ไอเดียเกษตรกรยุคใหม่ “เพิ่มเงินให้ผลิตผลพื้นที่สูง”

 ไอเดียเกษตรกรยุคใหม่ “เพิ่มเงินให้ผลิตผลพื้นที่สูง”

 

             เดิมทีไม่ได้อยากจะปลูกผักกินเองเพราะซื้อที่ตลาดง่ายกว่าเยอะ แต่ระยะหลังเห็นข่าวในโลกออนไลน์บ่อยๆว่า “สารเคมีเกษตรทำให้คนป่วยเป็นมะเร็งและเสียชีวิต” เลยต้องกลับมาคิดใหม่ และสุดท้ายก็จบตรงที่ปลูกผักกินเองบ้าง โดยเน้นชนิดที่ตัวเองใช้ทำอาหารบ่อย เช่น โหระพา มะนาว พริก ส่วนผักอื่นก็หาจากตลาดโดยเปลี่ยนมาเป็นลูกค้าประจำกับร้านที่มีตรารับประกันความปลอดภัยไม่ว่าจะเป็น เกษตรจีเอพี หรือเกษตรอินทรีย์ เพิ่มความเชื่อมั่นในการกินอาหารตามกระแส รักชีวิต รักษ์โลก

             ช่วงนี้จึงสนใจศึกษาการเกษตรแบบประกันความปลอดภัยจากสารพิษ หลายคนฟังแล้วอาจทำหน้างง คำที่เข้าใจง่ายๆก็คือ “เกษตรปลอดภัย” นั่นเอง ไอเดียที่อยากแนะนำให้เพื่อนเกษตรกร (หัวใจสีเขียว) นำไปปฏิบัติ ได้แก่

  1.               1. สร้างจุดขาย ดี อร่อย ด้วยการปลูกผักในรูปแบบตลาดนิยมตามแนวทางของมูลนิธิโครงการหลวง ซึ่งเน้นไปทางอาหารเพื่อสุขภาพทั้งผัก ผลไม้ และธัญพืช ผลพลอยได้จากงานวิจัยทำให้เกษตรกรบนดอยสูงบ้านเรามีพืชเศรษฐกิจทางเลือกหลายชนิด พร้อมชุดองค์ความรู้เพื่อยกระดับคุณภาพและเพิ่มปริมาณผลผลิต ลดการใช้พื้นที่ปลูกเหลือแค่ 1 ไร่ ก็ได้เงินเท่ากับ 10 ไร่ เมื่อเทียบกับอดีต เรื่องจริง บ่ได้โม้นะเจ้า
  2.              2. สร้างชีวิตใหม่ให้ดิน ปลูกอะไรก็ได้ผล เริ่มจากการปรับโครงสร้างดินให้โปร่ง ร่วนซุย เนื้อดินมีช่องว่างเพื่อเก็บอากาศ เก็บธาตุอาหาร และอุ้มน้ำ ส่งผลให้ต้นพืชเติบโตเร็ว แตกรากดี มีอากาศหายใจ มีน้ำเพียงพอ ในขณะเดียวกันช่องว่างระหว่างเม็ดดินยังเป็นแหล่งอาศัยของจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ด้วย วิธีง่ายสุดและทำเองได้คือ การขึ้นแปลงและโรยปุ๋ยอินทรีย์ให้ทั่ว โดยสูตรที่ดีต้องมีส่วนผสมของมูลสัตว์ (แหล่งธาตุอาหาร) เศษพืชหรือเปลือกไข่ (แหล่งวิตามิน) และดินขุยไผ่ (แหล่งจุลินทรีย์ดี) อัตรา 2:1:1 ซึ่งอาจใส่ตัวช่วยให้ย่อยสลายเร็วขึ้น เช่น สารเร่ง พด. ไส้เดือนดินสีแดง (ขี้ตาแร่) หากมีทุนไม่มากก็ใส่ปุ๋ยรองก้นหลุมก่อนย้ายปลูก ซึ่งคล้ายกับว่าเป็นการทำคลังอาหารขนาดกว้างและลึกเท่ากับอาณาเขตรากพืช ย้ำว่าควรทำอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างดินที่ดีเหมาะแก่การเพาะปลูก
  3.              3. สร้างเกราะป้องกัน ด้วยวัคซีนพืช เปรียบเสมือนการฉีดวัคซีนป้องกัน Covid-2019 โดยหลังฉีดพ่นวัคซีนพืชจะช่วย

                       1) กระตุ้นให้พืชสร้างระบบภูมิคุ้มกันภายในตามธรรมชาติ เพื่อป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่ต้นทาง เช่น เพิ่มความหนาแน่นและความแข็งแรงให้กับเส้นขน ทำให้เนื้อเยื่อพืชตายทันทีเฉพาะส่วนที่เสียหาย
                       2) เคลือบต้นพืช เพื่อยับยั้งหรือควบคุมไม่ให้เชื้อสาเหตุโรคเจริญเติบโต และสร้างความเสียหาย
                       3) ส่งเสริมการเจริญเติบโต เพิ่มประสิทธิภาพการสังเคราะห์แสง และการดูดซึมธาตุอาหารเข้าสู่ต้น

 

                       ตัวอย่างวัคซีนพืช เช่น ชีวภัณฑ์เกษตรป้องกันโรคพืชที่ผลิตจากแบคทีเรียบาซิลลัส สเตรปโตมัยซีส และราไตรโคเดอร์มา หรือที่เกษตรกรเรียกว่ายาเชื้อ ในทางตรงข้ามการพ่นสารเคมีส่วนใหญ่จะออกฤทธิ์กำจัดศัตรูพืชมากกว่าซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายทางของสาเหตุ อย่างไรก็ตามคุณสมบัติของวัคซีนพืชที่จำหน่ายตามท้องตลาดมีหลายแบบและราคาต่างกัน การเลือกซื้อจำเป็นต้องศึกษาแหล่งผลิตที่มีคุณภาพและผ่านการรับรองมาตรฐาน เฉพาะเกษตรกรโครงการหลวงและโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงที่สนใจผลิตภัณฑ์จากงานวิจัย สามารถติดต่อข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่โรงชีวภัณฑ์ มูลนิธิโครงการหลวง เบอร์โทร 053-114218 หรือ ID Line : ppcrpf นอกจากนี้ยังมีสูตรน้ำหมักชีวภาพที่ผลิตจากไข่ไก่ 5 กิโลกรัม กากน้ำตาล 5 กิโลกรัม แป้งข้าวหมาก 1 ก้อน และยาคูลท์ 1 ขวด (https://www.hrdi.or.th/Articles/Detail/11)

  1.              4. สร้างมูลค่าเพิ่มเศษเหลือทิ้ง ปรับความคิดเดิมที่เข้าใจว่ารายได้หลักมาจากการจำหน่ายผลผลิตรับประทานสดอย่างเดียว เพราะปัจจุบันสามารถนำทุกส่วนของต้นพืชมาเปลี่ยนเป็นเงินได้แล้วในรูปแบบ

                       1) เครื่องดื่มแบบผงชงสำเร็จรูป เช่น ชาจากยอด ใบ และดอก
                       2) อาหารแปรรูป เช่น ผักผลไม้อบแห้ง
                       3) ส่วนขยายพันธุ์พืช เช่น กิ่งชำไม้ผล เมล็ดผัก
                       4) ปัจจัยผลิตเกษตร เช่น ปุ๋ยอินทรีย์ น้ำหมัก วัสดุปลูก วัสดุเพาะกล้า วัสดุปรับปรุงดิน บรรจุภัณฑ์จากรากพืช เปลือก ตอซัง เศษพืชเหลือทิ้ง
                       5) ผลิตภัณฑ์ของใช้ ของที่ระลึก ของตกแต่งเก๋ๆ เช่น ดินสอจากกิ่งไม้ ถ่านดูดสารพิษ กระถางต้นไม้ย่อยสลายง่าย เฟอร์นิเจอร์เศษไม้ กระดาษเส้นใย กระเป๋า ของเล่น

          ใครถนัดแนวไหนก็เริ่มเลย ส่วนวิธีทำสามารถเข้าไปเรียนรู้ได้ในช่องทางสื่อออนไลน์ และเว็บไซต์ทั่วไป

  1.            5. สร้างชื่อบนโลกออนไลน์ ขายง่ายกว่าเดิม ไอเดียนี้ต้องรวมกลุ่มกันทำ คนเดียวอาจไปไม่รอด เนื่องจากลูกค้าส่วนใหญ่สนใจสั่งซื้อของจากร้านค้าที่มีสินค้าให้เลือกหลายชนิด ของคุณภาพดีและส่งเร็ว สมาชิกแต่ละคนจึงต้องทำหน้าที่เป็นนักการตลาด นักบัญชี นักคิด นักพูด และพนักงานส่งของ วิธีนี้ไม่ง่าย แต่ก็ไม่ยากจนทำไม่ได้ ตัวอย่างความสำเร็จ เช่น “วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรโครงการฯ ห้วยเป้า อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่” ผ่านช่องทางตลาดออนไลน์ของเพจ Facebook และ Line Official “น้ำ 3 สาย by ห้วยเป้า”
  2.            6. สร้างรายได้จากหลากหลายช่องทางแต่ละกลุ่มลูกค้า แบบค่อยเป็นค่อยไป โดยแบ่งช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิต ได้แก่ (1) ระยะสั้น เช่น ต้นอ่อนผัก 5-7 วัน กล้าต้นผัก 15-30 วัน ผักใบ 30-45 วัน (2) ระยะกลาง เช่น ผักผล กล้าต้นไม้ผล (3) ระยะยาว เช่น ไม้ยืนต้น ไม้กินหน่อ หากสามารถเปรียบเทียบราคาพืชตลอดปีด้วยจะดีมาก สำหรับเอาไปใช้วางแผนการปลูกให้ส่งผลิตผลได้ตรงเวลา และได้ราคารับซื้อผลิตผลที่สูง สิ่งสำคัญอีกประการคือ ต้องควบคุมต้นทุนการผลิต รวมทั้งหาแหล่งจำหน่ายหลักและแหล่งสำรองเพื่อลดความเสี่ยงทางธุรกิจเกษตร ภายใต้สถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
 
เขียน / เรียบเรียงเรื่องโดย:
สุมาลี เม่นสิน และกวีวัฒน์ บุญคาน
source!='') { ?>
แหล่งที่มา / เอกสารอ้างอิง:

ข้อมูลนี้เป็นที่น่าพึงพอใจหรือเป็นประโยชน์สำหรับท่านหรือไม่
 

บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง