กุหลาบพันธุ์ใหม่....สู่งานส่งเสริมให้เกษตรกรบนพื้นที่สูง

“กุหลาบพันธุ์ใหม่....สู่งานส่งเสริมให้เกษตรกรบนพื้นที่สูง”

 

              กุหลาบ (Rosa sp.) เป็นไม้ตัดดอกที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจเชิงการค้าอันดับหนึ่งของมูลนิธิโครงการหลวงที่สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรบนพื้นที่สูงมาเป็นเวลานาน โดยมีแหล่งผลิตที่สำคัญ ได้แก่ สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ สถานีวิจัยเกษตรหลวงอ่างขาง และศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งเรา โดยมูลนิธิโครงการหลวงได้เริ่มนำเข้าพันธุ์กุหลาบจากประเทศฮอลแลนด์มาทดสอบปลูกครั้งแรกในปี พ.ศ. 2547 มุ่งเน้นเพื่อให้ได้กุหลาบพันธุ์ใหม่ที่มีศักยภาพในเชิงการค้าสำหรับส่งเสริมให้กับเกษตรกรบนพื้นที่สูง และมีพันธุ์กุหลาบตัดดอกที่หลากหลายสามารถให้ผลผลิตส่งจำหน่ายสู่ตลาดมูลนิธิโครงการหลวงได้อย่างต่อเนื่อง และในปี พ.ศ. 2564 มีพื้นที่การผลิตทั้งหมดจำนวน 155.36 ไร่ มีเกษตรกรผู้ปลูกทั้งสิ้น 74 ราย โดยแต่ละปีจึงมีสายพันธุ์ใหม่ๆ ที่ผ่านการทดสอบและเตรียมส่งเสริมสู่เกษตรกรผู้ปลูกไม้ดอกของมูลนิธิโครงการหลวง

              ในปี พ.ศ. 2558-2563 สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. ร่วมกับมูลนิธิโครงการหลวงได้นำเข้ากุหลาบพันธุ์ฮอลแลนด์และปลูกทดสอบผลผลิตและคุณภาพในสภาพแปลงปลูกจริง จากผลการทดสอบสามารถคัดเลือกกุหลาบพันธุ์ใหม่ที่ตลาดต้องการ และเหมาะสมกับพื้นที่ปลูก ปัจจุบันส่งเสริมให้กับเกษตรกรผู้ปลูกไม้ดอกในพื้นที่สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 3 พันธุ์ ได้แก่ พันธุ์ Red Crown, Sweet Dolomiti และ Candy Avalanche ซึ่งในปี พ.ศ. 2564 มีปริมาณการผลิตกุหลาบ 40,480 ดอก  สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรบนพื้นที่สูงซึ่งปลูกนำร่อง จำนวน 3 ราย มูลค่าทั้งสิ้น 593,102.07 บาท (ระบบงานตลาด-คัดบรรจุ มูลนิธิโครงการหลวง, 2564) ซึ่งทั้ง 3 พันธุ์นี้จะมีการส่งเสริมให้แก่เกษตรกรและออกจำหน่ายสู่ตลาดต่อไป

คุณลักษณะและจุดเด่นของกุหลาบพันธุ์ใหม่

  • 1. กุหลาบพันธุ์ Red Crown

 

กุหลาบตัดดอกสีแดง ดอกขนาดใหญ่ ทรงดอก Pointed shape ขนาดดอกตูม 3.5-4.0 ซม.
มีเส้นผ่านศูนย์กลางดอกบาน 9-11 ซม. มีกลีบดอก จำนวน 28-35 กลีบ มีความยาวก้าน 60-90 ซม.
มีหนามค่อนข้างน้อย ให้ผลผลิต 100-110 ดอก/ตรม./ปี รอบการตัด 55-60 วัน อายุปักแจกัน 7-10 วัน

จุดเด่น ดอกมีสีแดงสด ขนาดใหญ่ ทรงดอกสวย มีจำนวนกลีบมาก มีหนามค่อนข้างน้อย ให้ผลผลิตสูง

 

2. กุหลาบพันธุ์ Sweet Dolomiti

 

 

กุหลาบตัดดอกสีชมพูอ่อน ดอกขนาดใหญ่ ทรงดอก Urn-shaped ขนาดดอกตูม 3.5-4.0 ซม.
มีเส้นผ่านศูนย์กลางดอกบาน 10-13 ซม. มีกลีบดอก จำนวน  55-80 กลีบ มีความยาวก้าน 60-90 ซม. มีหนามค่อนข้างน้อย ให้ผลผลิต 140-160 ดอก/ตรม./ปี รอบการตัด 55-60 วัน อายุปักแจกัน 8-9 วัน

จุดเด่น ดอกมีชมพูอ่อนหวาน ขนาดใหญ่ ทรงดอกสวย มีจำนวนกลีบมาก หนามน้อย ให้ผลผลิตสูง

 

3. กุหลาบพันธุ์ Candy Avalanche

 

 

 

กุหลาบตัดดอกสองสี ดอกขนาดใหญ่ ทรงดอก Rounded shape ขนาดดอกตูม 3.5-4.0 ซม.
มีเส้นผ่านศูนย์กลางดอกบาน 9-12 ซม. มีกลีบดอก จำนวน  38-45 กลีบ มีความยาวก้าน 60-90 ซม. มีความถี่หนามค่อนข้างน้อย ให้ผลผลิต 160-180 ดอก/ตรม./ปี รอบการตัด 55-60 วัน อายุปักแจกัน 8-9 วัน

จุดเด่น ดอกมีสองสี สีขาวด้านในสีชมพูขอบด้านนอก ทรงดอกสวย มีจำนวนกลีบมาก ก้านดอกยาว หนามค่อนข้างน้อย

 
เขียน / เรียบเรียงเรื่องโดย:
สิรินทร์รัตน์ ผู้ยอดยิ่ง ดารารัตน์ ทิมทอง วชิระ เกตุเพชร
source!='') { ?>
แหล่งที่มา / เอกสารอ้างอิง:

ระบบงานตลาด-คัดบรรจุ. 2564. แผนผลส่งมอบจากระบบของสารสนเทศโปรแกรม PHS Load.

วชิระ เกตุเพชร และเกียมศักดิ์ คำแปง. 2559. รายงานฉบับสมบูรณ์ โครงการย่อยที่ 2 โครงการศึกษาและทดสอบ

กุหลาบสายพันธุ์ใหม่. โครงการย่อยภายใต้: ชุดโครงการวิจัยเชิงบูรณาการเพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพการผลิตกุหลาบบนพื้นที่สูง. แผนงานวิจัยเพื่อเพิ่มผลผลิตและคุณภาพของผลผลิตเกษตร. สนับสนุนทุนวิจัยโดย สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน). 110 หน้า

วชิระ เกตุเพชร และเกียมศักดิ์ คำแปง. 2560. รายงานฉบับสมบูรณ์ โครงการย่อยที่ 2 การศึกษาและทดสอบพันธุ์กุหลาบที่เหมาะสมกับพื้นที่สูงและตลาดต้องการ. โครงการย่อยภายใต้: ชุดโครงการวิจัยการคัดเลือกพันธุ์และพัฒนาระบบการจัดการการปลูกกุหลาบในโรงเรือน. แผนงานวิจัยเพื่อเพิ่มผลผลิตและคุณภาพของผลิตผลเกษตร. สนับสนุนทุนวิจัยโดย สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน). 157 หน้า

วิชระ เกตุเพชร เกียมศักดิ์ คำแปง ศุภชัย วิหคไพรวัลย์ และยุพยง อินต๊ะก๋อน. 2561. รายงานฉบับสมบูรณ์ โครงการย่อยที่ 2 การทดสอบพันธุ์กุหลาบที่นำเข้าจากต่างประเทศในระดับแปลงเกษตรกร. โครงการย่อยภายใต้: ชุดโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตไม้ดอกที่เหมาะสมและสร้างอาชีพให้แก่ชุมชนบนพื้นที่สูง. แผนงานวิจัยเพื่อเพิ่มผลผลิตและคุณภาพของผลิตผลเกษตร. สนับสนุนทุนวิจัยโดย สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน). 151 หน้า


ข้อมูลนี้เป็นที่น่าพึงพอใจหรือเป็นประโยชน์สำหรับท่านหรือไม่
 

บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง