จากบทความครั้งก่อนที่เราได้นำถั่วลอดมาใช้ในการฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดินในพื้นที่ปลูกข้าวไร่บนพื้นที่สูง ในบทความนี้จึงอยากให้ท่านผู้อ่านได้รู้จัก ถั่วลอดมากยิ่งขึ้น
ถั่วลอดเป็นถั่วพุ่มชนิดหนึ่ง (Cowpea : Vigna unquiculata L.Walp) มีลักษณะพิเศษทางสรีรวิทยามีการเจริญเติบโตที่เอื้อต่อระบบการปลูกพืชร่วมกับพืชหลักในสภาพที่ดอนและที่สูงที่ปลูกข้าวไร่ และข้าวโพด เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ที่ดินและการจัดการทรัพยากรการเกษตรให้ยั่งยืน
การเจริญเติบโตของถั่วลอดเป็นแบบทอดยอด (indeterminate growth) ลำต้นเลื้อยแผ่ราบคลุมดิน ไม่เลื้อยพันกับพืชหลัก ความยาวของต้นหลักเลื้อยไปได้ไกลกว่า 10 เมตร ใบเป็นใบประกอบเกิดสลับบนต้นหรือกิ่ง สีใบเขียวถึงเขียวเข้ม ใบจะร่วงเมื่อฝักแก่ ดอกมีสีแตกต่างกันออกดอกตามซอกมุมใบ เป็นพืชผสมตัวเอง ช่วงออกดอกค่อนข้างยาว ฝักมีลักษณะเรียวยาว 15-25 ซม. ฝักแก่ไม่พร้อมกันมีสีฟางข้าวเมื่อแห้ง เมล็ดแต่ละเมล็ดจะแยกกันอยู่ในฝักอย่างชัดเจน สีแตกต่างกันไปตั้งแต่น้ำตาล น้ำตาลแดง ขาว- แดง ขาว-ดำ ดำ-น้ำตาล และยังมีปมที่รากช่วยในการตรึงไนโตรเจน
ถั่วลอดเป็นพืชที่ปรับตัวได้ดีในท้องถิ่น ในสภาพไร่อาศัยน้ำฝนไม่ต้องการน้ำมาก ต้นเลื้อยคลุมดิน สามารถคลุมวัชพืชและช่วยรักษาความชุ่มชื้นในดิน มีศักยภาพในการเพิ่มธาตุอาหารพืชโดยเฉพาะธาตุไนโตรเจน จากการตรึงไนโตรเจนของเชื้อไรโซเบียมในปมรากถั่วและยังมีซากใบและต้นที่สามารถเพิ่มอินทรียวัตถุให้แก่ดินได้ อีกทั้งยังให้ธาตุอาหาร ไนโตรเจนเฉลี่ย 1.35% ฟอสฟอรัสเฉลี่ย 0.09% และโพแทสเซียมเฉลี่ย 1.74% กลับลงสู่ดิน
นอกจากนี้ ถั่วลอดยังสามารถนำมาเป็นอาหารและจำหน่ายได้ในชุมชน ทั้งในรูปฝักอ่อน ฝักแก่ และเมล็ด เช่น ฝักสดต้มกินกับน้ำพริก ตำถั่ว เมล็ดใช้ประกอบอาหารเช่นเดียวกับถั่วดำ เมื่อวิเคราะห์หาคุณค่าทางโภชนาการของถั่วลอดฝักสดที่ปลูกร่วมในพื้นที่ปลูกข้าวไร่และข้าวโพด เปรียบเทียบกับถั่วฝักยาว ดัง พบว่า ถั่วลอดจะให้ คาร์โบไฮเดรต พลังงาน โปรตีน วิตามิน B1 B2 เหล็ก แมกนีเซียม ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม และสังกะสี มากกว่าถั่วฝักยาว หากเกษตรกรปลูกถั่วลอดนอกจากจะช่วยฟื้นฟูบำรุงดิน กักเก็บความชื้นในดินแล้ว ยังมีประโยชน์ทางคุณค่าโภชนาการสามารถนำมาบริโภคในครัวเรือนและจำหน่ายได้