“สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กมาก” ที่ไม่ควรมองข้าม แบคทีเรียเป็นสิ่งมีชีวิตกลุ่มใหญ่กลุ่มหนึ่งที่ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า พบทั่วไปในธรรมชาติ ดิน น้ำ และอากาศ ส่วนใหญ่มีรูปร่างกลม (Cocci) แท่ง (Bacilli, Rod) และเกลียว (Spiral) มีเซลล์เดียวและโครงสร้างไม่ซับซ้อน นักวิทยาศาสตร์แบ่งแบคทีเรียออกเป็น (1) ชนิดที่ไม่มีประโยชน์ (ผู้ร้าย) และ (2) ชนิดดีที่มีประโยชน์ (พระเอก) ตัวอย่างแบคทีเรียดีที่เราได้ยินในโฆษณาทางทีวีบ่อยครั้ง คือ แลคโตบาซิลลัส (Lactobacillus) ใช้ผลิตนมเปรี้ยวและโยเกิร์ต โดยแบคทีเรียจะช่วยลดอาการท้องอืด อาการท้องเสียและเพิ่มประสิทธิภาพการดูดซึมแคลเซียม นอกจากนี้ยังช่วยสร้างวิตามินบีและวิตามินเค สร้างเม็ดเลือดแดงและควบคุมโคเลสเตอรอล (Cholesterol) ในกระแสเลือด กระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ สร้างสารต้านอนุมูลอิสระและกรดไขมันที่จำเป็นต่อร่างกาย ทั้งหมดคือเสี้ยวของความมหัศจรรย์จากแบคทีเรียดี
คู่แข่งขันที่มากความสามารถ แบคทีเรียมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วแบบทวีคูณ ปรับตัวเก่ง เมื่อเทียบกับจุลินทรีย์ชนิดอื่น ส่วนใหญ่สร้างสารปฏิชีวนะ (Antibiotic) ที่ยับยั้งเชื้อสาเหตุโรค หรือเอนไซม์ย่อยสลายผนังเซลล์ บางชนิดผลิตฮอร์โมนช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโต (Biostimulant) และบางชนิดสามารถชักนำให้เกิดการต้านทานโรค (Induced resistance)
แบคทีเรียดี….ไม่ได้มีประโยชน์ต่อมนุษย์เท่านั้น กับต้นพืช ดินและน้ำ ก็ให้ผลดีในลักษณะเดียวกัน จึงนิยมนำแบคทีเรียมาเป็นส่วนประกอบสำคัญในผลิตภัณฑ์ส่งเสริมการเจริญเติบโตของต้นพืช ผลิตภัณฑ์ปรับปรุงสมบัติดิน หรือผลิตภัณฑ์บำบัดคุณภาพของเสีย เป็นต้น อย่างไรก็ตามแบคทีเรียแต่ละชนิดมีจุดเด่นไม่เหมือนกัน ส่งผลให้ขั้นตอนการผลิตอาจคัดเลือกแบคทีเรียมากกว่าหนึ่งชนิดมาผสมร่วมกันก็ได้ เช่น ย่อยสลายอินทรียวัตถุ ปลดปล่อยธาตุอาหารสำคัญให้กับพืช ผลิตเอนไซม์ หรือกระตุ้นการทำงานของสารชนิดต่างๆ รวมทั้งทำหน้าที่ต่อสู้กับศัตรูทั้งเชื้อโรค แมลงและสารพิษ เสมือนหน่วยลาดตะเวนคอยปกป้องต้นพืช
ปัจจุบันผู้ผลิตหลายรายได้วิจัยและปรับปรุงผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้สำหรับนำไปลดปริมาณการใช้สารเคมีเกษตรซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพของเกษตรกรและผู้บริโภค ตลอดจนคุณภาพสิ่งแวดล้อม ได้แก่ ดิน น้ำ และอากาศ โดยใช้ชื่อว่า “สารชีวภาพเกษตร หรือชีวภัณฑ์เกษตร”
พีพี-บี15 คือ ชีวภัณฑ์สำหรับใช้ป้องกันโรคผลเน่าหลังการเก็บเกี่ยวของพริก มะเขือ และผลไม้หลายชนิด มีลักษณะเป็นผงสีขาว ละลายน้ำได้ดี ผลิตจากแบคทีเรียดี ชื่อ บาซิลลัส อะไมโลลิเควฟาเซียน (Bacillus amyloliquefaciens) แต่ต้องฉีดพ่นช่วงเวลาหลังบ่าย 3 โมง เป็นต้นไป ตั้งแต่ระยะเริ่มติดดอกหรือผลอ่อนเพื่อควบคุมเชื้อราสาเหตุโรค เช่น คอลเลโททริคัม (Collectotrichum) ไรโซปัส (Rhizopus) ฟูซาเรียม (Fusarium) ผลการใช้พีพี-บี15 เพื่อป้องกันโรคผลเน่าพริกกะเหรี่ยงในแปลงปลูกของเกษตรกร ทุก 7 วัน ต่อเนื่อง 4 สัปดาห์ ช่วยลดอาการของโรคได้สูงถึง 80 เปอร์เซ็นต์ ใกล้เคียงกับการฉีดพ่นสารเคมี “หากเปรียบเทียบกับสถานการณ์โรคระบาดโควิด 19 ก็สามารถกล่าวได้ว่า พีพี-บี 15 คือ วัคซีนป้องกัน แต่มีคุณสมบัติดีกว่าตรงที่มีฤทธิ์กำจัดเชื้อโรคได้ด้วย” ข้อดีอีกประการ คือ พระเอกของเราสามารถเพิ่มปริมาณและอาศัยบนต้นพืช ในดินและแหล่งน้ำได้นาน ถึงแม้ฝนจะตกหนักก็ยังมีชีวิตอยู่ได้ แตกต่างกับสารเคมีที่เจือจางและหายไปกับสายฝนทำให้ต้องฉีดพ่นใหม่ เสียเงินและเสียเวลา บรรยายข้อดีมาเยอะขนาดนี้แล้ว หวังว่าคงจะเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจและเปลี่ยนมาใช้สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่เรียกว่า “แบคทีเรียดี มีประโยชน์” กันมากขึ้นโดยเกษตรกรสมาชิกโครงการหลวงและโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงสามารถติดต่อซื้อ พีพี-บี15 จากโรงชีวภัณฑ์ มูลนิธิโครงการหลวง เบอร์โทรติดต่อ 053-114218 หรือ ID Line : ppcrpf