พืชกันไฟ

พืชกันไฟ

          ไฟป่า คือ ไฟที่เกิดจากสาเหตุใดก็ตาม แล้วลุกลามไปได้โดยอิสระปราศจากการควบคุม ทั้งนี้ไม่ว่าไฟนั้นจะเกิดขึ้นในป่าธรรมชาติหรือสวนป่า โดยเกิดจากองค์ประกอบ 3 ส่วน (สามเหลี่ยมไฟ, Fire triangle) ที่สำคัญ หากขาดองค์ประกอบใดไป ไฟป่าจะไม่เกิดขึ้น หรือไฟป่าที่เกิดขึ้นแล้วและกำลังลุกลามอยู่ก็จะดับลง  (ถอดข้อมูลบางส่วนจาก กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช, ส่วนควบคุมไฟป่า สืบค้น 1 ก.พ. 2564)

ตัวอย่าง การทำแนวกันไฟ (Firebreak) ในพื้นที่ป่าต้นน้ำของชุมชนบนพื้นที่สูง เพื่อป้องกันและลดความเสียหายเมื่อเกิดเหตุการณ์ไฟป่า โดยวิธีการกำจัดเชื้อเพลิงที่ทำให้เกิดไฟป่า เช่น ใบไม้ กิ่งไม้ โดยกำจัดเชื้อเพลิงออกไปทั้งหมดจนถึงพื้นดิน ทำเป็นแนวกว้างไม่น้อยกว่า 8 เมตร ตามลักษณะภูมิประเทศ

          ไฟป่า สามารถเกิดขึ้นได้ในป่าเกือบทุกประเภท และสร้างความเสียหายแบบฉับพลัน เช่น พื้นที่ป่าและถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าถูกทำลายทันที และสร้างฝุ่นหมอกควัน (PM 2.5) ในชั้นบรรยากาศตามมา นอกจากนี้ผลกระทบในระยะสั้นจากไฟป่าในช่วงที่ผ่านมานั้น สามารถเห็นผลกระทบของไฟป่าได้ใน 3 ด้านหลักๆ คือ (ถอดข้อมูลบางส่วนจากรายงาน WWF & Boston Consulting Group: Fires, Forests, and the Future, 2020 และ พลาย ภิรมย์ WWW-Thailand, 2020)

          1) ด้านสุขภาพ พบว่า แต่ละปีมีผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากการป่วยด้วยโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจและไหลเวียนโลหิตถึง 340,000 คน ที่มีสาเหตุมาจากไฟป่า และยังพบปัญหาด้านความเครียดจากปัญหาไฟป่าและหมอกควัน กล่าวคือ ปริมาณหมอกควันหรือค่า PM 2.5 ที่สูงมากๆ จะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตโดยตรง เช่น ทำให้การออกมาทำกิจกรรมกลางแจ้งมีความยากลำบากมากขึ้น ทำลายทัศนียภาพที่สวยงาม นอกจากนี้จากการศึกษาของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดยังพบว่า การได้รับฝุ่นควันในระยะเวลานานจะทำให้อัตราความเสี่ยงเสียชีวิตจาก COVID-19 เพิ่มขึ้นถึง 15%

          2) ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ไฟป่าส่งผลกระทบโดยตรงต่อสิ่งมีชีวิตต่างๆ ภายในระบบนิเวศ ทำให้เกิดการสูญเสีย ตาย บาดเจ็บหรือป่วยจากการสูดดมควันไฟ ยกตัวอย่างเหตุการณ์ไฟป่าออสเตรเลียในช่วงปี 2019-2020 ที่ผ่านมา ได้คร่าชีวิตสัตว์ป่ามากถึง 3 พันล้านตัว และพืชพันธุ์ไม้พื้นถิ่นกว่าร้อยละ 6 ซึ่งขึ้นอยู่ในพื้นที่กว่าร้อยละ 30 ที่ถูกไหม้ต้องเสี่ยงใกล้สูญพันธุ์ และกระทบต่อห่วงโซ่อาหารของสัตว์ป่า รวมทั้งห่วงโซ่อาหารและความมั่นคงทางด้านอาหารของมนุษย์ด้วย

          3) ด้านเศรษฐกิจ ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงภาระงบประมาณที่ใช้สำหรับการฟื้นฟูและดับไฟป่า

ความสามารถในการกันไฟของพืช

          พืชไม่สามารถเคลื่อนที่หนีได้เมื่อเกิดไฟป่าในพื้นที่ ดังนั้นความอยู่รอดของพืชจึงเกี่ยวข้องการปกป้องเนื้อเยื่อเจริญ (cambium) จากความร้อนที่อาจทำลายเนื้อเยื่อนี้ได้ โดยการต้านทานหรือทนทานต่อไฟของพืชขึ้นอยู่กับปัจจัยดังต่อไปนี้ (Tropical Savannas CRC & Bushfire CRC, 2021)

          1) ความหนาของเปลือกไม้ (Bark thickness): เปลือกไม้ที่หนาเป็นฉนวนป้องกันเนื้อเยื่อเจริญจากความร้อนและการถูกทำลายได้ เช่น เต็ง รัง เหียง พลวง รกฟ้า ตะแบกเลือด แดง ประดู่ป่า มะกอก งิ้ว

          2) ฉนวนกันความร้อนของพืช (Vegetative insulation): พืชบางชนิดมีกาบใบหรือฐานใบที่หนา แข็งและมีความชื้นสูง ซึ่งจะช่วยห่อหุ้มปกป้องตาพืช (bud) ที่อยู่ตรงปลายลำต้น ไว้ให้พ้นอันตรายจากไฟป่า เช่น กล้วยป่า ต๋าว ค้อ หวาย ลิงลาว เตยหอม ปรง

          3) การแตกหน่อใหม่เหนือพื้นดิน (Above ground re-sprouting): ต้นไม้บางชนิดมีตาที่อยู่ใต้เปลือก (epicormic buds) ซึ่งสามารถแตกหน่องอกเป็นกิ่งได้ เช่น ยี่เข่ง (Crape myrtle, Lagerstroemia indica L.)

          4) รากและลำต้นใต้ดิน (Below–ground roots and underground stems): เนื่องจากดินเป็นฉนวนที่ดีตาใต้ดินจึงได้รับการปกป้องอย่างดี พืชสามารถอยู่รอดได้โดยการแตกหน่อจากลำต้นใต้ดิน (rhizome) หรือหัวที่มีลักษณะเป็นหัวแบบมันฝรั่งหรือหัวแบบเผือก เช่น พืชวงศ์ขิง (Zingiberaceae) พืชวงศ์บุกบอน (Araceae)

          5) มีตาใต้ดิน แม้ลำต้นส่วนบนของต้นไม้จะถูกไฟลวก แต่รากก็มีชีวิตอยู่ได้ใต้ดิน เป็นเหง้ามีเนื้อไม้แข็ง (lignotuber) ซึ่งมีตาอยู่มากมาย จะสร้างหน่อกลายเป็นลำต้นใหม่ได้อีก เช่น สัก ปีบ รัง เหียง เติม มะเดื่อใบใหญ่ มณฑาแดง มะยาง เพกา ฯลฯ (ที่มา: นิเวศวิทยาของไฟป่าในประเทศไทย โดย ดร. สมศักดิ์ สุขวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกอบรมวนศาสตร์ชุมชนแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (The Regional Community Forestry Training Center - RECOFTC) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์)

          เพราะฉะนั้น การคัดเลือกชนิดพืชเพื่อใช้ปลูกฟื้นฟูป่าควรคำนึงถึงไม้เบิกนำ (Pioneer species) และไม้ท้องถิ่น (Native species) ที่เหมาะสมกับสภาพนิเวศพื้นที่ป่าธรรมชาติ เพื่อให้พืชที่ปลูกมีโอกาสรอดตายและเจริญเติบโตได้อย่างเหมาะสม โดยพิจารณาเลือกชนิดที่มีความทนทานต่อสภาพภูมิอากาศในพื้นที่ปลูกนั้นๆ ทนไฟป่า และควรมีผลที่สามารถเป็นอาหารสัตว์ป่าซึ่งจะช่วยให้เกิดการกระจายพันธุ์ในพื้นที่เพิ่มขึ้นได้

          ทั้งนี้ การดำเนินงานป้องกันไฟป่าเพื่อให้เกิดประสิทธิผล จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งภาครัฐโดยการกำหนดข้อกฎหมายและการบังคับใช้ที่เข้มงวด และภาคประชาชนโดยความร่วมมือของชุมชนในพื้นที่ในการมีส่วนร่วมในการดูแลทรัพยากรธรรมชาติ การเฝ้าระวัง เช่น โครงการชุมชนเฝ้าระวังไฟป่าและการทำลายป่า การทำแนวกันไฟแบบธรรมชาติ และสร้างแหล่งน้ำขนาดเล็กในพื้นที่กันชน และสุดท้ายนี้เป็นความรับผิดชอบของเราทุกคน ที่ต้องตระหนักและให้ความสำคัญต่อทรัพยากรธรรมชาติเพื่อประโยชน์ต่อสรรพสิ่งที่อาศัยอยู่บนโลกใบเดียวกันนี้ โดยทุกคนสามารถมีส่วนช่วยในการป้องกันไฟป่าได้ เช่น การเป็นหูเป็นตาดูแลทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ให้ใครมาเผาป่าหรือสร้างความเสี่ยงต่อไฟไหม้ป่า ช่วยกันบอกเล่าถึงผลกระทบและการแก้ปัญหาไฟป่าให้คนรอบข้าง และร่วมกันบริโภคและใช้ชีวิตอย่างรับผิดชอบ เพียงเท่านี้คุณก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหา และสร้างการเปลี่ยนแปลงได้

 

 
เขียน / เรียบเรียงเรื่องโดย:
นายอานนท์ เทิดไพรพนาวัลย์ และ นางสาวศิริรัตนาพร หล้าบัววงศ์
source!='') { ?>
แหล่งที่มา / เอกสารอ้างอิง:

ข้อมูลนี้เป็นที่น่าพึงพอใจหรือเป็นประโยชน์สำหรับท่านหรือไม่
 

บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง