ปัจจุบันกระแสเรื่องการดูแลและรักษาสุขภาพร่างกายกำลังเป็นที่นิยมทั้งในคนวัยทำงานและผู้สูงอายุเป็นอย่างมาก ทั้งการออกกำลังกายแบบต่างๆ การนอนหลับพักผ่อน การท่องเที่ยวเพื่อลดความเครียดจากการทำงาน รวมไปถึงการเลือกกินอาหารที่ดีมีประโยชน์และปลอดสารพิษหรือสารเคมีใดๆ ดังนั้นการเกษตรในปัจจุบันจึงต้องตอบสนองกับความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น การเลี้ยงสัตว์ในระบบอินทรีย์เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่ช่วยเกื้อหนุนต่อระบบนิเวศ และช่วยให้ผู้ที่รักสุขภาพมีทางเลือกในการบริโภคผลิตภัณฑ์จากสัตว์ที่มีความปลอดภัย
หลักการจัดการเลี้ยงสัตว์อินทรีย์ ใหญ่ๆ สามารถแบ่งได้ 10 ข้อ ดังนี้
10.ป้องกันการปนเปื้อนสินค้าอินทรีย์ที่ออกสู่ตลาด ทุกขั้นตอนตั้งแต่การผลิตจนถึงผู้บริโภค จะต้องป้องกันการปนเปื้อนกับสินค้าที่ผลิตในระบบปกติ เช่น แยกการผลิตอาหารสัตว์ การวางวัตถุดิบ การผลิต การแปรรูป การขนส่ง และการจัดวางจำหน่าย เป็นต้น
ปี พ.ศ. 2561-2564 สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ร่วมกับมูลนิธิโครงการหลวง ได้ทำการศึกษาและพัฒนาการเลี้ยงไก่ไข่ ไก่เนื้อ และสุกรในระบบอินทรีย์ จากการศึกษาพบว่า การเลี้ยงไก่เนื้อ (ไก่ลูกผสมสามสายพันธุ์) ในระบบอินทรีย์ร่วมกับเกษตรกร พบว่าเกษตรกรมีกำไรจากการเลี้ยงไก่เนื้อที่ระยะเวลา 4 เดือน เฉลี่ยที่ 4,769 บาท
สำหรับการเลี้ยงไก่ไข่ในระบบอินทรีย์เมื่อทดสอบเก็บข้อมูลเป็นเวลา 4 เดือน พบว่าการเลี้ยงไก่ไข่ (สายพันธุ์เล็กฮอร์น) มีผลตอบแทนซึ่งแบ่งเป็นต้นทุนเท่ากับ 17,011.9 บาท ขณะที่รายได้จากการจำหน่าย เท่ากับ 10,425 บาท แต่ทั้งนี้อาจต้องทำการปรับสูตรอาหารให้เหมาะสมกับสายพันธุ์ไก่มากขึ้น รวมถึงการจัดการฟาร์มเลี้ยงเพื่อให้ไก่มีเปอร์เซ็นต์ไข่ที่สูงขึ้น หรือนำสายพันธุ์ไก่ไข่ที่เหมาะสมกับพื้นที่มาเลี้ยง จะทำให้ผลตอบแทนของการเลี้ยงไก่ไข่สูงขึ้นตาม โดยปกติควรคิดต้นทุนผลตอบแทนเป็นวงรอบของแม่ไก่รุ่นนั้นๆ โดยทั่วไปการเลี้ยงไก่ไข่จะเริ่มให้ไข่ที่อายุ 20 สัปดาห์ เลี้ยงจนถึงอายุ 18 เดือน ผลผลิตก็จะลดลง จากนั้นจึงจะจำหน่ายเป็นไก่ปลด อีกทั้งมูลไก่ยังจำหน่ายเป็นรายได้เพิ่มได้อีกด้วย
และการเลี้ยงสุกร (สุกรสายพันธุ์โครงการหลวง) ในระบบอินทรีย์ระยะเวลา 120 วัน พบว่าต้นทุนการเลี้ยงสุกรต่อตัวเมื่อคิดจากค่าสายพันธุ์ในช่วงหย่านมถึงน้ำหนักไม่เกิน 15 กิโลกรัม เท่ากับ 1,500 บาท ต้นทุนค่าอาหารที่ใช้เลี้ยงอยู่ประมาณ 5,300 บาท รายได้จากการจำหน่าย 7,800 บาทจะมีค่าตอบแทนต่อตัวที่ได้เท่ากับ 2,500 บาท
ทั้งนี้เกษตรกรจะใช้เวลาว่างจากการทำการเกษตรอย่างอื่น เช่น การปลูกผัก การปลูกข้าวหรือการรับจ้าง โดยใช้เวลาในการเลี้ยง 2 ช่วงเวลา ได้แก่ ช่วงเช้าและช่วงเย็น ซึ่งการเลี้ยงสัตว์สามารถสร้างอาชีพเสริมให้แก่เกษตรกรได้ โดยกำไรหรือผลตอบแทนขึ้นอยู่กับการให้อาหารที่เหมาะสมกับความต้องการของสัตว์ รวมถึงระบบการจัดการที่ดี อีกทั้งผู้เลี้ยงสัตว์ในระบบอินทรีย์จะต้องมีความเข้าใจและความซื่อสัตย์ในการปฏิบัติตามหลักการของมาตรฐานอินทรีย์ ซึ่งจะช่วยให้ได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าและความปลอดภัยทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค และช่วยยกระดับการผลิตสินค้าเกษตรของประเทศให้สามารถแข่งขันกับต่างประเทศต่อไป