การฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดินในแปลงนาขั้นบันได

การฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดินในแปลงนาขั้นบันได

 

            ชุมชนบ้านห้วยโทน อ.บ่อเกลือ จ.น่าน มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 1,221-1,500 เมตร พื้นที่เกษตรกรรมและที่อยู่อาศัยส่วนใหญ่มีความลาดชันสูง โดยพื้นที่เกษตรกรรมร้อยละ 99 เป็นพื้นที่ปลูกข้าวไร่ ไม่มีพื้นที่ปลูกข้าวนาเลย เกษตรกรมีรอบหมุนเวียนการปลูกข้าวไร่ทุก 3 - 5 ปี และผลผลิตข้าวไม่เพียงพอต่อการบริโภค ดังนั้นเพื่อเป็นการเพิ่มผลผลิตข้าวให้เพียงพอต่อการบริโภค ในปี พ.ศ. 2561 เจ้าหน้าที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงบ่อเกลือและเกษตรกรนำร่อง จำนวน 5 ราย ได้ทดลองปรับพื้นที่ข้าวไร่ขุดเป็นพื้นที่นาขั้นบันได ซึ่งจากการขุดนาขั้นบันไดทำให้หน้าดินส่วนบนของแปลงนาจะถูกตัดออกไปเหลือแต่ดินชั้นล่างส่งผลให้ความอุดมสมบูรณ์ของดินต่ำ จึงทำให้การเจริญเติบโตของข้าวในระยะแรกไม่ค่อยดี สังเกตได้จากต้นข้าวที่ปลูกบริเวณที่เป็นหน้าดินจะเจริญเติบดีกว่าต้นข้าวที่ปลูกบริเวณที่เป็นดินชั้นล่าง และใน 2 ปีแรกของการปลูกข้าวในนาขั้นบันได เกษตรกรแทบจะไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เลยเนื่องจากข้าวลีบ ซึ่งสาเหตุอาจเกิดจากพันธุ์ข้าวยังไม่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ สภาพอากาศปิด ฝนตก ลมแรงในช่วงข้าวผสมเกสร โรคและแมลงศัตรูข้าว และความอุดมสมบูรณ์ของดินต่ำ เป็นต้น

 

          จากการเก็บตัวอย่างดินในแปลงนาขั้นบันไดซึ่งเป็นแปลงที่ปลูกข้าวไร่มาก่อน ไปวิเคราะห์สมบัติดินและปริมาณธาตุอาหารในดิน พบว่าส่วนใหญ่ดินเป็นดินเหนียว มี pH 4.76 – 5.36 ซึ่งเป็นกรดจัดมาก ปริมาณอินทรียวัตถุปานกลาง ปริมาณธาตุอาหารต่ำโดยเฉพาะธาตุอาหารหลัก  ซึ่งการปลูกข้าวนาขั้นบันไดให้ผลผลิตดี ควรเริ่มจากการใช้พันธุ์ข้าวท้องถิ่นที่มีความต้านทานโรค และเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ เช่น ข้าวแป้น (พันธุ์ข้าวไร่ที่ปลูกที่บ้านห้วยโทน อ.บ่อเกลือ) และข้าวลาย (พันธุ์ข้าวนาที่ปลูกที่บ้านสะว้า อ.บ่อเกลือ) และทำการฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดินควบคู่ไปด้วย โดยมีแนวทางการฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดินที่เกษตรกรสามารถทำได้เองง่ายๆ ได้แก่ 1) การปลูกตระกูลถั่วเพื่อเป็นปุ๋ยพืชสด ซึ่งเป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วว่าพืชตระกูลถั่วสามารถตรึงไนโตรเจนและซากต้นถั่วก็ย่อยสลายกลายเป็นอินทรียวัตถุกลับสู่ดิน โดยพืชตระกูลถั่วที่แนะนำ ได้แก่ ปอเทือง หรือถั่วดำ ใช้ปลูกก่อนการดำนา และถั่วแดงหลวงสำหรับปลูกหลังนา ซึ่งการปลูกถั่วแดงหลวงนอกจากจะได้ปุ๋ยพืชสดแล้วเกษตรกรยังได้รายได้จากการขายเมล็ดอีกด้วย 2) ใส่โดโลไมท์ในช่วงเตรียมดินเพื่อปรับ pH ดิน โดยใส่โดโลไมท์ 64 กก./ไร่ ในการเพิ่ม pH 0.1 หน่วย 3) ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ 200 กก./ไร่ 4) ใส่ปุ๋ยเคมีตามค่าวิเคราะห์ดิน และ 5) เลี้ยงแหนแดงในนาข้าว เพื่อเป็นปุ๋ยพืชสด โดยใส่แหนแดงหลังดำนา 7 -15 วัน เพื่อให้กล้าข้าวตั้งตัวได้ก่อน โดยแนวทางการฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดินต่างๆ ที่กล่าวไว้ข้างต้น เกษตรกรสามารถนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่นาขั้นบันไดของตัวเองได้

 
เขียน / เรียบเรียงเรื่องโดย:
จุไรรัตน์ ฝอยถาวร และดารากร อัคฮาดศรี นักวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง
source!='') { ?>
แหล่งที่มา / เอกสารอ้างอิง:

ข้อมูลนี้เป็นที่น่าพึงพอใจหรือเป็นประโยชน์สำหรับท่านหรือไม่
 

บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง