พืชยึดดินบนพื้นที่สูง....รากนั้น สำคัญไฉน??

พืชยึดดินบนพื้นที่สูง....รากนั้น สำคัญไฉน??

          รากเป็นส่วนประกอบหนึ่งของพืช มีหน้าที่สำคัญ คือ ดูด (absorption) น้ำและแร่ธาตุจากดินเข้าไปในลำต้น ลำเลียง (conduction) น้ำและแร่ธาตุรวมทั้งอาหารซึ่งพืชสะสมไว้ในรากขึ้นสู่ส่วนต่างๆ ของลำต้น เป็นแหล่งสร้างฮอร์โมน (producing hormones) นอกจากนี้ ยังมีบทบาทสำคัญในการยึดเกาะ (anchorage) ลำต้นให้ติดกับพื้นดิน และการเสริมแรง ป้องกันการพังทลายของดินในพื้นที่ลาดชันได้

          รากพืช...แบ่งออกเป็น 3 ชนิดตามจุดกำเนิด ได้แก่ รากแก้ว (tap root) รากแขนง (lateral root) รากแนวดิ่งอื่นๆ ที่แตกจากลำต้นและรากแขนง (sinker root) และ รากฝอย (fibrous root) ระดับการเสริมแรงจากรากพืช (root reinforcement) ขึ้นกับปัจจัยต่างๆ เช่น ลักษณะการกระจายของระบบราก ความลึกของราก กำลังรับแรงดึงของราก และ พื้นผิวสัมผัสระหว่างรากและดิน

          รูปแบบของราก มีส่วนสำคัญในการช่วยเสริมเสถียรภาพได้ดี สามารถจำแนกรากออกเป็นรูปแบบต่างๆ ตามคำนิยามของ Yen (1987) ดังนี้

  •           *  V, R, H Type = รากลึก เสริมเสถียรภาพของพื้นที่ลาดชัน
  •           *  H, M Type = รากลึกปานกลาง ช่วยให้ดินจับตัวดี
  •           *  T, R, H, VH Type = ต้านทานแรงลมได้ดี

          นอกจากนี้ ยังสามารถจำแนกรูปทรงของรากพืชออกเป็นแบบต่างๆ เช่น ทรงกระบอก ทรงกรวย ทรงรี ทรงบาตรพระ ทรงถ้วยชาม ทรงเจดีย์คว่ำ (วรากร และ มรรษมนต์, 2556) ซึ่งรูปทรงของรากแต่ละรูปแบบจะมีความสามารถในการเสริมแรงในดินได้แตกต่างกันออกไป

          จากการศึกษาของระบบรากพืชเศรษฐกิจ พืชท้องถิ่น และพืชป่า ในพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูง 5 แห่ง ได้แก่ แม่มะลอ (อ. แม่แจ่ม จ. เชียงใหม่) แม่สลอง (อ. แม่ฟ้าหลวง จ. เชียงราย) แม่สอง (อ. ท่าสองยาง จ. ตาก) สบเมย (อ. สบเมย จ. แม่ฮ่องสอน) และ บ่อเกลือ (อ. บ่อเกลือ จ. น่าน) จำนวน 19 ชนิด สรุปรูปทรงรากและรูปแบบการแผ่ขยายของราก ดังตารางที่ 1

ตารางที่ 1 รูปทรงรากและรูปแบบการแผ่ขยายของรากพืช 19 ชนิด ที่เก็บตัวอย่างจากพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง 5 แห่ง

          ผลการทดสอบแรงดึงรากที่เส้นผ่านศูนย์กลาง 1 มิลลิเมตร พบว่า

  •           *  พันธุ์ไม้ที่มีแรงดึงรากสูงที่สุด ได้แก่ อโวคาโด ตะไคร้ต้น จันทร์ทองเทศ กาแฟ แฝก และบ๊วย
  •           *  พันธุ์ไม้ที่มีแรงดึงรากระดับกลาง คือ การบูร ตองแตบ ส้มผด กำลังเสือโคร่ง แคฝรั่ง มะขาม และกระท่อมหมู
  •           *  พันธุ์ไม้ที่มีแรงดึงรากระดับต่ำ คือ ถั่วมะแฮะ และชาจีน
  •           อย่างไรก็ตาม ค่ากำลังดึงของรากพืชยังขึ้นกับปัจจัยอื่น ๆ เช่น ขนาดของราก ความชื้นของราก ความสมบูรณ์ของราก และการเก็บรักษาตัวอย่างรากก่อนการทดสอบ อายุของราก เป็นต้น และแม้ว่ากำลังดึงของรากจะมีค่าต่ำ แต่หากมีปริมาณรากมากก็พอจะช่วยยึดดินได้บ้างเช่นกัน ดังนั้นการปลูกพืชที่รากมีกำลังดึงสูง ร่วมกับพืชที่มีกำลังดึงต่ำกว่า ในพื้นที่ลาดชันก็จะช่วยยึดหน้าดินและป้องกันการกัดเซาะและชะล้างพังทลายของดินได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

  •           ในภาพรวมการเลือกพืชยึดดินเพื่อป้องกันการกัดเซาะและดินถล่ม ควรพิจารณาทั้งความสามารถในการยึดดินได้แก่ กำลังดึงของรากพืชและความหนาแน่นของราก ร่วมกับแนวพระราชดำริการปลูกไม้สามอย่างประโยชน์สี่อย่าง เพื่อให้ชุมชนสามารถนำความรู้นี้ไปใช้ประโยชน์ได้

 
เขียน / เรียบเรียงเรื่องโดย:
ดร.จารุณี ภิลุมวงค์
source!='') { ?>
แหล่งที่มา / เอกสารอ้างอิง:

ข้อมูลนี้เป็นที่น่าพึงพอใจหรือเป็นประโยชน์สำหรับท่านหรือไม่
 

บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง