จากการศึกษาต้นแบบระบบการเกษตรยั่งยืนบนพื้นที่สูงในพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงห้วยเป้า ด้านการปรับเปลี่ยนรูปแบบระบบเกษตรยั่งยืนที่เหมาะสมและสอดคล้องกับบริบทของชุมชน พบว่าในอดีตเกษตรกรในชุมชนมีการทำเกษตรเชิงเดี่ยว คือ การปลูกข้าว ข้าวโพด และปลูกผัก ที่มีการใช้สารเคมีในการป้องกันและกำจัดศัตรูพืชที่เข้มข้นและปริมาณมาก ส่งผลให้ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ ผลผลิตคุณภาพต่ำและปริมาณลดลง และมีผลต่อสุขภาพอนามัยของเกษตรกร จึงทำให้เกิดแนวทางแก้ปัญหาด้วยการปรับระบบเกษตรเชิงเดี่ยวสู่ระบบการปลูกพืชผสมผสาน ระบบเกษตรแบบประณีต และระบบเกษตรปลอดภัย (GAP) โดยปรับเปลี่ยนเป็นการปลูกไม้ผล เช่น มะม่วง และลำไย และมีการส่งเสริมให้ปลูกพืชผักในโรงเรือน เช่น เมล่อน ผักกินใบ และการทำปศุสัตว์เพื่อบริโภคในครัวเรือนและสร้างรายได้ เป็นต้น
รูปแบบการทำการเกษตรที่มีการปรับเปลี่ยนระบบเกษตรในพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงห้วยเป้า (บ้านห้วยเป้า) มีระบบเกษตรที่แตกต่างกัน เนื่องจากความแตกต่างของสภาพพื้นที่คือ มีลักษณะที่พื้นที่ลุ่ม และพื้นที่ดอน สามารถสรุปรูปแบบระบบเกษตรได้ดังนี้
รูปแบบระบบเกษตรที่ 1 (พืชไร่+โรงเรือน+ปศุสัตว์) ระบบการปลูกพืชไร่ในบริเวณพื้นที่ลุ่ม เช่น ข้าว กระเทียม ข้าวโพด ปลูกพืชในโรงเรือน รวมกับการเลี้ยงปศุสัตว์ จะเห็นว่าพื้นที่ทำการเกษตรเป็นพื้นที่ลุ่ม มีการจัดการน้ำตลอดทั้งปี สามารถปลูกพืชได้หลากหลาย มีระบบการปลูกพืชหลังนา และระบบการปลูกพืชหมุนเวียน เกษตรกรมีรายได้เฉลี่ย 161,760 บาท/ปี มากกว่าการปลูกพืชเชิงเดียวร้อยละ 158.86
รูปแบบระบบเกษตรที่ 2 (พืชไร่+ไม้ผล+โรงเรือน) ระบบการปลูกไม้ผล เช่น ลำไย มะม่วง ในพื้นที่ดอน ร่วมกับการปลูกพืชไร่ เช่น ข้าว กระเทียม ข้าวโพด ในพื้นที่ลุ่ม และปลูกพืชในโรงเรือน เช่น เมล่อน ผักกาด ซึ่งเกษตรกรมีการปรับเปลี่ยนระบบการปลูกพืชในพื้นที่ดอน เพื่อรองรับปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงหน้าแล้ง เกษตรกรมีรายได้เฉลี่ย 142,250 บาท/ปี มากกว่าการปลูกพืชเชิงเดียวร้อยละ 127.64
รูปแบบระบบเกษตรที่ 3 (พืชไร่+ไม้ผล+ปศุสัตว์) ระบบการปลูกไม้ผล เช่น ลำไย มะม่วง ในพื้นที่ดอน และปลูกพืชไร่ เช่น ข้าว กระเทียม ข้าวโพด ในพื้นที่ลุ่ม รวมกับการเลี้ยงปศุสัตว์ เป็นเกษตรแบบผสมผสาน เกษตรกรมีรายได้เฉลี่ย 119,576 บาท/ปี มากกว่าการปลูกพืชเชิงเดียวร้อยละ 91.35
รูปแบบระบบเกษตรที่ 4 (ไม้ผล) ระบบการปลูกไม้ผล เช่น ลำไย มะม่วง เป็นการทำการเกษตรในพื้นที่ดอน เกษตรกรทำการเกษตรแบบผสมผสาน มีการปลูกไม้ผลหลากหลายชนิดในพื้นที่เดียวกัน รายได้เฉลี่ย 88,929 บาท/ปี มากกว่าการปลูกพืชเชิงเดียวร้อยละ 42.30
รูปแบบระบบเกษตรที่ 5 (ไม้ผล+ปศุสัตว์) ระบบการปลูกไม้ผล เช่น ลำไย มะม่วง ในพื้นที่ดอน ร่วมกับการเลี้ยงปศุสัตว์ เกษตรกรมีรายได้เฉลี่ย 60,648 บาท/ปี
รูปแบบระบบเกษตรที่ 6 ระบบการปลูก (พืชไร่) เช่น ข้าว กระเทียม ข้าวโพด ในพื้นที่ลุ่ม คิดเป็นร้อยละ 14.0 รายได้เฉลี่ย 51,158 บาท/ปี
เกษตรกรส่วนใหญ่นิยมทำเกษตรที่หลากหลายด้วยการปลูกพืชหมุนเวียน ทำเกษตรผสมผสาน ทำเกษตรแบบประณีตภายใต้ระบบเกษตรปลอดภัย (GAP) และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อการพัฒนาอาชีพและสร้างรายได้ และยังเป็นการการอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมบนพื้นที่สูงได้อย่างยั่งยืนตามหลักการพัฒนา SDGs อีกด้วย
นอกจากนี้ยังพบว่าเกษตรกรมีการจัดการน้ำให้เกิดความคุ้มค่ามากที่สุด โดยมีการปรับเปลี่ยนระบบการให้น้ำมาใช้เป็นระบบน้ำหยด ติดตั้งท่อน้ำเพื่อกระจายน้ำ และสำรองน้ำด้วยการทำแหล่งกักเก็บน้ำ โดยการขุดบ่อเก็บน้ำ หรือแท็งค์น้ำไว้ใช้ในพื้นที่แปลงเกษตร มีการปรับเปลี่ยนการปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย หรือการปรับเปลี่ยนการปลูกพืชตามฤดูกาล การปลูกพืชยืนต้น ปลูกพืชตระกูลถั่วและพืชคลุมดิน รวมถึงใช้วัสดุคลุมดินเพื่อลดการระเหยของน้ำ เช่น ฟางข้าวและพลาสติก อีกทั้งยังส่งเสริมให้มีการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ จัดทำระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มสูงขึ้น และมีน้ำใช้อย่างเพียงพอและยั่งยืน