สวพส.ถ่ายทอด“ระบบเกษตรอัจฉริยะ” พลิกโฉมเกษตรกรบนพื้นที่สูง

สวพส.ถ่ายทอด“ระบบเกษตรอัจฉริยะ” พลิกโฉมเกษตรกรบนพื้นที่สูง

 

 

                    สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) มีเป้าหมายในการพัฒนาชุมชนบนพื้นที่สูง ขยายองค์ความรู้ของโครงการหลวงในการวิจัยและพัฒนา โดยการทำการเกษตรแบบประณีตอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเพื่อแก้ไขปัญหาระดับพื้นที่ นอกจากนั้นสถาบันให้ความสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลและการบริหารจัดการข้อมูลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการองค์กรมาใช้ในการพัฒนาเกษตรบนพื้นที่สูง สร้างองค์ความรู้ในการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืนมุ่งเน้นการพัฒนาอาชีพบนฐานความรู้ที่เหมาะสมต่อสภาพภูมิสังคมเพื่อให้เป็นเกษตรอัจฉริยะที่จะสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้ดีขึ้น

                   นายวิรัตน์  ปราบทุกข์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง กล่าวว่า สถาบันได้พัฒนาเครื่องมือในมิติต่างๆ เพื่อสนับสนุนการพัฒนางานในพื้นที่การดำเนินงานของสถาบัน โดยการพัฒนาคนในชุมชนให้มีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนา ทั้งการวางแผน วิเคราะห์ โดยใช้องค์ความรู้และเทคโนโลยี โดยเครื่องมือที่สนับสนุนการดำเนินงาน ได้แก่ ระบบฐานข้อมูลสารสนเทศภูมิศาสตร์ (Geographic Information System : GIS) โดยมีบริการข้อมูลออนไลน์ (E-Service) มีการจัดทำ LINE ของดีบนพื้นที่สูง เป็นช่องทางแนะนำองค์ความรู้ที่เกษตรกรสามารถเข้าไปค้นหาเพิ่มเติมในด้านต่างๆ เช่น ข้อมูลข่าวสาร องค์ความรู้บนพื้นที่สูง ข่าวสารภูมิอากาศบนพื้นที่สูง และได้พัฒนาข้อมูลลักษณะทางกายภาพ ได้แก่

                   1) ข้อมูลที่ดินรายแปลง เป็นการจัดทำข้อมูลเชิงพื้นที่ที่สามารถอ้างอิงกับตำแหน่งพิกัดโลกโดยวาดขอบแปลงของพื้นที่ทำกินของเกษตรกรพร้อมทั้งมีรายละเอียดของข้อมูลนั้นๆ โดยใช้แอปพลิเคชัน HRDI MAPs Application ระบบแอนดรอยด์เพื่อใช้จัดการข้อมูลที่ดินรายแปลง ข้อมูลการส่งเสริมงานวิจัยและงานพัฒนาใช้เป็นเครื่องมือในการตัดสินใจวางแผนและพัฒนาพื้นที่ขนาดเล็ก
                   2) ข้อมูลอุตุนิยมวิทยาบนพื้นที่สูง เช่น การติดตั้งเสาตรวจวัดสภาพภูมิอากาศ (Weather Station)
                   3) ข้อมูลพื้นที่เสี่ยงภัย เช่น การติดตั้งสถานีเตือนภัยล่วงหน้า (Early warning)
                   4) โดรนช่วยตรวจสอบสภาพพื้นที่ (Drone)เป็นเทคโนโลยีที่ช่วยช่วยลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตประหยัดเวลาและลดแรงงานในการทำงาน

                   ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง กล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินงานของสถาบัน ทำให้ชุมชนบนพื้นที่สูงได้รับการพัฒนาความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นจากการประกอบอาชีพเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สังคมและชุมชนมีความเข้มแข็ง และมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ และมีหลากหลาย ชุมชนที่เป็นต้นแบบและแหล่งเรียนรู้การพัฒนาอย่างยั่งยืนแบบโครงการหลวง โดยยึดการพัฒนาเชิงพื้นที่เป็นหลัก ยกตัวอย่างพื้นที่ที่สามารถนำองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมมาใช้ให้เป็นผลสำเร็จ คือ

 

 

โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงปางแดงใน อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่

                   สถาบันได้ดำเนินงานพัฒนาการเกษตรบ้านปางแดงใน ซึ่งแต่เดิมเป็นหมู่บ้านที่อยู่ในเขตพื้นที่ดอนอาศัยน้ำฝนที่แล้ง ทำการเกษตรเป็นหลัก ได้แก่ การปลูกพืชไร่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปัญหาของชุมชน คือ เกษตรกรในพื้นมีความยากจนและมีหนี้สินมาก ขาดความรู้ในการทำการเกษตร มีการใช้พื้นที่ไม่ถูกต้องเหมาะสม ใช้สารเคมี เผาเศษพืชทำลายซังข้าวโพด และผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เกิดการบุกรุกพื้นที่ป่าขยายที่ทำกิน มีการชะล้างพังทลายของหน้าดิน หมอกควันและไฟป่าตามมาอย่างต่อเนื่อง สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูงจึงได้เข้ามาส่งเสริมและพัฒนา โดยการนำองค์ความรู้จากโครงการหลวงไปถ่ายทอดและประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับสภาพภูมิสังคมในพื้นที่ ปัจจุบันเกษตรกรใช้พื้นที่อย่างถูกต้องตามแผนการใช้ที่ดิน ลดพื้นที่ที่เกิดจากการทำลายป่า ปลอดการเผา ลดปัญหามลภาวะจากหมอกควัน โดยปรับระบบการเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ปลูกพืชผักไม้ผลที่ให้ผลผลิตหลากหลาย ใช้พื้นที่น้อยแต่มีผลตอบแทนสูง โดยไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ การปลูกพืชผักในโรงเรือน (องุ่น เมล่อน ผักปลอดสารพิษ) การปลูกไม้ผลยืนต้น (มะม่วง ลำไย) ไม้ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง และพืชอาหารเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ (หวาย ไผ่ สัก เต่าร้าง) เป็นต้น ส่งผลให้บ้านปางแดงใน เป็นชุมชนต้นแบบที่แก้ไขปัญหาชุมชนได้อย่างครบวงจร มีผู้นำเกษตรกรที่มีความรู้ เกษตรกรสามารถสร้างรายได้ให้กับครอบครัว มีอาชีพที่หลากหลาย และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

                   อีกหนึ่งพื้นที่ที่นำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในพื้นที่ คือ โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง ห้วยเป้า อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูงได้เลือกหมู่บ้านห้วยเป้าเป็นหมู่บ้านนำร่องในการพัฒนาการเกษตรที่เหมาะสม เนื่องจากเป็นหมู่บ้านต้นน้ำที่มีพื้นที่เพาะปลูกรับน้ำเหมืองฝาย ในขณะที่มีการใช้สารเคมีในปริมาณที่สูง ดังนั้นโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงห้วยเป้า จึงได้ดำเนินการพัฒนาการเกษตรที่เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ควบคู่กับระบบมาตรฐานอาหารปลอดภัย (GAP) เพื่อลดการใช้สารเคมี บ้านห้วยเป้าที่แต่เดิมมีอาชีพการทำการเกษตรคือ การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และปลูกกระเทียมหลังฤดูการเก็บเกี่ยวข้าว ปัญหาของการทำการเกษตรของบ้านห้วยเป้า คือ การใช้สารเคมี ทางสถาบันได้นำเครื่องมือข้างต้นเข้ามาส่งเสริมและพัฒนาอาชีพให้เกษตรกรบ้านห้วยเป้า ปัจจุบันบ้านห้วยเป้ามีการเปลี่ยนแปลงอาชีพจากเดิมปลูกพืชไร่มาเป็นปลูกไม้ผล การปลูกพืชในโรงเรือน การทำแปลงผักอินทรีย์มีระบบการให้น้ำอัตโนมัติ การพัฒนาระบบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ บ่อพวงเพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ทางการเกษตรสามารถเลี้ยงปลาไว้สำหรับบริโภคอีกทั้งยังมีการปลูกพืชทางเลือกเพื่อเพิ่มช่องทางรายได้ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินของบ้านห้วยเป้า ส่งผลให้เกิดพื้นที่สีเขียวมากขึ้น การใช้สารเคมีมีอัตราการลดลงเนื่องด้วยเลือกปลูกพืชที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เกษตรกรมีรายได้ที่ดีขึ้น มีความเข้มแข็ง และมีการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรอบชุมชน เป็นชุมชนอยู่ดีมีสุข ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

                   สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) มีผู้นำเกษตรกร ในการขับเคลื่อนการพัฒนา โดยใช้องค์ความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรม และระบบเกษตรอัจฉริยะ เข้ามาช่วยในกระบวนการพัฒนาในทุกมิติ โดยเฉพาะด้านการเกษตรที่มีความสำคัญต่อชีวิตความเป็นอยู่ ช่วยให้เกษตรกรสามารถเพาะปลูกพืชผักได้อย่างแม่นยำ มีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล ตรงตามบริบทพื้นที่และภูมิสังคม รองรับการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ ตามสถานการณ์ปัจจุบัน เป็นการพัฒนาเกษตรกรและชุมชนบนพื้นที่สูงอย่างยั่งยืนต่อไป

 

 
เขียน / เรียบเรียงเรื่องโดย:
นางสาวสุภิญญา สุต๋า นักศึกษาฝึกงาน กลุ่มงานธุรการและประชาสัมพันธ์สำนักอำนวยการ
source!='') { ?>
แหล่งที่มา / เอกสารอ้างอิง:

ข้อมูลนี้เป็นที่น่าพึงพอใจหรือเป็นประโยชน์สำหรับท่านหรือไม่
 

บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง