สมาชิกชุมชนบ้านศรีบุญเรือง ตำบลพงษ์ อำเภอสันติสุข จังหวัดน่าน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยเฉพาะการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตเกษตรกรจะจำหน่ายในรูปของเมล็ดข้าวโพด ทำให้ซังข้าวโพดที่เหลือจากการสีกะเทาะเอาเมล็ดออกแล้ว ถูกนำไปทิ้งหรือเผาไปโดยสูญเปล่า ก่อให้เกิดปัญหาหมอกควันและมลภาวะเป็นพิษ
ชุมชนบ้านศรีบุญเรืองตระหนักและเล็งเห็นถึงคุณค่าของซังข้าวโพด ประกอบกับได้รับการสนับสนุนองค์ความรู้จากสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ตั้งแต่กระบวนการเผาแบบไร้ควันการผลิตภัณฑ์ถ่านอัดแท่งจากซังข้าวโพด และการเพิ่มมูลค่าถ่านโดยการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ถ่านดูดกลิ่นให้เป็นสินค้าทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาของชุมชน รวมถึงการขอรับรองมาตรฐาน มผช. ตลอดจนผลักดันให้มีการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม สนับสนุนการจัดทำฉลากสินค้า บรรจุภัณฑ์ เป็นการสร้างโอกาสในการเพิ่มรายได้ให้แก่สมาชิกในชุมชน
สมาชิกกลุ่มร่วมกันผลิตถ่านอัดแท่งและถ่านดูดกลิ่นจากซังข้าวโพดทุกขั้นตอน
โดยได้ดำเนินการยื่นจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า “ศรีบุญเรือง ถ่านชาร์โคล” เลขที่ 200126553 ลงวันที่ 15 กรกฎาคม 2563 ซึ่งวิสาหกิจชุมชนเป็นเจ้าของ รวมถึงผลิตภัณฑ์ถ่านดูดกลิ่นจาดซังข้าวโพดได้ใบรับรองคุณภาพตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) ถ่านดูดกลิ่น และอนุญาตให้แสดงเครื่องหมายมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนถ่านดูดกลิ่นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ตามมาตรฐานเลขที่ มผช.180/2560
ความสำคัญในการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า เป็นการรักษาสิทธิ์ที่จะให้เจ้าของใช้ชื่อนั้นเพียงคนเดียว คนอื่นไม่สามารถนำไปใช้ได้และสิ่งสำคัญอีกเรื่องก็คือ เครื่องหมายการค้าที่ไม่ได้จดทะเบียนจะไม่สามารถเรียกร้องสิทธิ ใดๆได้ ในกรณีที่โดนคนอื่น ปลอมหรือเลียนเครื่องหมายการค้าได้
ด้วยคุณสมบัติต่างๆ ทำให้ผลิตภัณฑ์ “ถ่านดูดกลิ่น” จากซังข้าวโพดบ้านศรีบุญเรือง ผ่านการคัดเลือกเข้ารอบ “โครงการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ด้วยทรัพย์สินทางปัญญาให้แก่ผู้ประกอบการวิสาหกิจรายย่อยและขนาดย่อมในกลุ่ม BCG Economy ของกรมทรัพย์สินทางปัญญา” โดยผ่านการเข้ารอบ 1 ใน 20 ผลิตภัณฑ์สุดท้ายจาก 102 ผลิตภัณฑ์ที่ส่งประกวดทั่วประเทศ และสอดคล้องกับโมเดลเศรษฐกิจแบบใหม่ (BCG Model)
* เป็นการนำซังข้าวโพดที่เหลือจากการสีกะเทาะเอาเมล็ดออกแล้ว จากเดิมจะทิ้งหรือเผา นำมาเพิ่มมูลค่าเป็นถ่านดูดกลิ่น (Zero waste)
* สมาชิกกลุ่มใส่ใจการผลิตทุกขั้นตอน ผสมวัฒนธรรมและภูมิปัญญาของชุมชน (Hand-Made) ตั้งแต่กระบวนการเผาซังข้าวโพดจนถึงการบรรจุเพื่อเตรียมจำหน่าย สำหรับถุงที่ใช้บรรจุถ่านจากซังข้าวโพดตัดเย็บด้วยฝีมือของสมาชิกกลุ่มและสมาชิกในชุมชนบ้านศรีบุญเรือง เป็นการสร้างงานในชุมชนด้วยอีกทางหนึ่ง
* ภาพลักษณ์ของสินค้า เป็นสินค้าที่นอกจากผู้ซื้อจะได้ใช้ตัวผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ มีการรับรองคุณภาพตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) ถ่านดูดกลิ่นแล้ว ยังเป็นการช่วยลดการทิ้งหรือเผาซังข้าวโพดและช่วยสร้างรายได้ให้กับเกษตรไทย รวมทั้งบรรจุภัณฑ์ผ้ากระสอบนำกลับมาใช้ใส่สิ่งของต่างๆ ตลอดจนผงถ่านสามารถนำไปผสมเป็นวัสดุปลูกพืชทำให้ดินร่วนซุย
* ความง่ายในการใช้ดูดกลิ่นอับ ขับกลิ่นไม่พึงประสงค์ เพียงแค่แกะซอง แล้ววางไว้ตามที่ต่างๆ สามารถนำออกมาผึ่งแดดเดือนละครั้ง และนำกลับมาใช้ซ้ำได้
* รูปลักษณ์ของสินค้าและบรรจุภัณฑ์ สามารถซื้อเป็นของใช้ และเป็นของฝากที่มีเอกลักษณ์ของจังหวัดน่านได้