วันชนเผ่าสากล 2564: วาระการพัฒนาไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

วันชนเผ่าสากล 2564 : วาระการพัฒนาไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง  

          ทุกวันที่ 9 สิงหาคมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติประกาศให้เป็นวันชนเผ่าสากล (International Day of World’s Indigenous Peoples) นับตั้งแต่ ปี พ.ศ.2535 เป็นต้นมา เพื่อเสริมสร้างการตระหนักรู้เกี่ยวกับชนเผ่าหรือกลุ่มชาติพันธุ์และบทบาทของชุมชนชนเผ่าในการพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปกป้องคุ้มครองสิ่งแวดล้อม UNESCO ระบุว่ามีชนเผ่าอาศัยอยู่ทุกทวีปครอบคลุมพื้นที่คิดเป็น 22% ของพื้นที่ทั้งหมดของโลก มีประชากร 370-500 ล้านคนและมีภาษาเป็นของตนเองกว่า 7,000 ภาษา ในปี พ.ศ.2550 ประเทศไทยร่วมกับอีก 142 ประเทศ ได้เห็นชอบปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง ที่เป็นการรับรองและคุ้มครองสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองอันจะก่อให้เกิดความเสมอภาค เท่าเทียม สิทธิ และปราศจากการเลือกปฏิบัติ

          ในประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์อาศัยอยู่ทั่วทุกภาคทั้งที่เป็นชาวเขาบนภูเขาในภาคเหนือ ชาติพันธุ์ในพื้นราบ และชาวเลในภาคใต้ ที่ยังคงเอกลักษณ์ทางภาษา การสืบทอดภูมิปัญญา วัฒนธรรมประเพณี ที่หลากหลาย และการมีส่วนร่วมที่สำคัญในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งนี้มีกลุ่มชาติพันธุ์ที่ขึ้นทะเบียนกับสภาชนเผ่าพื้นเมืองประเทศไทยมากกว่า 40 กลุ่ม

          บนพื้นที่สูงที่ส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นพื้นที่ภูเขาที่ส่วนใหญ่อยู่ในภาคเหนือของประเทศ มีประชากรชนเผ่าอาศัยอยู่กว่า 10 ชนเผ่า ประกอบด้วย กะเหรี่ยง ม้ง  มูเซอ ลัวะ อาข่า ลีซู เมี่ยน ดาราอัง ไทลื้อ จีนยูนาน และไทใหญ่ โดยชนเผ่ากะเหรี่ยงมีจำนวนมากที่สุด คือร้อยละ 36 รองลงมาเป็นชนเผ่าม้ง มูเซอ ลัวะ และอาข่า  

          วันชนเผ่าสากล 2564 องค์การสหประชาชาติได้เน้นย้ำวาระการพัฒนาที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ในการขจัดความยากจน พัฒนาความมั่นคงด้านอาหาร และลดความเหลื่อมล้ำของชนเผ่าในทุกรูปแบบทั้งในด้านรายได้ การเข้าถึงบริการของรัฐ สิทธิ และการยกระดับการเรียนรู้

          การขับเคลื่อนงานพัฒนาของ สวพส. กว่าทศวรรษร่วมกับชุมชนบนพื้นที่สูงที่ส่วนใหญ่เป็นประชากรชนเผ่า มุ่งหวังให้ชุมชนสามารถดำรงชีพได้อย่างมั่นคง ภายใต้ระบบการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม  ที่ประยุกต์ใช้องค์ความรู้โครงการหลวงที่เป็นต้นแบบการพัฒนาพื้นที่สูง วิทยาการปัจจุบัน การต่อยอดภูมิปัญญาชาติพันธุ์ และการวิจัยที่มุ่งสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมที่เหมาะสมกับพื้นที่และชนเผ่าบนพื้นที่สูง ให้มีโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม  

 
เขียน / เรียบเรียงเรื่องโดย:
เกษราภร ศรีจันทร์ ภาพ: ณัฐภัทร สุวรรณโฉม
source!='') { ?>
แหล่งที่มา / เอกสารอ้างอิง:

ข้อมูลนี้เป็นที่น่าพึงพอใจหรือเป็นประโยชน์สำหรับท่านหรือไม่
 

บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง