งไปยังตลาดไท ตลาดสี่มุมเมือง หรือตลาดศรีเมือง และเกรด 3 สำหรับทำน้ำเสาวรส หรือเสาวรสแช่แข็ง แม้ว่าผลผลิตของเกษตรกรอื่นในพื้นที่ภาคเหนือจะเป็นพันธุ์ไทนุงแต่คุณภาพผลจะไม่เทียบเท่ากับผลผลิตจากพื้นที่สูง รวมถึงผลผลิตจากพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ต่างพันธุ์และต่างช่วงเวลากัน จึงส่งผลกระทบต่อผลผลิตของพื้นที่สูงไม่มากนัก

 

          อย่างไรก็ตาม จากการที่ผู้บริโภคมีแนวโน้มความต้องการบริโภคเสาวรสหวานเพิ่มมากขึ้น และมีช่วงที่ผลผลิตของไทยขาดตลาด จึงมีการนำเข้าผลผลิตเสาวรสจากต่างประเทศ ได้แก่ สปป.ลาว เวียดนาม ที่เริ่มเข้ามาตั้งแต่ปี 2557 ผ่านผู้ประกอบการค้าส่งในตลาดไทและตลาดสี่มุมเมือง และมีราคาที่ถูกกว่า โดยในปี 2562 มีปริมาณการนำเข้าสูงถึงปริมาณ 4,000-6,000 ตัน มีแหล่งปลูกที่สำคัญของประเทศลาว คือเมืองปากซอง แขวงจำปาสัก และแหล่งปลูกของเวียดนาม คือ เมืองลัมดง ดักลัก และเมืองลอง เป็นเสาวรสพันธุ์ไทนุง คุณภาพเสาวรสที่นำเข้าจากทั้งสองประเทศ มีสีผิวสวย รสชาติใกล้เคียงกับเสาวรสหวานในประเทศ และได้รับการยอมรับอย่างมาก ดังนั้น เมื่อวิเคราะห์ความสามารถทางการแข่งขัน โครงสร้างตลาดเสาวรสหวานของไทยมีลักษณะเป็นแบบผู้ขายน้อยราย โดยมีผู้ประกอบการในตลาด 3 รายคือ เสาวรสจากพื้นที่สูง (โครงการหลวง และสวพส.) เกษตรกรทั่วไป และเสาวรสจากต่างประเทศ ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาด ร้อยละ 20 45 และ 35 ตามลำดับ

 

 

            จากการที่เสาวรสของพื้นที่สูงมีส่วนแบ่งทางการตลาดเพียงร้อยละ 20 เนื่องจากมีปริมาณผลผลิตน้อย จึงยังมีโอกาสที่จะแข่งขันและดึงส่วนแบ่งทางการตลาดเสาวรสได้ โดยต้องมีกลยุทธ์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งผลผลิตมูลนิธิโครงการหลวงและ สวพส.มีจุดแข็ง คือ สภาพอากาศของพื้นที่ปลูกที่ส่งผลดีต่อคุณภาพผลผลิต มีสายพันธุ์ที่ให้คุณภาพผลที่ดี มีแหล่งผลิตกล้าพันธุ์ที่มีคุณภาพ และมีเจ้าหน้าที่ส่งเสริมที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญให้คำแนะนำ ด้านการตลาดมีช่องทางการจำหน่ายเป็นของตนเอง มีมาตรฐานความปลอดภัยของผลผลิตและการคัดคุณภาพที่สูง ได้รับการยอมรับและเชื่อมั่นจากผู้บริโภค

 

                ในส่วนของฤดูกาลเสาวรส เมื่อพิจารณาแหล่งผลิตเสาวรส พบว่าฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลผลิตเสาวรสในต่างประเทศ คือช่วงเดือนมิถุนายน – กุมภาพันธ์ โดยช่วงที่มีผลผลิตมากคือเดือนมิถุนายนและเดือนธันวาคม ซึ่งจะตรงกับฤดูกาลเสาวรสจากพื้นที่สูง แม้จะมีคุณภาพที่ด้อยกว่าเสาวรสของโครงการหลวง แต่ก็ยังมีคุณภาพที่ดีกว่าเสาวรสที่วางจำหน่ายในห้างร้านหรือตลาดขายผลไม้ทั่วไป และมีราคาถูกกว่าเสาวรสจากพื้นที่สูงค่อนข้างมาก จึงเป็นเรื่องที่ต้องจับตาในระยะนี้ แต่เสาวรสจากพื้นที่สูงก็ยังมีโอกาสในการแข่งขัน โดยต้องร่วมมือกันทุกภาคส่วนทั้งเกษตรกร เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ทั้งฝ่ายผลิตและฝ่ายตลาด โดยเน้นจุดเด่นของพันธุ์เสาวรสบนพื้นที่สูงที่มีคุณภาพและมีความแตกต่าง ความปลอดภัยของผลผลิต การวางแผนเพิ่มปริมาณการผลิตโดยเฉพาะในช่วงที่ผลผลิตขาดตลาด เน้นประชาสัมพันธ์ให้มากขึ้นเพื่อดึงส่วนแบ่งการทางการตลาด โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญของผลผลิตที่มีความสด สะอาด และปลอดภัย จึงเป็นโอกาสในการขยายฐานการตลาดของเสาวรสบนพื้นที่สูง

 

 

 
เขียน / เรียบเรียงเรื่องโดย:
อัจฉรา ภาวศุทธิ์
source!='') { ?>
แหล่งที่มา / เอกสารอ้างอิง:

เริงชัย ตันสุชาติ และคณะ (2563)


ข้อมูลนี้เป็นที่น่าพึงพอใจหรือเป็นประโยชน์สำหรับท่านหรือไม่
 

บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง