หอมญี่ปุ่น หรือ ต้นหอมยักษ์ เป็นพืชที่เราเคยเห็นในเมนูอาหารต่างๆ ได้แก่ สุกี้ยากี้ เนื้อย่าง หอมญี่ปุ่นผัดไข่ หอมญี่ปุ่นชุบแป้งทอด หรือในน้ำซุป เป็นต้น โดยเรานิยมบริโภคเฉพาะตรงส่วนลำต้นที่เป็นสีขาวซึ่งมีกลิ่นหอม และรสหวาน หอมญี่ปุ่น (Japanese Bunching Onion) มีชื่อวิทยาศาสตร์คือ Allium fistulosum L. จัดอยู่ในตระกูล Alliaceae หรือ Amaryllidaceae ลักษณะทั่วไปประกอบด้วย ราก ซึ่งเป็นระบบ fibrous root และ root hair ลำต้นจริงจะมีลักษณะเป็นแผ่นอยู่ระหว่างรากและใบ ใบมีลักษณะเป็นหลอดยาว คล้ายใบหอมขนาดใหญ่ มีจำนวน 6-7 ใบต่อต้น โดยใบนอกจำนวน 4 ใบ จะเป็นใบแก่ ใบอ่อนจะอยู่ด้านในจำนวน 2-3 ใบ ลำต้นเทียม คือ ส่วนของกาบใบ (scape) ทำหน้าที่สะสมอาหารเป็นส่วนที่นำมาบริโภค โดยทั่วไปลำต้นเทียมสูง 25-75 ซม. เส้นผ่าศูนย์กลาง 3-7 ซม.
หากพูดถึงหอมญี่ปุ่นบนพื้นที่สูง ก็ต้องที่บ้านแม่มะลอ ต.แม่นาจร อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นพื้นที่ดำเนินงานของโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงแม่มะลอ เป็นพื้นที่หนึ่งที่มีการปลูกหอมญี่ปุ่นมาเป็นเวลานาน ซึ่งพื้นที่มีความสูงมากกว่า 1,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล มีอากาศหนาวเย็น เหมาะสมต่อการปลูกหอมญี่ปุ่น มีพื้นที่ปลูกประมาณ 20 ไร่ โดยปลูกเป็นขั้นบันได การปลูกหอมญี่ปุ่นใช้เวลาในการปลูกตั้งแต่เพาะเมล็ดจนถึงเก็บผลผลิตใช้เวลาประมาณ 6 เดือน โดยใช้เวลาเพาะเมล็ด 3 เดือน และใช้เวลาตั้งแต่ถอนปลูกจนถึงเก็บผลผลิตอีก 3 เดือน เมื่อถอนหอมญี่ปุ่นหมดแล้ว เกษตรกรก็จะทิ้งแปลงไว้สักระยะ แล้วกลับมาปลูกหอมญี่ปุ่นอีกครั้ง จากการที่เกษตรกรปลูกหอมญี่ปุ่นเป็นเวลานานและมีการใส่ปุ๋ยสูตรเดิมๆ เช่น 16-20-0 และ 15-15-15 ทำให้มีปุ๋ยบางส่วนตกค้างอยู่ในดิน เมื่อเก็บตัวอย่างดินในแปลงปลูกหอมญี่ปุ่นพบว่าดินเป็นกรดจัด (4.59 – 5.29) ปริมาณอินทรียวัตถุสูง (3.14 – 3.8 %) ปริมาณฟอสฟอรัส และโพแทสเซียมสูง (65.27 – 319.55 และ 101.25 – 519.26 mg/kg ตามลำดับ) และมีปริมาณโบรอนต่ำมาก (0.04 - 0.35 mg/kg) และเมื่อเปรียบเทียบระหว่างธาตุอาหารที่อยู่ในดินกับปริมาณความต้องการธาตุอาหารของต้นหอมญี่ปุ่นพบว่าธาตุอาหารหรือปุ๋ยในดินมีหลายธาตุที่มีปริมาณเกินกว่าที่หอมญี่ปุ่นต้องการ มีเพียง ไนโตรเจน และโบรอนเท่านั้นที่ต้องเพิ่มเติมเข้าไป และจากการทดสอบการใส่ปุ๋ยหอมญี่ปุ่นโดยใส่ปุ๋ย 15-0-0 ปริมาณ 62 กก.400 ตร.ม. (ซึ่งปุ๋ย 15-0-0 จะให้ปุ๋ยไนโตรเจน และแคลเซียม) และให้ปุ๋ยโบรอนทางใบ พบว่าผลผลิตหอมญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นร้อยละ 16
ในพื้นที่ปลูกหอมญี่ปุ่นที่บ้านแม่มะลอ เกษตรกรควรเพิ่มธาตุอาหารที่มีไนโตรเจน และโบรอนเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของหอมญี่ปุ่น โดยการใส่ปุ๋ยและปลูกพืชตระกูลถั่ว (ถั่วดำ ถั่วนิ้วนางแดง) หมุนเวียนในพื้นที่ปลูกหอมญี่ปุ่นและควรลดปริมาณการใช้ปุ๋ยฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม เนื่องจากในดินมีปริมาณสูงมาก ซึ่งอาจส่งผลให้ต้นหอมญี่ปุ่นดูดใช้ธาตุอาหารตัวอื่นๆได้น้อยลง และควรปรับค่า pH ให้อยู่ในช่วงระหว่าง 6.0-6.8 ซึ่งเป็นช่วงที่เหมาะสมในการปลูกหอมญี่ปุ่น ทั้งนี้ควรมีการเก็บตัวอย่างดินส่งวิเคราะห์สมบัติดินและปริมาณธาตุอาหารในดิน 1-2 ปี/ครั้ง เพื่อดูการเปลี่ยนแปลงของดินและปรับสูตรปุ๋ยให้เหมาะสมกับพืชที่ปลูกต่อไป