คนในชุมชนบนพื้นที่สูงส่วนใหญ่จะเลี้ยงหมูเพื่อบริโภคเป็นแหล่งโปรตีน และจำหน่ายเป็นรายได้เสริม โดยกินเศษอาหาร เศษเหลือทิ้งทางการเกษตร และมีการเลี้ยงหลากหลายรูปแบบ เช่น การเลี้ยงแบบปล่อย มัดไว้ใต้ถุนบ้าน หรือเลี้ยงในคอกข้างบ้าน ทำให้เกิดมลพิษจากสิ่งขับถ่ายทั้งปัญหาเรื่องกลิ่น ก๊าซ และการปล่อยของเสียสู่แหล่งน้ำ ส่งผลกระทบต่อสุขอนามัยของคนในชุมชน
สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ได้มีการวิจัยและทดสอบเทคโนโลยีในการเลี้ยงหมูหลุม โดยใช้แนวคิดการเลี้ยงด้วยวิธีเกษตรธรรมชาติ เพื่อให้คนในชุมชนได้ประโยชน์จากการเลี้ยงเพื่อเป็นแหล่งโปรตีน การจำหน่ายหมูเป็นรายได้ โดยใช้วัสดุรองพื้นคอกจากวัสดุเศษเหลือใช้ทางการเกษตร ผลพลอยได้คือปุ๋ยหมัก ทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรหมุนเวียนตามโมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular economy) ช่วยลดมลพิษ ลดกลิ่นเหม็น และเป็นการเลี้ยงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยได้ศึกษารูปแบบคอกของการเลี้ยงหมูหลุม 3 รูปแบบ (2561-2562) ดังนี้
รูปแบบที่ 1 คอกแบบขุดหลุม เทพื้น ก่ออิฐบล็อกรอบสี่ด้าน และเทพื้นคอกหรือใช้พลาสติกปูพื้นคอก โดยคอกมีความกว้าง 2 เมตร ยาว 3 เมตร และลึก 0.9 เมตร ก่อด้วยอิฐบล็อกและเปิดช่องของอิฐไว้บางก้อนเพื่อช่วยในการระบายความชื้น
ข้อดี : สะดวกในการเติมวัสดุรองพื้น
ข้อจำกัด : ต้องขุดหลุมลงจากระดับพื้นดิน การระบายของน้ำและความชื้นลงสู่พื้นดินไม่ค่อยดี ในกรณีพื้นที่ที่มีปัญหาน้ำขัง
รูปแบบที่ 2 คอกแบบขุดหลุม ไม่เทพื้น ก่ออิฐบล็อกรอบสี่ด้านไม่เทพื้นคอก โดยคอกมีความกว้าง 2 เมตร ยาว 3 เมตร และลึก 0.9 เมตร แบ่งหลุมเป็น 3 ชั้นละ 30 เชนติเมตร เปิดช่องของอิฐไว้ บางก้อนเพื่อช่วยในการระบายความชื้น
ข้อดี : สะดวกในการเติมวัสดุรองพื้น มีการระบายความชื้นลงสู่พื้นดินได้ดี
ข้อจำกัด : ต้องขุดหลุมลงจากพื้นดิน ไม่เหมาะกับพื้นที่ที่ลุ่มหรือมีน้ำใต้ดินสูง
รูปแบบที่ 3 คอกเหนือพื้นดิน ไม่เทพื้น สร้างคอกเหนือพื้นดินขนาด 2 x 3 เมตร ก่อบล็อกสูง 1.4 เมตร (0.9 เมตร สำหรับใส่วัสดุรองพื้นอีก 0.5 เมตร สำหรับเป็นพื้นที่ให้น้ำและอาหาร)
ข้อดี : ไม่ต้องขุดหลุม ไม่มีปัญหาน้ำท่วม สะดวกต่อการเคลื่อนย้ายสัตว์และนำวัสดุรองพื้นเข้า-ออก
ข้อจำกัด : คอกมีความสูง ต้องทำบันไดหรืออุปกรณ์ที่เพิ่มความสะดวก
การจะเลือกใช้รูปแบบคอกในการเลี้ยงหมูหลุมนั้น ขึ้นกับลักษณะของพื้นที่และความสะดวกในการทำงาน โดยสมรรถภาพการผลิตของหมูไม่มีความแตกต่างกัน แต่เมื่อเปรียบเทียบค่าร้อยละของอินทรียวัตถุ พบว่าปุ๋ยที่ได้จากการเลี้ยงหมูในคอกแบบคอกขุดหลุมเทพื้น มีค่าสูงสุดเท่ากับร้อยละ 73.31 รองลงมาคือ คอกแบบขุดหลุมไม่เทพื้น และคอกเหนือพื้นดิน ไม่เทพื้น มีค่าเท่ากับ ร้อยละ 67.31 และ 50.13 ตามลำดับ จึงอยู่ที่เกษตรกรที่จะเลือกรูปแบบคอกที่เหมาะสมตามความต้องการได้