บุก เป็นพืชหัวล้มลุก ในวงศ์บุก บอน (Araceae) จัดอยู่ในสกุลบุก (Amorphophallus) ทั่วโลกพบพืชสกุลบุกอยู่ประมาณ 170 ชนิด ในประเทศไทยพบ 68 ชนิด เป็นบุกพื้นเมือง 64 ชนิด โดยพบทางภาคเหนือของไทยมากกว่า 41 ชนิด จากการสำรวจพบบุกบนพื้นที่สูงในจังหวัดตาก แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย และน่าน ไม่น้อยกว่า 15 ชนิด (ทั้งที่มีการนำไปใช้ประโยชน์และไม่มีการนำไปใช้ประโยชน์) โดยเฉพาะ “บุกเนื้อทราย หรือบุกไข่” ที่ใช้หัวเพื่อการแปรรูปทางอุตสาหกรรมผลิตผงวุ้นบุก (กลูโคแมนแนน)
พบการกระจายพันธุ์ทางภาคเหนือและภาคตะวันตกของประเทศไทย ได้แก่ เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก และกาญจนบุรี
สารสำคัญในบุก ได้แก่ กลูโคแมนแนน (glucomannan) เป็นสารใยอาหารที่ละลายน้ำได้ มีสูตรโครงสร้างประกอบด้วยน้ำตาลกลูโคสและแมนโนส ซึ่งเอนไซม์ในร่างกายมนุษย์ไม่สามารถย่อยได้ จึงไม่ให้พลังงานแก่ผู้บริโภค แต่มีคุณประโยชน์ในด้านอื่น โดยเป็นที่ยอมรับว่าสารใยอาหารกลูโคแมนแนนจากหัวบุกเป็น “King of Fiber”
บุกเนื้อทราย (บุกไข่) เป็นพืชท้องถิ่นและเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรบนพื้นที่สูง โดยเฉพาะชุมชนที่อยู่ในพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงสบเมยและแม่สามแลบ อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน และพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงแม่สอง อำภอท่าสองยาง จังหวัดตาก โดยสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559-2563 รวมไม่น้อยกว่า 40.54 ล้านบาท ประมาณการผลผลิตเฉลี่ยรวม 527 ตันต่อปี ทั้งนี้ปริมาณความต้องการใช้ผงบุกในตลาดโลก 30,000-40,000 ตันต่อปี และปริมาณความต้องการใช้หัวบุกสดในประเทศมากกว่า 12,000 ตันต่อปี แต่ประเทศไทยผลิตได้ประมาณ 5,000 ตันต่อปี (ชาลีดา,2559) ซึ่งเห็นได้ว่าบุกเนื้อทรายเป็นพืชที่มีศักยภาพในการนำมาพัฒนาให้มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ เนื่องจากมีแนวโน้มความต้องการของตลาดที่เพิ่มสูงขึ้น
สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของบุกเนื้อทราย โดยขึ้นเจริญได้ดีในระดับความสูงจากระดับน้ำทะเล 100-800 เมตร เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนที่มีความอุดมสมบูรณ์ ไม่มีน้ำท่วมขัง ไม่ชอบแดดจัด สามารถปลูกร่วมกับพืชชนิดอื่นได้ ไม่ว่าจะปลูกแซมตามป่าธรรมชาติ ปลูกแซมในสวนไม้ผล ไม้ยืนต้น หรือปลูกเป็นพืชร่วมในระบบวนเกษตร เป็นต้น และสามารถปลูกได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมี เหมาะเป็นพืชทางเลือกเศรษฐกิจสำหรับชุมชนที่อยู่ห่างไกลและใกล้ชิดกับพื้นที่ป่า โดยเฉพาะชุมชนบนพื้นที่สูง ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมให้เกษตรกรมีรายได้จากการปลูกบุก ในขณะเดียวกันไม่เข้าไปบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อทำการเกษตรเชิงเดี่ยว แต่กลับทำให้มีพื้นที่ป่า/พื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้นอีกทางหนึ่งด้วย ทำให้ “คนบนพื้นที่สูงอยู่กับป่าได้อย่างเกื้อกูล สมดุล มั่นคง และยั่งยืน”
แต่ทั้งนี้บุกเป็นพืชที่อยู่ภายใต้มาตรการควบคุมการนำไปใช้ประโยชน์ของกฎหมาย (ของป่า) จำเป็นต้องมีการบริหารจัดการพื้นที่ปลูก โดยการกําหนดเขตการใช้ประโยชน์ที่ดินให้ชัดเจน (จับพิกัดจัดทำแผนที่รายแปลง) และมีระบบการควบคุมที่สอดคล้องกับบริบทพื้นที่ (กำหนดกฎระเบียบร่วมกับชุมชนในการจัดระบบการปลูก) การจัดทำทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกบุกในระบบของกรมส่งเสริมการเกษตรและกรมป่าไม้ การรวมกลุ่ม/จัดตั้งกลุ่มผู้ผลิตหรือแปรรูปผลผลิตบุกในพื้นที่ รวมถึงการจัดการผลผลิตและการตลาด ภายใต้การทำงานร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ในลักษณะการบูรณาการ เพื่อยกระดับจากพืชป่า (พืชท้องถิ่น) มาเป็นพืชปลูก (พืชเศรษฐกิจ) ที่สร้างรายได้ให้ชุมชน ด้วยเทคโนโลยีการผลิตที่เหมาะสมเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสอดคล้องกับการใช้ประโยชน์ที่ดินบนพื้นที่สูง
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของบุกเนื้อทราย
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Amorphophallus muelleri Blume
หัว ลักษณะหัวกลมแป้น ผิวเรียบถึงขรุขะเล็กน้อย เมื่อแห้งเป็นสีน้ำตาล เนื้อในหัวแน่นละเอียดคล้ายเม็ดทราย มีสีขาวอมเหลือง ขาวอมชมพู เหลือง ชมพู
ลำต้นเทียมหรือก้านใบ ยาว 5-180 เซนติเมตร มีสีและลวดลายหลายแบบแตกต่างกันไป มีลักษณะพิเศษคือมีหัวขนาดเล็กบนก้านใบ
ใบ เป็นใบเดี่ยว เป็นรูปใบหอกและรูปรีแกมใบหอก สีเขียว หรือสีเขียวอมม่วงหรืออมชมพู
หัวบนใบหรือไข่บุก มีลักษณะค่อนข้างกลม กลมยาว หรือกลมรีเหมือนไข่
ดอก เป็นช่อดอก ก้านช่อดอกทรงกระบอกยาว 5-45 เซนติเมตร กาบหุ้มช่อดอกรูปสามเหลี่ยมมีหลายสี ช่อเชิงลดมีกาบยาวกว่ากาบหุ้มช่อดอก ภายในช่อดอกประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนโคนเป็นช่อดอกตัวเมียมีสีเหลืองเข้ม เหนือขึ้นมาเป็นช่อดอกตัวผู้มีสีเหลืองอ่อน และบนสุดคือหมวกดอก สีขาวนวล ช่วงออกดอกเดือนมีนาคม-พฤษภาคม
ผล รูปไข่ สีเขียว เขียวอ่อน เขียวอมม่วง สีผลที่อยู่ปลายช่อซึ่งสุกก่อนจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง แล้วเป็นสีส้มอมแดงหรือสีแดง
วงจรชีวิต
บุก เป็นพืชหัวล้มลุก มีช่วงการเจริญเติบโตทางลำต้นต่างปีกับที่เจริญเติบโตเป็นดอก ส่วนใหญ่มีการเจริญเติบโตทางลำต้นเพียงอย่างเดียวนาน 4-6 ปี จึงเข้าสู่ช่วงออกดอก บุกซึ่งมีดอกส่วนใหญ่จะไม่มีการเจริญเติบโตทางลำต้น โดยธรรมชาติจะเริ่มงอกและเจริญเติบโตในช่วงปลายฤดูแล้งต่อฤดูฝน หัวที่งอกและเจริญเติบโตเป็นดอกจะงอกได้เร็วกว่าหัวที่เจริญเติบโตเป็นต้น โดยมีลักษณะการเจริญเติบโตแบบถ่ายหัว หัวที่เกิดใหม่จะซ้อนอยู่ด้านบนของหัวเดิม หัวเก่าจะฝ่อและเหี่ยวแห้งไปเมื่อต้นและใบเหี่ยวเฉาหรือผลสุกแก่เต็มที่ หัวก็เริ่มเข้าสู่ระยะพักตัวรอเวลาและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมเพื่องอกเป็นต้นหรือเป็นดอกในปีต่อไป
การขยายพันธุ์
การนำไปใช้ประโยชน์
ความเป็นพิษหรือสารพิษในบุก
ยางที่พบในหัว ลำต้น และใบของบุก ประกอบด้วยสารแคลเซียมออกซาเลต (calcium oxalate) หากสัมผัสกับผิวหนังจะทำให้เกิดอาการคัน หากเข้าตาจะทำให้เกิดการระคายเคือง มีอาการแสบตาอย่างรุนแรง และถ้าทานหัวสดหรือใบที่มีผลึกของออกซาเลทเข้าไปมากๆ จะทำให้เกิดแผลพุพองบริเวณเนื้อเยื่อปากและคอ เสี่ยงต่อการเกิดโรคลำไส้อักเสบ และมีอาการชัก ช็อค ระดับแคลเซียมในเลือดต่ำ และไตถูกทำลาย
ดังนั้นก่อนนำต้นอ่อนหรือหัวไปประกอบอาหาร ต้องผ่านกรรมวิธีการทำให้สุกก่อนหรือต้มด้วยน้ำขี้เถ้า/น้ำปูนใส เพื่อกำจัดสารแคลเซียมออกซาเลต (Calcium oxalate)
คุณค่าทางอาหาร
หัวบุกมีสารสำคัญ คือกลูโคแมนแนน เป็นสารประเภทคาร์โบไฮเดรทซึ่งประกอบด้วยกลูโคสแมนโนส และฟลุคโตส โดยปริมาณสารอาหารต่อ 100 กรัมแป้งบุก มีดังนี้ ความชื้น 2.74 กรัม โปรตีน 0.36 กรัม ใยอาหาร 19.18 กรัม เถ้า 2.79 กรัม คาร์โบไฮเดรต 93.19 กรัม พลังงาน 384.48 แคลลอรี่ น้ำตาล 81.43 กรัม ไขมัน 0.92 กรัม ไขมันอิ่มตัว 0.10 กรัม คอเลสเตอรอล 0 กรัม โซเดียม 709.20 มิลลิกรัม แคลเซียม 17.97 มิลลิกรัม วิตามินเอ 18.60 IU (ที่มา: บริษัทสหชลพืชผล (2540))
การปลูกบุกบนพื้นที่สูง
แปลงผลิตหัวพันธุ์ โดยใช้หัวบนใบน้ำหนัก 5-30 กรัม ทำการคัดแยกขนาดและแยกปลูกเป็นแปลง โดยใช้ระยะปลูก 30x30 หรือ 40x40 เซนติเมตร ขึ้นกับขนาดหัวพันธุ์ ร่วมกับการจัดการธาตุอาหาร โดยแนะนำให้ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ อัตรา 1,500 กิโลกรัมต่อไร่ รองก้นหลุมก่อนปลูก และปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 30 กิโลกรัมต่อไร่ หลังปลูก 3 เดือน โดยผลผลิตหัวใต้ดินในปีที่ 1 เท่ากับ 253-1,191 กิโลกรัมต่อไร่
แปลงผลิต โดยใช้หัวพันธุ์ใต้ดินน้ำหนักตั้งแต่ 100-400 กรัมในการปลูก และควรมีการคัดแยกขนาดและแยกปลูกเป็นแปลง เพื่อสะดวกและง่ายต่อการวางแผนการผลิตและเก็บเกี่ยวผลผลิต ทั้งนี้ การใช้หัวพันธุ์น้ำหนัก 100-200 กรัมในการปลูกจะทำให้บุกมีการเพิ่มขนาดหัวจากเดิมสูงสุดภายใต้ระยะเวลาปลูกที่เท่ากัน ได้ผลผลิตหัวใต้ดินเฉลี่ย 5,330 กิโลกรัมต่อไร่
การปลูกบุกบนพื้นที่สูงซึ่งเป็นพื้นที่ลาดชันควรมีการปลูกภายใต้ระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ เช่น ปลูกบุกบนขั้นบันไดดิน ระยะปลูกระหว่างต้น 50 เซนติเมตร (สำหรับพื้นที่ที่มีความลาดชันไม่เกินร้อยละ 35) หรือการปลูกบุกร่วมกับพืชคลุมดินตระกูลถั่วและปลูกบุกร่วมกับพืชท้องถิ่น/ไม้ผลยืนต้น/ไม้ยืนต้น ที่มีใบเล็ก ผลัดใบในฤดูแล้งและมีใบโปร่งในฤดูฝน ร่วมกับการจัดการธาตุอาหาร โดยแนะนำให้ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ จำนวน 2 ครั้งๆ ละ 1,500 กิโลกรัมต่อไร่ รองก้นหลุมก่อนปลูกและหลังปลูก 3 เดือน
รูปแบบการปลูกบุกบนพื้นที่สูง
โรค แมลงศัตรูพืช และการป้องกันกำจัด
เข้าทำลายต้นบุกตั้งแต่หัวใต้ดินและเส้นใบที่หักหรือเป็นแผล ทำให้หัวเน่า มีวุ้นไหลเยิ้ม มีกลิ่นเหม็น เน่าลุกลามไปยังส่วนของต้น ทำให้ต้นหักพับลงมา
การป้องกันกำจัด 1) คัดหัวพันธุ์ที่ไม่เป็นโรคหรือแผล 2) คัดเลือกสถานที่ปลูก ถ้าพบให้ขุดต้นและดินรอบๆ รัศมี 25 เซนติเมตร โรยปูนขาวบริเวณหลุมที่ขุด 3) ปลูกพืชหมุนเวียน เช่น ถั่ว
ใบเหลืองซีด เหี่ยว การเติบโตชะงัก ต้นล้มพับลง เนื่องจากโคนต้นเน่า
การป้องกันกำจัด 1) ชุบหัวพันธุ์ด้วยโพรพิเนบ 2) รองก้นหลุมด้วยปูนขาวและใช้ปรับสภาพดินก่อนปลูก 3) รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยหมักผสมเชื้อราไตรโคเดอร์มา
ต้นบุกมีอาการรากเน่า บริเวณโคนต้น กาบใบไหม้ (สังเกต มีเส้นใยอัดรวมกันเป็นเม็ด คล้ายเมล็ดผักกาด อยู่บริเวณดินและซากพืช)
การป้องกันกำจัด 1) ปลูกพืชหมุนเวียน 2) คลุกหัวพันธุ์ด้วยสารป้องกันกำจัดเชื้อราก่อนปลูก หรือรองก้นหลุมก่อนปลูก อัตรา 1 กรัมต่อหลุม 3) ใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มา อัตรา 20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นทุกๆ 7 วัน
เป็นหนอนกัดกินใบ เกิดจากผีเสื้อกลางคืน เป็นหนอนสีเขียว ตัวใหญ่ อาการใบและลำต้นถูกกัดทำลาย
การป้องกันกำจัด 1) ใช้มือจับทำลาย 2) พ่นด้วยเชื้อแบคทีเรีย Bacillus thuringiensis (บีที) อัตรา 60 กรัม หรือ มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร
แมลงในโรงเก็บรักษาหัวพันธุ์ ดูดกินน้ำเลี้ยงทำให้หัวฝ่อ จะเกิดในช่วงอากาศร้อน
การป้องกันกำจัด 1) นำหัวมาเขี่ยหรือปัดเอาแมลงออก 2) ใช้ผลิตภัณฑ์สารชีวภาพ พีพี-เบ็บ อัตรา 200 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นทุกๆ 7 วัน 3) ใช้สูตรสมุนไพร เช่น พริกป่น พริกไทยป่น กระเทียม น้ำส้มสายชูผสมน้ำ ใช้น้ำยาล้างจานเป็นสารจับใบ ฉีดพ่นเมื่อพบตัวแมลงในระยะตัวอ่อน
ปฏิทินการปลูกบุก